xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยอีรีระบุยิ่งพ่นยาศัตรูพืชยิ่งระบาดหนัก อยู่เฉยๆ ให้ธรรมชาติจัดการเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร. เค แอล ฮีออง (K.L. Heong) นักกีฏวิทยาของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรืออีรี (IRRI) ศึกษามานานกว่า 10 ปี พบว่าการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากเกินไปในนาข้าว ไม่ช่วยแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาด แต่จะทำให้ระบาดหนักกว่าเดิมเพราะแมลงที่เป็นประโยชน์ลดน้อยลง
นักกีฏวิทยาจากอีรีแนะ ชาวนาอย่าใช้ปุ๋ยไนโตรเจน-ยาฆ่าแมลงมากเกิน เพราะหากข้าวงอกงามเกินไป จะดึงดูดให้แมลงศัตรูเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องยิ่งฉีดสารเคมี อีกทั้งแมลงศัตรูตามธรรมชาติถูกกำจัดไปด้วย ระบุหนอนห่อใบข้าวไม่กระทบผลผลิต แต่นักวิจัยไทยแย้ง นาข้าวในไทยไม่เหมือนในฟิลิปปินส์-เวียดนาม หนอนห่อใบทำลายต้นข้าวในนาได้ไม่น้อย

มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาพิเศษเรื่อง “ไบโอไดเวอร์ซิตี, อีโคซิสเต็ม เซอร์วิส แอนด์ เพสท์ แมเนจเมนท์" (Biodiversity, ecosystem services and pest management) โดยมี ดร. เค แอล ฮีออง (K.L. Heong) ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงและความหลากหลายทางชีวภาพ จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรืออีรี (International Rice Research Institute: IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นผู้บรรยายพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค.51 ที่ผ่านมา ณ อาคารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ดร.ฮีออง กล่าวถึงการศึกษาวิจัยผลกระทบของการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในนาข้าว โดยเฉพาะในประเทศจีน และเวียดนาม ที่มีการใช้สารดังกล่าวสูงมาก สารเคมีเหล่านี้จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ หากไม่มีระบบการจัดการที่ดีเสียแต่วันนี้ ก็จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต

"ปุ๋ยไนโตรเจนช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้ก็จริงอยู่ แต่การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวมากเกินไป นอกจากเป็นการเพิ่มสารเคมีแล้ว ยังมีส่วนทำให้แมลงศัตรูเพิ่มขึ้นด้วย เพราะปุ๋ยไนโตรเจนทำให้ข้าวงอกงามดี มีใบมาก ก็ทำให้แมลงเพิ่มมากขึ้น เพราะมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ พอชาวนาเห็นแมลงระบาด ก็ฉีดสารเคมีเพื่อจะกำจัดแมลงเหล่านั้น แต่แมลงที่มีประโยชน์หรือแมลงที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชก็พลอยได้รับผลไปด้วย" ศ.ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.) ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ด้วย สรุปสาระสำคัญให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟัง

ศ.ดร.สุทัศน์ อธิบายต่อว่า เมื่อแมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชล้มหายตายจากและลดจำนวนลงเพราะยาฆ่าแมลง ก็ยิ่งส่งผลให้แมลงศัตรูพืชในนาข้าวระบาดหนักมากกว่าเก่า เพราะศัตรูเหลือน้อยลง ชาวนาก็ยิ่งฉีดยาฆ่าแมลงกันเข้าไปอีก ซึ่งมันไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นเลย มีแต่จะเพิ่มสารเคมีให้กับสิ่งแวดล้อม

จากการศึกษาวิจัยการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำกัดศัตรูพืชในแปลงปลูกข้าวที่ศูนย์วิจัยอีรีมานานกว่า 10 ปี ดร.ฮีออง บอกว่า ในธรรมชาติจะมีกลไกการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยแมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาติอยู่แล้ว หากไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีมากเกินไป ก็จะไม่ต้องพบกับปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาดในนาข้าวมากนัก ดังนั้นเมื่อเจอแมลงศัตรูพืชในนาข้าวก็ควรอยู่เฉย ไม่ต้องฉีดยากำจัด ปล่อยให้แมลงศัตรูธรรมชาติเป็นตัวกำจัดเอง แต่หากจะใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงก็ควรจะใช้อย่างพอเหมาะพอควร

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือในนาข้าวมักจะมีหนอนห่อใบข้าว (Rice leaffolder) เข้ามาอาศัยอยู่และมากัดกินใบข้าว เมื่อชาวนาพบเห็นเข้า ก็มักเข้าใจว่าเป็นแมลงศัตรูที่จะมาทำลายข้าว ก็ระดมฉีดยาฆ่าแมลง ซึ่งก็ไปมีผลกับแมลงที่เป็นประโยชน์ในนาข้าว เช่น จิ้งหรีด เป็นต้น

"หนอนห่อใบข้าวเป็นพวกหนอนผีเสื้อ ซึ่งพวกนี้ไม่ใช่แมลงศัตรูสำคัญของข้าว เพราะแค่มาอาศัยกัดกินใบข้าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พอโตเป็นผีเสื้อก็ย้ายไป ไม่ใช่แมลงที่มีอยู่ประจำในนาข้าว และไม่มีผลต่อผลผลิตของข้าวเลย ไม่จำเป็นต้องฉีดยาฆ่าแมลงด้วย แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ว่าแมลงชนิดไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร เมื่อเห็นหนอนแมลงก็จะคิดอย่างเดียวว่าต้องฉีดยา ซึ่งไม่เป็นผลดี และไม่ใช่ว่าฉีดแล้วหมดไปเลย แต่เดี๋ยวก็จะมีมาเพิ่มอีกจากที่อื่นๆ" ศ.ดร.สุทัศน์ อธิบายใจความจากการบรรยายของดร.ฮีออง

ดร.ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยฯ บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จากการทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยอีรีมานานกว่า 30 ปี ดร.ฮีออง ก็ได้นำผลงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการแปลงปลูกข้าวไปเผยแพร่แก่เกษตรกรในฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ช่วยให้เกษตรกรปลูกข้าวได้ผลผลิตดีและลดใช้สารเคมีลงได้ ส่งผลให้ ดร.ฮีออง ได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ หลายรางวัล เช่น รางวัลโกลเดน ไรซ์ อวอร์ด (Golden Rice Award) ของเวียดนาม 2 ปีซ้อน

อย่างไรก็ดี นายสมศักดิ์ ทองดีแท้ ผอ.ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การปลูกข้าวในเวียดนามและฟิลิปปินส์ไม่เหมือนกับประเทศไทย หนอนห่อใบข้าวอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของเขา แต่ในบ้านเราก็นับว่าสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรไม่น้อยเหมือนกัน หากระบาดมากก็อาจทำให้ผลผลิตข้าวลดลงได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าระบาดในช่วงไหน

"หนอนห่อใบข้าวจะมาอาศัยบนใบข้าวและม้วนใบเข้าหากันเพื่อกัดกินเนื้อเยื่อใบ จะฉีดยากำจัดก็ทำได้ยาก เพราะมีใบห่อหุ้ม และหากใบข้าวเสียหายมาก ก็จะทำให้ข้าวสังเคราะห์แสงได้น้อยลง ยิ่งหากเป็นช่วงที่ข้าวยังไม่แตกกอ จะทำให้ต้นข้าวล้มได้ แต่หากข้าวออกรวงแล้วจะไม่เสียหายมากเท่าไหร่ และแม้ว่าหนอนห่อใบข้าวจะระบาดอยู่แค่ในพื้นที่ล่ม แต่ว่าเกษตรอาจดูแลไม่ทั่วถึง ก็จะทำให้ต้นข้าวบริเวณดังกล่าวเสียหายได้ ขณะที่ในเวียดนาม และฟิลิปปินส์เขามีการจัดการที่ทั่วถึงมากกว่าไทย" ผอ.ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท กล่าวเปรียบเทียบ

เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยฯ บอกอีกว่า ดร.ฮีออง เน้นว่าพวกเราจะต้องคิดถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลในระยะยาว ทุกคนควรจะช่วยกันปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ดีไปจนถึงลูกหลาน ให้มองผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน ไม่ใช่นึกถึงแต่ผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ให้รักษาสมดุลในธรรมชาติด้วย

ทั้งนี้ ดร.ขวัญใจ แสดงความเห็นว่า ในประเทศไทยยังขาดนักวิจัยที่ศึกษาถึงผลดีผลเสียของสารเคมีการเกษตรอยู่มาก ซึ่งหากจะห้ามไม่ให้เกษตรกรใช้สารเคมีเลยคงยาก ควรจะมีการศึกษาวิจัยและมีข้อมูลหรือตัวเลขให้เกษตรกรเห็นอย่างชัดเจนจึงจะเกิดผล

ศ.ดร.สุทัศน์ เสริมอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ก็กำลังดำเนินการเพื่อควบคุมการใช้สารเคมีของภาคเกษตรกรรม โดยมีข้อกำหนดให้ใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ผลผลิตสุดท้ายต้องปลอดภัยจากสารเคมี ซึ่งก็ได้ผลดีพอสมควร.
ดร.ฮีออง อาจยืนยันว่าหนอนห่อใบข้าวไม่กระทบต่อผลผลิตข้าวจากการศึกษาแล้วในเวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่นักวิจัยไทยกลับชี้ว่าหากหนอนห่อใบข้าวระบาดมาก ก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน ซึ่งชาวนาไทยบางท้องที่ก็กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่
ดร.ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ศ.ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์
นายสมศักดิ์ ทองดีแท้ ผอ.ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท
กำลังโหลดความคิดเห็น