xs
xsm
sm
md
lg

ช่วยชีวิต Venice: เมืองราชินีแห่งทะเล Adriatic

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

จตุรัสเซ็นต์มาร์ก ถูกน้ำท่วม
นักประวัติศาสตร์โรมันได้บันทึกว่า Venice ถือกำเนิดในราว พ.ศ. 964 เมื่อผู้คนได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใน Venice ซึ่งประกอบด้วยเกาะเล็กๆ 118 เกาะ และคลอง 160 สาย ที่มีความยาวทั้งสิ้น 45 กิโลเมตร การตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งที่เส้นละติจูด 45 องศา 27 ลิปดาเหนือ และลองจิจูด 22 องศา 20 ลิปดาตะวันออก ตัดกันบนฝั่งทะเล Adriatic ทำให้ Venice อบอุ่นในฤดูร้อน และไม่หนาวจนน้ำในคลองจับแข็งในฤดูหนาว คลองที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของเมืองคือ Grand Canal ซึ่งมีความยาว 4 กิโลเมตร และคดเคี้ยวผ่านเกาะเล็กเกาะน้อย โดยสองฟากฝั่งของคลองมีอาคารและตึกที่สร้างในสไตล์ Rococo, Romanesque, Renaissance, Baroque และ Gothic มากมาย คลองมีระดับน้ำลึกที่สุด 4 เมตร ตื้นที่สุด 2 เมตร และกว้างที่สุด 69.5 เมตร Venice มีสะพานประมาณ 500 สะพาน ซึ่งนับว่ามากเพียงพอให้ชาวเมืองใช้เดินติดต่อกันได้ทั้งเมือง Venice ไม่มีถนนสายใหญ่ มีเพียงทางเดินแคบๆ และมีจัตุรัสบ้าง ผู้คนจึงใช้จักรยานในการสัญจร พาหนะสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของ Venice คือ เรือกอนโดลาและเรือยนต์ Venice ติดต่อกับผืนแผ่นดินใหญ่ได้โดยทางรถไฟที่สถานี Mestre

สถานที่สำคัญของเมืองได้แก่ จัตุรัส San Marco, มหาวิหาร St. Mark, หอนาฬิกา (Campanile), พระราชวังอายุประมาณ 600 ปีของ Doge (ผู้ครองนคร) ในวังมีภาพวาดขนาดใหญ่ประดับผนังมากมาย นอกจากนี้ Venice ยังมีโบสถ์ Santa Maria della Salute, พิพิธภัณฑ์ Academy of Fine Arts, สะพาน Rialto ซึ่งบนสะพานมีร้านค้า และมีอาคาร Ca’ d’Oro ที่โดดเด่นในสไตล์ Gothic เป็นต้น

ความสวยงามและความหรูหราของชีวิตคนในเมืองนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้จิตรกรหลายคนสร้างสรรค์ผลงานอมตะมากมาย เช่น Tiepolo, Canaletto, Capriccio, Giotto, Tintoretto, Bellini, Veronese และ Titian ซึ่งเป็นคนที่จักรพรรดิ Charles ที่ 5 ทรงโปรดปรานมากถึงขนาดไม่ให้จิตรกรคนอื่นวาดพระสาธิตลักษณ์ของพระองค์นอกจาก Titian คนเดียว
รูปปั้นเจ้าชายสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 4 หน้าจตุรัส San Marco แสดงอาการกังวลที่ระดับน้ำสูงขึ้น
นักประพันธ์หลายคนก็ตกหลุมรัก Venice เช่น Lord Byron ได้เคยเรียก Venice ว่าเป็น fairest city of the heart และเมื่อครั้งที่ Byron เยือน Venice ท่านลอร์ดได้เคยว่ายน้ำใน Grand Canal กลับที่พักในยามดึก หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมคู่รัก ซึ่งเมื่อถูกสลัดรักก็ได้กระโดดน้ำตายที่ Grand Canal นั่นเอง ส่วน Mark Twain ผู้ประพันธ์เรื่อง The Adventures of Tom Sawyer ได้เคยเปรียบเรือกอนโดลาที่ถูกทาสีดำทั้งลำเรือ (ตามที่กฎหมาย พ.ศ. 2105 ได้ระบุไว้) ว่ายามล่องในลำคลองดูเสมือนงูสีดำเลื้อยไปบนผิวน้ำ Thomas Mann ได้เรียบเรียงบทประพันธ์เรื่อง Death in Venice หลังจากที่ได้เยือนเมืองนี้ ทั้ง Henry James, Truman Capote และ Ernest Hemingway ต่างได้กล่าวถึง Venice ว่าเป็นเสมือนผู้หญิงที่ใครๆ ก็ถวิลถึง จิตรกร Claude Monet และ Joseph Turner ก็ได้วาดภาพอมตะไว้หลายภาพ วิถีชีวิตใน Venice ที่แปลกและฟู่ฟ่านี้ ได้ทำให้กษัตริย์ Henry ที่ 3 แห่งฝรั่งเศสได้เคยตรัสใน พ.ศ. 2117 ว่า ถ้าพระองค์ไม่เป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงประสงค์จะเป็นชาว Venice แต่สำหรับจักรพรรดิ Napoleon เมื่อพระองค์ทรงยึด Venice ได้ใน พ.ศ. 2340 พระองค์ทรงคิดว่า Venice ไม่ใช่เมืองธรรมดา เพราะมีแต่คลอง พระองค์จึงมีพระราชดำริให้สร้างถนนแทน แต่ไม่ทันได้ดำเนินการ โครงการสร้างถนนก็ต้องล้มเลิกไป เพราะ Venice ได้ตกไปอยู่ในความปกครองของออสเตรีย

ณ วันนี้ Venice ซึ่งในอดีตมีคลองเป็นคูเมืองสำหรับป้องกันข้าศึกไม่ให้ยกทัพเรือมาบุกรุก(เพราะคลองใน Venice ตื้นจนเรือเข้าไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ลึกเกินที่กองทัพจะเดินทัพเข้ายึดเมืองได้) กำลังประสบภัยจากน้ำท่วมเนืองๆ และมากจนชาว Venice ที่คิดว่าทะเลได้เคยปกป้องเมือง มาบัดนี้ทะเลกำลังรุกรานแทน จน Venice ประสบเหตุ “acqua alta” (น้ำมาก) ท่วมเมืองบ่อยจนเกาะหลายเกาะถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะที่จัตุรัส St. Mark เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุด

สถิติน้ำท่วมที่โครงการ CORILA (The Consortium for Coordinate Research Activities Concerning the Venice Lagoon Systems) ได้รวบรวมไว้ระบุว่า ในช่วงปี 2466-2475 จัตุรัส St. Mark ถูกน้ำท่วมปีละ 4 ครั้ง และจำนวนครั้งที่น้ำท่วมได้เพิ่มขึ้นทุกปี จนถึงช่วงปี 2536-2545 จำนวนครั้งได้เพิ่มถึงปีละ 53 ครั้ง และถ้าแนวโน้มเป็นเช่นนี้อีก 90 ปี Venice จะจมน้ำทั้งปี

วิศวกรพบว่าปัญหาน้ำท่วมเกิดจากการที่พื้นดินในเมือง Venice ทรุดลงๆ เพราะชาวเมืองขุดบ่อบาดาลจำนวนมากตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ดินทรุดลงประมาณ 10 เซนติเมตรต่อปี เมื่อ 20 ปีก่อน เทศบาลนคร Venice จึงได้ออกกฎหมายห้ามขุดบ่อบาดาลอย่างเด็ดขาด ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่หมด นักธรณีวิทยายังได้พบอีกว่าเปลือกทวีปส่วนที่เมือง Venice ตั้งอยู่ได้ทรุดลงปีละ 0.5-1 มิลลิเมตร นักสมุทรศาสตร์เองก็ได้พบว่า ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นๆ สาเหตุจากภาวะโลกร้อนประมาณปีละ 2.3 มิลลิเมตร ± 0.7 มิลลิเมตร (เพราะความไม่แน่นอนของการวัด) เหตุการณ์นี้ทำให้ Roberto Frassetto เสนอให้รัฐบาลอิตาลีสร้างเขื่อนและประตูกั้นน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาไหลท่วมเมือง เพราะในสถานที่อื่นๆ ของโลกก็มีการสร้างเขื่อนและประตูกั้นน้ำทะเลเช่นกัน อาทิ ลอนดอน เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สำหรับเขื่อน Maeslant ในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น ใครๆ ก็รู้ดีว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ข้อเสนอของ Frassetto เกี่ยวกับการสร้างเขื่อน กว่าจะได้เริ่มดำเนินการก็ล่วงเข้าปี 2546 และเขื่อนกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2556
เรือกอนโดลาใน Grand  Cannal
วิศวกรที่สร้างเขื่อนเรียกประตูเขื่อนว่า MOSE (Moses คือผู้แหวกน้ำทะเลตามคัมภีร์ไบเบิล) จากชื่อเต็มว่า Modulo Sperimentale Elettromeccanico ซึ่งมีมูลค่า 1,200 ล้านล้านบาทMOSE ประกอบด้วยประตูระบายน้ำ 79 บาน โดยภายในบานประตูกลวง และขอบด้านหนึ่งของประตูถูกสร้างให้ติดก้นทะเล เวลาไม่ใช้ ภายในบานประตูจะมีน้ำอยู่เต็ม แต่เวลาน้ำหนุน อากาศจะถูกสูบเข้าในส่วนกลวงของบานประตูเพื่ออัดให้น้ำในบานประตูไหลออก แล้วบานประตูจะตั้งตรงในแนวดิ่งเป็นกำแพงกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลเข้าเมือง เทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการนี้ต้องอาศัยวิทยาการหลายด้าน เช่น hydrodynamics, sediment, morphology, ecology, environment และ climate change

ทั้งๆ ที่งบประมาณของโครงการนี้มากมหาศาล แต่ชาว Venice เองก็ยังถกเถียงกันไม่ยุติว่าโครงการนี้คุ้มค่าหรือไม่ และเขื่อนจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะไม่มีใครสามารถคาดการณ์ล่วงหน้านานๆ ได้ ว่าอีก 50 ปีธรรมชาติของโลกจะเป็นเช่นไร นอกจากนี้ถ้าเขื่อนทำงานได้จริง งบประมาณในการดำเนินการของเขื่อนก็สูงมากคือถึงปีละ 360 ล้านบาท แต่เสียงต่อต้านที่รุนแรงและดังมากที่สุดมาจากองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลว่าชาว Venice มักทิ้งขยะลงน้ำ โดยหวังให้น้ำทะเลไหลพาขยะออกสู่ทะเล Adriatic วันละ 2 ครั้ง เพื่อขยะจะไม่ตกค้างเป็นอาหารของสาหร่ายในลำคลอง ดังนั้นการมีเขื่อนที่ปิดบ้างและเปิดบ้าง ซึ่งทำให้สมดุลการระบายขยะเสียไป จะมีผลทำให้สาหร่ายในลำคลองเจริญเติบโตจนเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรไปมา

ด้วยเหตุนี้ องค์กรสิ่งแวดล้อมจึงกำหนดให้มีการปิด-เปิดประตูเขื่อน โดยไม่รบกวนจังหวะการไหลถ่ายเทน้ำทะเลกับน้ำคลอง ซึ่งสามารถทำได้โดยให้ประตูเขื่อนปิดในช่วงเวลาสั้นๆ ในฤดูหนาว อันเป็นเวลาที่อุณหภูมิของน้ำต่ำและแสงอาทิตย์มีน้อยจนสาหร่ายไม่สามารถเจริญเติบโตได้เร็ว แม้คนหลายกลุ่มจะมีความเห็นที่แตกต่างและมีข้อกังขา แต่ทุกคนก็เห็นพ้องว่าเขื่อนมิได้เป็นวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วม Venice เพียงวิธีเดียว
การจราจรคนในเวนิสยามน้ำท่วม
ในขณะที่เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จ ชาวเมือง Venice จึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตนเองไปก่อน เช่นเวลาน้ำทะเลหนุน อาคารใหญ่ๆ ก็เลิกใช้ห้องน้ำชั้นล่าง คอยซ่อมแซมกำแพงบ้านที่สึกกร่อนเนื่องจากถูกคลื่นจากเรือยนต์ซัด เวลาพายุ Sirocco จากทะเล Adriatic พัดเข้า Venice ด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปีละ 10 วันทำให้ฝนตกหนัก น้ำทะเลขึ้นสูง 1-2 เมตร ชาวเมืองจึงต้องเงี่ยหูฟังพยากรณ์อากาศเพื่อจะได้เตรียมป้องกันทัน ในอีก 6 ชั่วโมงต่อมา เพราะเวลาน้ำท่วม นักท่องเที่ยวจะเลื่อนหรืองดการมาเยือนซึ่งจะทำให้รายได้ของชาวเมืองตกต่ำ

แต่ถ้าประตูเขื่อนสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ดี ชาว Venice ก็อยากจะอยู่ในเมืองเพราะสถิติระบุว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ประชากร Venice มีมากถึง 120,000 คน แต่บัดนี้เหลือเพียง 60,000 คน ชาว Venice เองก็หวังจะให้มีคนมาอาศัยอยู่มากๆ เพื่อให้มาลงทุนทำธุรกิจ แทนที่จะมาเที่ยวเฉยๆ และมาช่วยกันทำให้ Venice คงสภาพในเมืองมรดกโลก

เหล่านี้คือความหวัง แต่จะสำเร็จเหมือนฝันที่เป็นจริงหรือเป็น “ฝันเปียก” อนาคตเท่านั้นที่จะตอบได้

คุณสามารถหาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการช่วยชีวิต Venice ได้จาก The Science of Saving Venice โดย Caroline Fletcher และ Jane Da Mosto จัดพิมพ์โดย Umberto Allemande หนา 92 หน้า ราคา 14.50 ดอลลาร์ หรือจากหนังสือ Venice, Fragile City: 1797-1997 โดย Margaret Plant จัดพิมพ์โดย Yale University Press หน้า 448 หน้า ราคา 55 ดอลลาร์

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
กำลังโหลดความคิดเห็น