xs
xsm
sm
md
lg

วัฏจักรจุดดับใหม่บนดวงอาทิตย์ก่อตัว อีก 3 ปีโลกเตรียมรับ "พายุสุริยะ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไซน์เดลี/นิวไซแอนทิสต์/เอเยนซี - พบจุดดับเริ่มต้นวัฏจักรสุริยะใหม่ บนบริเวณซีกเหนือของดวงอาทิตย์ในทิศตรงข้ามกับจุดเดิม นักดาราศาสตร์คาดอาจเกิดพายุสุริยะในปี 2554 ซึ่งจะปลดปล่อยอนุภาคมีประจุสูงมายังโลก ส่งผลกระทบต่อระบบกระจายไฟฟ้า การสื่อสารและอันตรายต่อนักบินอวกาศ

องค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐฯ หรือโนอา (National Oceanic and Atmosphere Administration: NOAA) พบจุดมืด (sunspot) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าจุดดับ* เป็นจุดแรกในระยะเริ่มต้นใหม่ของวัฏจักรสุริยะ (solar cycle) ซึ่งมีคาบเวลาประมาณ 11 ปีบริเวณซีกเหนือของดวงอาทิตย์โดยอยู่ตรงข้ามกับวัฏจักรเดิม

ทั้งนี้จุดมืดเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นผิวดวงอาทิตย์ แต่เป็นบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กสูง ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงอาทิตย์ซึ่งทำงานร่วมกับโนอาคาดว่าวัฏจักรใหม่จะเริ่มต้นในเดือน มี.ค.51 นี้ โดยคลาดเคลื่อนเร็วหรือช้า 6 เดือน

สำหรับจุดมืดที่พบนี้มีชื่อว่า #10,981 เป็นจุดมืดแรกของวัฏจักร 24 (cycle 24) ซึ่งเป็นวัฏจักรใหม่ และเป็นจุดมืดล่าสุดที่สังเกตได้นับแต่โนอาได้เริ่มต้นระบุจำนวนจุดมืดตั้งแต่ 5 ม.ค.2513

ที่สำคัญ คาดว่าวัฏจักรใหม่จะค่อนข้างทรงพลังคือทำให้เกิดจุดมืดได้ถึง 150 จุดต่อวันในช่วงจุดมืดมากสุด (sunspot maximum) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2554 หรือ 2555 และช่วงเวลาดังกล่าวยังจะเกิดพายุสุริยะรุนแรงด้วย

"ในกรณีนี้เป็นสัญญาณเริ่มต้นของพายุสุริยะ ซึ่งน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 3-4 ปีข้างหน้า" ดักลาส บีเซกเกอร์ (Douglas Biesecker) นักฟิสิกส์สุริยะจากศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศ (Space Weather Prediction Center) ของโนอากล่าว พร้อมเปรียบเปรยว่าการจุดมืดครั้งนี้เป็นเหมือนกับการพบนกรอบินตัวแรกในฤดูใบไม้ผลิ

ระหว่างเกิดพายุสุริยะนั้นอนุภาคที่มีประจุจำนวนมากจะถูกปลดปล่อยออกจากดวงอาทิตย์ซึ่งอาจพุ่งตรงมายังโลก และอนุภาคเหล่านั้นสามารถสร้างความเสียหายต่อระบบจ่ายไฟฟ้า รบกวนระบบสื่อสารและเป็นภัยต่อนักบินอวกาศจากรังสีอันตราย

พายุสุริยะยังสามารถสร้างความเสียหายต่อดาวเทียมสื่อสารและจมสัญญาณระบบจีพีเอสได้ ส่งผลให้กิจวัตรประจำวันอย่างการสนทนาผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือการทำธุรกรรมจากตู้เอทีเอ็มอาจชะงักทันทีในพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วโลก

ด้านเดวิด แฮธเวย์ (David Hathaway) จากศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ในฮันท์วิลล์ อัลบามา กล่าวว่าดาวเทียมฮิโนเดะ (Hinode) ของญี่ปุ่นที่ช่วยนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาความรุนแรงของพายุสุริยะนั้น อาจไวต่อรังสีและอนุภาคที่มีประจุซึ่งถูกปลดปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ราวระเบิด และทำให้อุปกรณ์ของดาวเทียมเสียหายและหยุดทำงานก่อนเวลา

"เราศึกษามามากพอที่จะตระหนักได้โดยพื้นฐานว่า สัญญาณดังกล่าวจะเป็นการปลดปล่อยมวลของชั้นโคโรนา (ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์) ซึ่งคล้ายๆ กับการทำนายการเกิดพายุทอร์นาโด ที่นักอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ได้เพียงเล็กน้อย จากการดูสัญญาณเรดาร์และลมในกลุ่มเมฆ แล้วกล่าวได้เพียงว่ามีโอกาสจะเกิดทอร์นาโด"

"แต่สำหรับการทำนายการเกิดพายุสุริยะ เรายังไม่สามารถคาดการณ์ได้แม้แต่อย่างนั้นเลย" แฮธเวย์กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่าการติดตามจำนวนจุดมืดที่เกิดขึ้นตั้งแต่นี้ไป จนถึงกลางปี 2552 จะช่วยรับมือกับคำถามว่า เมื่อใดที่จะเกิดจุดมืดมากที่สุด โดยจำนวนจุดมืดในช่วงนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากวัฏจักรใหม่ที่ค้นพบนี้เป็นวัฏจักรที่ทรงพลัง.

*หมายเหตุ
"ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ปรับเปลี่ยนการเรียก sunspot ที่เรียกกันตามความแพร่หลายว่า "จุดดับ" เป็น "จุดมืด" ตามพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์อังกฤษ-ไทย ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น