หลังจากที่ประสบความสำเร็จด้านประติมากรรมแล้ว Bernini ก็ได้หันมาสนใจงานด้านสถาปัตยกรรมบ้าง และได้ออกแบบแท่นบูชาที่โบสถ์ Santa Bibiana ในโรมจนทุกคนประทับใจ จากนั้น Bernini ก็ตั้งใจจะเลิกทำงานถวายคาร์ดินัล Scipione Borghese ประจวบกับขณะนั้นสันตะปาปา Paul V สิ้นพระชนม์ และคาร์ดินัล Maffeo Barberini ได้รับเลือกเป็นสันตะปาปาองค์ใหม่ทรงพระนามว่า Urban ที่ 8
เพราะพระองค์ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด พระองค์จึงทรงแต่งตั้ง Bernini เป็นหัวหน้าศิลปินแห่งกรุง Vatican และโรม ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานศิลป์ทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะงานแกะสลักและปั้นเท่านั้น แต่รวมถึงงานสร้างอนุสาวรีย์ โบสถ์และน้ำพุต่างๆ ในโรมด้วย
เพื่อให้โรมเป็นมหานครที่มีชีวิตชีวา Bernini วัย 31 ปี จึงออกแบบสร้าง baldacchino ซึ่งเป็นแท่นบูชาขนาดใหญ่ในมหาวิหาร St. Peter’s โดยเอาแผ่นทองสัมฤทธิ์ที่ใช้ประดับโดมของ Pathenon มาหลอมให้เป็นเสาเกลียวที่สูงเท่าตึก 4 ชั้น ปักที่มุมของหลุมฝังศพของนักบุญ St. Peter และมีเทพธิดาประทับยืนที่หัวเสาทั้ง 4 ผลงานนี้เป็นอนุสาวรีย์สไตล์ baroque ชิ้นแรก
จากนั้น Bernini ก็ได้ออกแบบและสร้างแท่นเก็บพระศพของสันตะปาปา Urban ที่ 8 โดยมีรูปขององค์สันตะปาปาประทับเหนือแท่น และยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้น เหมือนกำลังประทานพรแก่ผู้มาเคารพ นอกจากนี้ก็ได้สร้าง Tomb pf Matilda of Tuscany, Chapel of the Holy Sacrament, Tomb of Alexander ที่ 7, Scala Regia ฯลฯ โดยอาศัยแนวคิดว่างานสถาปัตยกรรมควรมีชีวิตชีวาคล้ายงานประติมากรรม และต้องกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม อนึ่งสิ่งประดับที่นำมาตกแต่งก็จะต้องเข้ากันได้ดีและงานทุกชิ้นควรสื่อสารให้คนดูรู้จุดประสงค์ของสิ่งนั้นๆ ด้วย
นอกจากนี้ Bernini จึงได้สร้างแท่นบูชาใน Pio Chapel ที่ Sant’ Agostino, Fonseca Chapel ที่ Montorio อีกทั้งยังสร้างเสาทรงกระบอกที่โอบล้อมมหาวิหาร St. Peter’s ให้ดูเสมือนอุ้งมือที่โอบล้อมผู้มาเยือนมหาวิหารที่โด่งดังด้วยเสาเหล่านี้ ซึ่งยิ่งใหญ่พอ ๆ กับโดมที่ Michelangelo ออกแบบและอยู่เบื้องหลัง
สำหรับในส่วนของงานอนุสาวรีย์ Bernini ก็ได้ออกแบบและสร้าง Triton Fountain ที่ Piazza Baberini ซึ่งเป็นรูปปลาโลมา 4 ตัว กำลังยกเปลือกหอยที่มีเทพ Triton ประทับอยู่ข้างบน และองค์เทพกำลังพ่นน้ำพุออกมาจากเปลือกหอยสังข์
และในส่วนที่เป็นผลงานด้านจิตรกรรมนั้น Domenico ผู้เป็นบุตรเอง Bernini ได้เคยเอ่ยว่า บิดาได้ทิ้งภาพวาดไว้หลายภาพ เพราะชอบวาดภาพมาก แต่ ณ วันนี้ โลกมีหลักฐานความสามารถของ Bernini ด้านนี้น้อยกว่า 15 ภาพ เช่น ภาพ Savior ที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชื่อ Baldinucci ได้พบว่า Bernini วัย 80 ปี ได้ถวายแด่สันตะปาปา Innocent ที่ 11 แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครพบภาพนี้เลยและผู้เชี่ยวชาญก็กำลังค้นหาภาพที่ Bernini วาดอยู่
Bernini ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2222 (รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ที่โรมขณะอายุ 81 ปี และศพถูกนำไปฝังที่โบสถ์ Santa Maria Maggiore ถึงขณะมีชีวิต Bernini ได้สร้างประติมากรรมที่มีขนาดใหญ่มากมาย แต่หลุมฝังศพของเขามีเพียงแผ่นอิฐขนาดเล็กติดชื่อเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ตั้งใจก็จะไม่มีใครสังเกตเห็น
เมื่อ Bernini ตาย เขาได้ทิ้งมรดกไว้ 400,000 scudi ซึ่งสมเด็จพระราชินี Christina แห่งสวีเดนทรงตรัสว่า “น้อยนิด” หากนำไปเปรียบเทียบกับผลงานต่างๆ ที่ Bernini ได้ทิ้งไว้เป็นมรดกให้คนทั้งโลกได้ชื่นชม รัก และยกย่อง และหลังจากที่ Bernini จากไป 2 ปี สมเด็จพระราชินี Christina ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่โรมก็ทรงโปรดให้ Filippo Baldinucci เขียนประวัติของ Bernini ซึ่งหนังสือนี้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ The Life of Bernini ในปี 2539
ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ถึง วันที่ 26 ตุลาคม ศกนี้ พิพิธภัณฑ์ J. Paul Getty Museum ในนคร Los Angeles สหรัฐอเมริกากำลังจัดงานแสดงชื่อ “Bernini and the Birth of Baroque Portrait Sculture” ในงานมีรูปปั้นเหมือนมากมาย เช่น รูปปั้นของ Constanza Bonarelli ผู้เป็นชู้ของ Bernini ในช่วงปี 2179-2181 กับรูปปั้นของ Francesco I d’Este ที่มีผมเป็นลอนสวยและสวมเสื้อคลุม สำหรับผลงานนี้ท่านดยุคได้จ่ายเงิน 3,000 scudi ให้ Bernini ซึ่งเท่ากับเงินที่ Bernini ได้รับจากการสร้าง Fountain of the Four Rivers เพราะรูปปั้นเหมือนตัวจริงจนท่าน Duke of Modena รู้สึกพอใจมาก
นอกจากนี้ก็มีรูปปั้นอื่นๆ อีกร่วม 30 รูป และงานนี้ยังมีภาพวาด 14 ภาพ ด้วย ซึ่งเป็นภาพของสันตะปาปา Urban ที่ 8 , สันตะปาปา Alexander ที่ 7 และภาพวาดของ Charles ที่ 1 จำนวน 3 ภาพ ที่ Van Dyck วาดในมุมต่างๆ แล้ว Bernini นำภาพทั้ง 3 นั้นมาสังเคราะห์เพื่อปั้นเป็นรูปปั้นสามมิติ โดยกษัตริย์ Charles ที่ 1 ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ลอนดอนไม่จำเป็นต้องเสด็จมาเป็นแบบด้วยพระองค์เอง และสุดท้ายก็มีภาพเหมือนของ Bernini เอง ซึ่งวาดในวัยหนุ่มขณะมีผมดำ และตาเศร้าครับ
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.