xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อลูกหลานอีกพันล้านปี หาอะไรชนโลกชิงเปลี่ยนวงโคจรก่อนโดนอาทิตย์เผา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิวส์ไซเอนติสท์/ไซน์เดลี - ดวงอาทิตย์ที่กำลังขยายตัวและปลดปล่อยมวลมหาศาลอาจสร้างความเดือดร้อนให้โลกในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้า หนำซ้ำก่อนดวงอาทิตย์ดับสลายตามที่คาดการณ์ไว้ในอีก 7.6 พันล้านปี ก็จะเผาผลาญดาวเคราะห์สีน้ำเงินให้สูญสิ้นไปก่อน นักดาราศาสตร์ฉายความหวังยังมีเวลาอีก 5 พันล้านปีช่วยโลก เสนอแผนหาทางให้อุกกาบาตเฉี่ยวเปลี่ยนวงโคจรโลกห่างจากดวงอาทิตย์อีกนิดจนพ้นขีดอันตราย

ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ (Sussex University) สหราชอาณาจักร เปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ว่า ศูนย์กลางแห่งระบบสุริยะจะสิ้นอายุขัยในอีก 7.6 พันล้านปีข้างหน้า พร้อมกับที่หายนะมาเยือนโลก เพราะถูกแผดเผาจนร้อนระอุ น้ำทะเลเหือดหาย กลายเป็นดาวสุดแห้งแล้ง

ดร.โรเบิร์ต สมิธ หัวหน้าทีมเปิดเผยว่า ดวงอาทิตย์ที่กำลังจะหมดอายุขัยลง จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นดาวยักษ์แดง (red giant) ในอีกประมาณ 5 พันล้านปี โดยตัวของมันจะเย็นลงแต่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีกราว 250 เท่าของขนาดปัจจุบัน

ทั้งนี้ในขั้นของการเป็นดาวยักษ์แดงนั้นคือ เมื่อก๊าซไฮโดรเจนอันเป็นเชื้อเพลิงปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ใจกลางของดาวหมดลง ก็จะเหลือแต่เถ้าฮีเลียมสะสมกันอยู่ ช่วงนี้จะทำให้แกนดาวหดตัวลงเพราะฮีเลียมในแกนกลางมีขนาดเล็กกว่าเดิม ในขณะที่ส่วนเปลือกของแกนที่ได้พลังงานมาจากการเผาไฮโดรเจน ก็พองตัวขึ้นด้วยอุณหภูมิสูง จากความหนาแน่นที่เพิ่มมากขึ้น รัศมีของดวงดาวก็ขยายออกไปทำให้ดวงอาทิตย์ใหญ่ขึ้น

ระหว่างนั้นมวลของดวงอาทิตย์บางส่วนจะหลุดออกมาในรูปพายุสุริยะ ซึ่งจะมีอานุภาพรุนแรงกว่าลมสุริยะที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ ส่วนมวลที่สูญเสียไปเป็นผลให้ให้แรงดึงดูดของดวงอาทิตย์ที่มีต่อโลกลดลงด้วย ทำให้โลกเขยิบออกห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น

แม้คาดการณ์กันว่าลมสุริยะจะช่วยผลักโลกให้ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าเดิม แต่โลกก็ยังหนีชะตามรณะไม่พ้น เพราะอาจถูกดูดกลืนเข้าหาดวงอาทิตย์ และความร้อนจากดาวเพลิงก็จะระเหยและระเหิดทุกอย่างในโลกไปจนหมด

"เมื่อดวงอาทิตย์ขยายขนาด ขอบนอกของดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นก๊าซร้อนความหนาแน่นต่ำ จะกลืนกินโลก แม้ว่าโลกจะถูกพายุสุริยะพัดออกห่างมาบ้างแล้วก็ตาม ก๊าซความหนาแน่นต่ำเหล่านั้นสามารถดูดโลกให้จมลงไปในบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ และเมื่อนั้นโลกจะไม่สามารถทนทานกับรังสีความร้อนดวงอาทิตย์ได้ จนถูกแผดเผาละลายไปจนหมด" ดร.สมิธอธิบายความน่าจะเป็นถึงจุดจบของโลก

ขณะเดียวกัน ดร.คลาอุส-เพเตอร์ ชโรเดอร์ (Dr Klaus-Peter Schroeder) จากภาควิชาดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยกัวนาจัวโต (University of Guanajuato) เม็กซิโก ซึ่งร่วมวิจัยกับทีมของ ดร.สมิธเปิดเผยว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกอาจจะสูญสิ้นหมดไปนานแล้วก่อนที่ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์จะกลายเป็นดาวยักษ์แดงด้วยซ้ำ

ทั้งนี้เมื่อดวงอาทิตย์ค่อยๆ ขยายขนาดใหญ่ขึ้น อุณหภูมิโลกจะค่อยๆ สูงขึ้น น้ำในมหาสมุทรระเหยกลายเป็นไอ และในชั้นบรรยากาศก็จะเต็มไปด้วยไอน้ำมากมาย ซึ่งไอน้ำเหล่านี้จะกลายเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทรงประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนในที่สุดมหาสมุทรจะเดือดและเหือดแห้งไป ส่วนไอน้ำมากมายก็จะกระจายสู่อวกาศ และนับจากนี้ไปอีกพันล้านปี โลกจะกลายเป็นดาวที่แห้งแล้ง ร้อนระอุ และไม่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอีกต่อไป

หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ แล้วจะมีวิธีไหนที่จะช่วยให้โลกรอดพ้นจากมหันภัยนั้นได้หรือไม่?

ดร.สมิธชี้ว่าทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยซานตาครูซ (Santa Cruz University) ได้เสนอแผนการปกป้องโลกว่า อาจใช้วิธีควบคุมแรงโน้มถ่วงของโลกให้ดึงดูดอุกกาบาตที่ผ่านเข้าใกล้โลก และมีขนาดใหญ่พอจะสะกิดให้วงโคจรของโลก กระเถิบถอยห่างจากรัศมีทำลายล้างของดวงอาทิตย์ได้ ซึ่งอุกกาบาตขนาดพอเหมาะนั้นมักผ่านเข้าใกล้ทุกๆ 6,000 ปี ดังนั้นเรายังพอมีเวลาเหลือที่จะช่วยโลกให้พ้นเคราะห์ได้อีกอย่างน้อย 5 พันล้านปี

"เรื่องนี้อาจฟังดูแล้วเหมือนกับนิยายไซ-ไฟ ยังไงอย่างนั้นเลย แต่จะว่าไปแล้วมันก็เหมือนกับความต้องการใช้พลังงานที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ หรือเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปไกลในบางประเทศ" ดร.สมิธกล่าว

อย่างไรก็ดี กลวิธีใช้อุกกาบาตปกป้องโลกดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน เพราะหากว่าคำนวณผิดพลาดไปแม้แต่นิดเดียว แล้วทำให้อุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลกอย่างจัง จากที่จะปกป้องโลกกลับกลายเป็นทำลายโลกไปโดยปริยาย.

กำลังโหลดความคิดเห็น