คตส.ลงมติฟันเพิ่มเอื้ออาทรฯ เพิ่ม 14 ราย “อริสมันต์” ซวยซ้ำเจอแจ๊กพอต ฐานเป็นตัวกลางเรียกรับสินบน ฟาดเงินไป 7 ล้าน “วัฒนา” เจอเพิ่มอีก 7 กระทง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ด้าน “หมอเลี้ยบ-บอร์ด ทศท-กสท” หนาว คตส.ติดดาบ “กล้านรงค์” ตามเช็กบิลออกมาตรการเอื้อเอไอเอส
วันนี้ (7 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มี นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการ คตส.แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนโครงการบ้านเอื้ออาทร เสนอชี้มูลและแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 คดี จำนวน 14 ราย โดยพบว่ามีการทุจริตโควตาโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งพบสินบนแล้ว 1,200 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมมี กลุ่มที่ 1 คดีทุจริต-รับเรียกสินบน คือ นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ หน้าห้องรัฐมนตรี ฐานเป็นผู้สนับสนุนการทุจริต นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ฐานเป็นคนกลางเรียกรับสินบนให้รัฐมนตรี โดยได้รับเงินส่วนแบ่ง 7 ล้านบาท นางรัตนา แซ่เฮง เลขาฯคนสนิทของบริษัท เพรสซิเดนท์ ในฐานะตัวกลางเรียกรับสินบน และผู้บริหารบริษัท ไทยเฉนหยู ซึ่งไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล
นายแก้วสรร กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 คดีทุจริตโควตาเดวา โดยแจ้งข้อกล่าวหา นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ เพิ่มอีก 1 กระทง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ให้ประโยชน์ต่อผู้อื่นที่ไม่ควรได้ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนโดยจงใจ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีบริษัทได้เสนอขายที่ดินสร้างบ้านเอื้ออาทรในโครงการบางขุนเทียน ยูนิตละ 3.9 แสนบาท ซึ่งเป็นแบบเหมาเบ็ดเสร็จ และมีการตกลงกันเรียบร้อยแล้ว แต่หลังนายวัฒนา เข้ามารับตำแหน่ง ได้มีการถอนเรื่องออกจากสารบบ และมีการเสนอเรื่องเข้ามาใหม่เป็นระบบโควตา ทำให้รัฐต้องจ่ายเพิ่มจาก 3.9 แสน เป็นยูนิตละ 4.2 แสนบาท กว่า 1 พันยูนิต ทำให้รัฐเสียหายกว่า 200 ล้านบาท
นายแก้วสรร กล่าวว่า กลุ่มที่ 3 คดีฟอกเงินเข้าบริษัท เพรสซิเดนท์ ซึ่ง คตส.จะส่งสำนวนให้ดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบต่อ โดยผู้ถูกกล่าวหา ประกอบด้วย นายอาทิตย์ ภู่ภักดี นาย ศรัทธา ภู่ภักดี นายอนุรักษ์ วิศาลจตุรงค์ นายสุรพงษ์ กุลแพ นายศานติ อภัยนนท์ นายทรัพย์ทวี การกิจโอฬาร บริษัท โกลเด้นฯ และบริษัท กู๊ดโกลบอลฯ กับ น.ส.อรวรรณ ศรัทธาสุกล ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องในเส้นทางการฟอกเงิน 8 พันล้านบาท แต่มีเงินที่เกี่ยวข้องกับคดีเอื้ออาทร 1.2 พันล้านบาท จาก 50 บัญชี โดยพฤติการณ์มีการส่งเงินไปฮ่องกง อ้างว่า ซื้อสินค้าเข้าประเทศ จากนั้นโอนเข้าบริษัท เพรสซิเดนท์ โดยอ้างว่าเป็นรายได้จากการขายข้าว ส่วนที่ไม่มีชื่อ นายวัฒนา ในกลุ่มนี้ เนื่องจากนายวัฒนาไม่มีพฤติกรรมการฟอกเงิน แต่มีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบน ซึ่ง คตส.ได้ตั้งข้อกล่าวหาไปแล้วในครั้งที่ คตส.พบว่า มีการฟอกเงิน 80 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาไปแล้ว ยังถูกตั้งข้อกล่าวเพิ่มอีก 7 กระทง ตามรายชื่อบริษัทที่ถูกสอบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบเงินจำนวน 1.2 พันล้านบาท หากพบก็จะสามารถอายัดทรัพย์ได้ทันที
นายแก้วสรร กล่าวว่า พฤติการณ์เริ่มตั้งแต่ นายวัฒนา เมืองสุข เข้ามาเป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ มีการเปลี่ยนระบบจากการให้บริษัทหาที่ดินเป็นแปลงๆ มาเสนอขาย ในราคายูนิตละ 3.9 แสนบาท มาเป็นระบบโควตาเพื่อสร้างในส่วนที่เหลืออยู่ 2 แสนยูนิต คิดราคาตายตัวอยู่ที่ยูนิตละ 4.2 แสนบาท ทำให้ราคาสูงเกิดส่วนต่าง โดยบริษัทที่ได้โควตาต้องเสียเงินให้รัฐมนตรีหน่วยละ 1 หมื่นบาท รวม 2 แสนยูนิต เป็น 2 พันล้านบาท ซึ่งมีการผ่านเส้นทางการฟอกเงิน และที่ผ่านมา คตส.เคยชี้มูลบริษัท เพรสซิเด้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเงินรายใหญ่มาแล้ว
นายแก้วสรร กล่าวว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้ตรวจสอบ 15 บริษัท พบ 8 บริษัทที่ร่วมสู่เส้นทางการฟอกงิน แต่มี 7 บริษัทที่ให้ความร่วมมือ คณะอนุกรรมการจึงไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และได้กันไว้เป็นพยาน สำหรับกรณีของนายอริสมันต์ คณะอนุกรรมการตรวจพบว่ามีพฤติการณ์เป็นนายหน้าเข้าเจรจากับเจ้าของที่ดิน และเสนอขายที่ดินเพื่อทำโครงการบ้านเอื้ออาทร แทนที่จะให้บริษัทติดต่อเสนอขายเอง โดยคนกลุ่มนี้ทำตัวเป็นนายหน้าไปหาเจ้าของที่พอตกลงราคาก็วิ่งเสนอต่อรัฐในราคาเกินจริง ซึ่งเป็นการกระทำที่ทุจริต เข้าใจว่าบุคคลนี้ได้รับ 2 ต่อจำนวน 7 ล้านบาทจากราคาส่วนต่าง
“พฤติกรรมทั้งหมดมีหลักฐานเอกสารการรับเงินคอร์รัปชันครบถ้วน ถือว่าคดีบ้านเอื้ออาทรจบเกมแล้ว ไม่น่าจะยื้อได้ แต่ถ้าจะประวิงเวลาคงจะทำได้อย่างเก่งไม่เกิน 3 เดือน หลังจากนั้น จะได้แจ้งมติให้ผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านการตั้งอนุกรรมการไต่สวน และเข้าแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
นายแก้วสรร กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้อนุกรรมการไต่สวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัวและพวกพ้อง ที่มี นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน มีอำนาจตรวจสอบเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ คือ ทศท และ กสท อีก 3 คดี คือ 1.คดีผู้บริหาร ทศท แก้ไขสัญญาลดค่าสัมปทานให้เอไอเอส จาก 25% เหลือ 20% ทำให้รัฐขาดรายได้ 4 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ 4-5 ราย เกี่ยวข้อง 2.ผู้บริหาร ทศท แก้ไขสัมปทานให้เอไอเอส หักลดค่าใช้โครงข่ายร่วมโดยมิชอบ ทำให้รัฐเสียหาย 2.3 หมื่นล้านบาท โดยต้องมีผู้ที่ต้องถูกดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง
นายแก้วสรร กล่าวว่า 3.รัฐมนตรีไอซีที ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมอนุมัติแก้ไขสัญญาดาวเทียมเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ โดยมิชอบในการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมสื่อสารพื้นฐานสำหรับประเทศ แต่เป็นการยิงดาวเทียมนอกเหนือสัญญาเพื่อการลงทุนด้านการสื่อสารใน 14 ประเทศ ทำให้ประเทศไทยเกิดความเสียหายหลังจากที่ดาวเทียมไทยคม 3 เสียหาย มีการอนุมัติเงินประกันดาวเทียม 30 ล้านดอลลาร์ไปเช่าดาวเทียมต่างประเทศทั้งที่เป็นเงินสำหรับยิงดาวเทียมดวงใหม่ ถือเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ และยังพบว่ารัฐมนตรีไอซีที และกระทรวงคมนาคมอนุมัติให้บริษัท ชินแซท ลงทุน 1 หมื่นล้านบาทในการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยการเพิ่มทุน โดยมีการแก้ไขสัญญาให้บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จากเดิมต้องถือหุ้นในบริษัท ชินแซท 51% เหลือ 40% โดยที่เหลือนำไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน ถือว่าผิดข้อตกลงในการแก้ไขสัญญาในการยิงดาวเทียมตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ หากมีการดำเนินคดีกับอดีตรัฐมนตรีไอซีที ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ส.ก็ไม่มีผลต่อการทำงานของคตส.เพราะ คตส.ไม่มีอำนาจในการจับกุมคุมขัง