xs
xsm
sm
md
lg

เกิดรอยแยกที่สนามแม่เหล็กโลก เปิดรับอนุภาคมีประจุจากลมสุริยะ 20 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองจากนาซาและไซน์เดลีประกอบข่าวรอยแยกบนสนามแม่เหล็กโลกที่เกิดจากอันตรกริยาระหว่างสนามแม่เหล็กโลกและอนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์
ภาพถ่ายดาวเทียมจากนาซา เผยสนามแม่เหล็กโลกที่ปกป้องดาวเคราะห์ของเราจากลมสุริยะ มีรอยแยกขนาดใหญ่ 2 แห่งหนาถึง 6,400 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิด "แสงออโรรา" ที่สว่างจ้า หรืออาจเกิดการรบกวนการสื่อสารของดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน ทั้งนี้พบรอยแยกดังกล่าวตั้งแต่กลางปี โดยอนุภาคมีประจุรั่วเข้าชั้นบรรยากาศโลกได้มากถึง 20 เท่าของยามปกติ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า กลุ่มดาวเทียมธีมิส (Themis: Time History of Events and Macroscale Interactions during Substorms) จำนวน 5 ดวงของ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้พบรอยแยกขนาดใหญ่ ในสนามแม่เล็กโลก ซึ่งคอยปกป้องโลกจากระเบิดอนุภาคที่มีประจุของดวงอาทิตย์ และจากการสำรวจของดาวเทียมเผยให้เห็นว่า สนามแม่เหล็กโลกมีรอยแยก 2 แห่ง เปิดช่องให้ลมสุริยะ (solar wind) ซึ่งเป็นกระแสของอนุภาคมีประจุที่ประทุออกมาจากดวงอาทิตย์ แทรกสู่บรรยากาศชั้นของโลกด้วยความเร็ว 1.6 ล้านกิโลเมตรต่อชัวโมง

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่า สนามแม่เหล็กโลกซึ่งช่วยปกป้องโลกจากสภาพอากาศอันเลวร้ายของอวกาศนั้น อยู่ในสภาพคล้ายบ้านโทรมๆ ที่อยู่ท่ามกลางลมพายุ ซึ่งบางครั้งสนามแม่เหล็กโลกก็เปิดโอกาสให้อนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์เข้ามาสร้างความรุนแรงได้ และรอยแยกที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นสาเหตุของแสงออโรรา (aurora) หรือแสงเหนือใต้ที่สว่างเจิดจ้า หรืออาจก่อให้เกิดการรบกวนการสื่อสารของดาวเทียมหรือสถานีภาคพื้นได้

เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ดาวเทียมธีมิสพบชั้นอนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์ ซึ่งอยู่ส่วนนอกของชั้นบรรยากาศโลก ในส่วนแมกเนโทสเฟียร์ (magnetosphere) และมีความหนาอย่างน้อย 6,400 กิโลเมตร แต่ มาริท โออีโรเซท (Marit Oieroset) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการดาวเทียมธีมิสจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (University of California) สหรัฐฯ ระบุว่า รอยแยกดังกล่าวไม่คงอยู่ถาวร โดยก่อนหน้านั้นเมื่อปีที่แล้วก็พบรอยแยกของสนามแม่เหล็กโลกแต่คงอยู่แค่ประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ทางด้านสเปซเดลี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กโลกว่า เป็นเหมือนเกาะกำบังอนุภาคที่ส่งมาอย่างต่อเนื่องจากดวงอาทิตย์ เนื่องจากอนุภาคที่ไหลมาจากดวงอาทิตย์นั้นมีประจุไฟฟ้าทั้งอยู่ในรูปไอออนและอิเล็กตรอน จึงไวต่อแรงแม่เหล็ก และส่วนใหญ่ถูกสะท้อนออกไปโดยสนามแม่เหล็กโลก อย่างไรก็ดี สนามแม่เหล็กของเราก็เป็นเพียงเกราะกำบังที่มีรอยรั่ว และจำนวนอนุภาคที่รั่วไหลเข้ามาก็ขึ้นอยู่กับทิศของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์

"การค้นพบครั้งนี้พลิกความเชื่ออันยาวนาน เกี่ยวกับการรบกวนของอนุภาคมีประจุจากสุริยะว่า จะเกิดขึ้นรุนแรงอย่างไรและเมื่อไหร่ และการค้นพบนี้ยังนำไปใช้ทำนายว่า เมื่อไหร่จะเกิดพายุสุริยะรุนแรง จากผลในครั้งนี้เราคาดว่าจะเกิดพายุสุริยะรุนแรงในช่วงวัฎจักรสุริยะ (solar cycle) ที่กำลังจะเข้ามา" วาสซิลิส แองเจโลพัวลอส (Vassilis Angelopoulos) ผู้ตรวจสอบหลักปฏิบัติการธีมิสจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว

ส่วนเอพียังให้คำอธิบายจากโออีโรเซทว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเบื้องต้นรอยแยกขนาดใหญ่นี้เกิดขึ้นจากสนามแม่เหล็กโลกและสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกัน และข้อมูลจากดาวเทียมธีมิสก็พบว่าสนามแม่เหล็กของโลกและดวงอาทิตย์อยู่ตรงข้ามกันจริง และมีลมพายุสุริยะผ่านโลกมากกว่าปกติ 20 เท่า เมื่อเทียบกับครั้งที่สนามแม่เหล็กของโลกและดวงอาทิตย์อยู่ในแนวเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ยานอวกาศอื่นๆ ทำได้เพียงเก็บตัวอย่างเล็กๆ ของชั้นอนุภาคมีประจุภายในสนามแม่เหล็กโลก แต่ดาวเทียมทั้ง 5 ดวงในโครงการธีมิสสามารถเก็บข้อมูลมาขยายผลได้มากกว่า อย่างไรก็ดีแม้ทราบขนาดการรั่วไหลเข้ามาอนุภาคจากลมสุริยะแล้ว แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบตำแหน่งที่เกิดการรั่วไหล

ทั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบตำแหน่งรอยแยกของสนามแม่เหล็กคือ หลี่ เหวินฮุย (Wenhui Li) จากมหาวิทยาลัยนิวแฮมป์ไชร์ (University of New Hampshire) สหราชอาณาจักร พร้อมด้วยคณะ โดยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อค้นหา 2 รอยแยกที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กับสนามแม่เหล็กโลก รอยแยกหนึ่งอยู่บริเวณละติจูดสูงทางซีกฟ้าเหนือ และอีกรอยแยกอยู่บริเวณละติจูดทางซีกฟ้าใต้ โดยรอยแยกก่อตัวขึ้นบนโลกด้านกลางวัน ซึ่งเป็นด้านที่สนามแม่เหล็กประจันหน้ากับดวงอาทิตย์

สเปซเดลีระบุด้วยว่า แบบจำลองของหลี่ยังแสดงให้เห็นว่ารอยแตกของสนามแม่เหล็กก่อตัวขึ้นได้อย่างไร เมื่ออนุภาคมีประจุไหลออกจากดวงอาทิตย์ อนุภาคเหล่านั้นก็นำสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ผ่านมายังโลกด้วย ทำให้เกิดการต้านสนามแม่เหล็กโลกตลอดการเส้นทางของสนามแม่เหล็กสุริยะ

แม้ว่าที่ตำแหน่งเส้นศูนย์สูตรสนามเหล็กทั้งสองมีทิศทางเดียวกัน แต่ที่ละติจูดสูงๆ สนามแม่เหล็กทั้งสองชี้ไปในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อเกิดแรงบีบอัดสนามแม่เหล็กที่มีทิศทางตรงกันข้ามเข้าด้วยกัน และเกิดการเชื่อมโยงที่เรียกว่า "การเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็ก" (magnetic reconnection) ซึ่งตามการศึกษาของหลี่และคณะ กระบวนการนี้ทำให้เกิดรอยแยกบนสนามแม่เหล็กโลก และเชื่อมโยงสนามแม่เหล็กสุริยะระหว่างรอยแยกทั้งสองกับสนามแม่เหล็กโลก แล้วนำเอาอนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์เข้าไปในชั้นแมกเนโทสเฟียร์ของโลก.
กำลังโหลดความคิดเห็น