นักวิชาการสภาอาหารอังกฤษ ระบุถึงเวลาปฏิรูปโครงสร้างอาหาร หลังล้มเหลวมากว่า 60 ปี บนแนวคิดยุคหลังสงคราม ตั้งเป้าผลิตอาหารต้นทุนถูก แต่อาหารที่ผลิตได้ไม่สัมพันธ์กับการบริโภค ทั้งยังนำเข้าสูภาวะยุ่งเหยิง ต้องปรับสู่การผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ พลังงาน ปริมาณน้ำ และความเป็นเมืองใหญ่
ตามรายงานของบีบีซีนิวส์ ศ.ทิม แลง (Prof.Tim Lang) สมาชิกสภาอาหาร (Food Council) หน่วยงานตั้งใหม่ของสหราชอาณาจักร ได้ออกมาเผยว่าโครงการสร้างการผลิตในปัจจุบันนั้น ตั้งอยู่บนแนวคิดช่วงปี ค.ศ. 1940 หลังยุติภาวะสงครามใหม่ๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์การอาหารและผู้กำหนดนโยบายเชื่อว่า การเพิ่มการผลิตจะช่วยลดต้นทุนของอาหารและยกระดับการกินและสุขภาพของผู้คนได้
"หากแต่ในช่วง ค.ศ.1970 เริ่มปรากฏหลักฐานว่า สุขภาพสาธารณะไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ และผลที่ตามมาอีกคือเราต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อม" ศ.แลงกล่าว และระบุด้วยว่าโครงสร้างการผลิตอาหารที่เรายึดถือมานั้นเป็น "โครงสร้างที่ล้มเหลว" ซึ่งตามาด้วยต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่แพงมหาศาล ตัวอย่างเช่นพายุฝุ่นถล่มสหรัฐฯ การพังครืนของอุตสาหกรรมผลิตอาหารในยุโรป และภาวะอดอยากในเอเชีย เป็นต้น และยังมีหลักฐานที่ชัดเจนถึงความไม่สัมพันธ์ระหว่างการผลิตอาหารและความต้องการบริโภค
"ผ่านมา 30 ปี ตอนนี้โลกเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนขึ้น อัตราการเติบโตของการผลิตอาหารต่อประชากรกำลังลดลง หรืออาจจะหยุดเลยด้วย และเราก็ยังมีปัญหาใหญ่เรื่องจำนวนประชากรมนุษย์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว" ศ.แลงกล่าว
พร้อมกันนี้เขาได้เสอนแนวคิดเกี่ยวกับ "โครงสร้างใหม่" ซึ่งเขาเสนอขึ้นเมื่อได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการการเพาะปลูกอินทรีย์ (Garden Organic) ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะกำหนดการผลิตอาหารในอนาคต โดยสิ่งที่ต้องคำนึง ได้แก่
- น้ำมันและพลังงาน (Oil and energy) : เราอยู่มีเศรษฐกิจอาหารที่ตั้งอยู่บนฐานการผลิตซึ่งอาศัยน้ำมันทั้งหมด และตอนนี้น้ำมันก็กำลังจะหมดไป ซึ่งผลกระทบจากการเกษตรดังกล่าวคือ ความไม่แน่นอนในตลาดซื้อ-ขายอาหาร
- การขาดแคลนน้ำ (Water scarcity) : เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เขาพยายามผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษเริ่มวัดประสิทธิภาพการใช้น้ำผลิตอาหาร และเขาได้เสริมด้วยว่ากว่า 50% ของพืชผักที่สหราชอาณาจักรเข้านั้นมาจากประเทศที่ขาดแคลนน้ำ
- ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) : ไม่เพียงแค่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น ศ.แลงเสริมว่า ยังต้องปรับเปลี่ยนและปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งต้องใช้วิธีที่หลากหลายในการปลูกพืชอาหารและการใช้พื้นที่เพาะปลูก
- ความเป็นเมืองใหญ่ (Urbanisation) : ศ.แลงตั้งข้อสังเกตว่าผู้คนอาหารอยู่ในเมืองใหญ่มากกว่าชนบท และตั้งคำถามว่าคนเหล่านั้นนำอาหารจากที่ไหน?
ศ.แลงกล่าวว่า เพื่อจะเลี้ยงประชากรกว่า 9 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2050 ผู้กำหนดนโยบายและนักวิทยาศาสตร์ต้องเผชิญกับความท้าทายว่า ระบบโครงสร้างอาหารจะไปได้ยั่งยืนอย่างไรบนความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกใบนี้ แทนที่จะมุ่งโจมและปล้นระดมทรัพยากรจากโลก.