xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลสอบคตส.(ฉบับเต็ม) “ทักษิณ” ทรยศประชาชน เอื้อประโยชน์ธุรกิจตนเอง-พวกพ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ผู้จัดการออนไลน์ – การตรวจสอบของ คตส. ชี้มูลความผิด “ทักษิณ” ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีบิดเบือนการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ใช้อำนาจทางบริหารครอบงำกระบวนการทางรัฐสภา ทำลายระบบกฎหมายและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ออกมติครม.โดยขัดต่อกฎหมายและสัญญาร่วมงานกับรัฐ ทำลายความสามารถในการแข่งขันของ บริษัท ทีโอที และบริษัทกสท. หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอไอเอส และบริษัทในเครือชินคอร์ป ถือเป็นการกระทำที่ทรยศต่อประชาชน


การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กรณีอดีตนายกรัฐมนตรีกระทำการทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง (ในส่วนของการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมและเรื่องอื่นๆ)

โดยสรุปมติ คตส. เรื่องการกล่าวหา พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร กระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ณ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑ คณะกรรมการตรวจสอบฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นและมีมติ ดังนี้

***ทักษิณ - พจมาน ยังถือหุ้นในชินคอร์ป***

***๑) เมื่อระหว่างผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ และลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ นั้น ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส คือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพินทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ บริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด และบริษัท วินมาร์ค จำกัด(Win Mark) เป็นผู้ถือหุ้นแทน

ตามพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน รับฟังได้ชัดเจนว่า หุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสใช้ชื่อบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นแทนมีจำนวนทั้งหมด ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ตามที่ผู้กล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าได้โอนขายหุ้นดังกล่าวให้บุคคลต่างๆไปหมดแล้วนั้นรับฟังไม่ขึ้น

เนื่องจากการใช้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนในชื่อของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และการโอนหุ้นให้นายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ไม่ได้ชำระเงินกันจริงเพียงแต่ทำหลักฐานตั๋วสัญญาใช้เงินระบุลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ และวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ให้ไว้กับผู้ถูกกล่าวหา และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร รวมจำนวน ๕ ฉบับ เป็นเงินเพียง ๑,๑๒๔,๓๓๕,๒๒๕ บาท

อีกทั้ง ตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับระบุลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ ระบุว่านายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท ให้แก่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ทั้งที่ ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า จตุตถจุลจอมเกล้า ที่จะใช้คำนำนามว่า “คุณหญิง” ได้ โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จตุตถจุลจอมเกล้า ในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๘ ข เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๒

***ดังนั้น คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จะใช้คำนำนามว่าคุณหญิง ตั้งแต่วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ จึงเชื่อว่าตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง ๕ ฉบับดังกล่าว เป็นการจัดทำเป็นหลักฐานขึ้นในภายหลังเท่านั้น ไม่ได้จัดทำขึ้นตามความจริง การซื้อหุ้นเพิ่มทุนและการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้มีชื่อดังกล่าวถือหุ้นแทนผู้ถูกกกล่าวและคู่สมรส หุ้นดังกล่าวยังคงเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส

สำหรับบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นแต่ผู้เดียว และบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหาอยู่ด้วยนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงว่าได้ขายหุ้นบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัดให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร ทั้งหมดในราคา ๑ เหรียญสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ นั้น ก็มีเพียงหนังสือของนายพานทองแท้ ชินวัตร ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๙ แจ้งสำนักงาน กลต.โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดอีก รวมทั้งไม่มีบันทึกการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง หรือจดแจ้งกับผู้ใดหรือหน่วยงานใด

ทั้งนี้ ตามผลการตรวจสอบของสำนักงาน กลต. ก็ปรากฏข้อเท็จจริงแต่เพียงหนังสือของนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ยอมรับว่าได้รับซื้อและเข้าถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ เท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่มีการยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ที่สนับสนุนว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้โอนหุ้นดังกล่าวให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร แล้วจริง

ซึ่งสอดคล้องกับผลตรวจสอบสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน กลต. ที่พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า บริษัท วินมาร์ค จำกัด เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้น (Nominee) ของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และคู่สมรส และเมื่อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ถือโดยบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด มาฝากรวมกันกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ถือโดยบริษัท วินมาร์ค จำกัด ในบัญชีเลขที่ ๘๐๐๒๔๘๐๐๐๒ ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นผลให้หุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯที่ฝากอยู่ในบัญชีดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ ๕.๒๔ ซึ่งเกินกว่าร้อยละ ๕ ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว

ธนาคารยูบีเอส เอจี สิงคโปร์ ผู้รับจัดการดูแลหุ้นและบัญชีดังกล่าว ได้ยื่นรายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ ต่อสำนักงาน กลต. เนื่องจาก ได้รับโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ คิดเป็นร้อยละ ๓.๔๐ จำนวน ๑๐ ล้านหุ้น เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ มาไว้ในบัญชีเลขที่ ๘๐๐๒๔๘๐๐๐๒ ซึ่งนับรวมกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯที่อยู่ในบัญชีนี้อยู่ก่อนแล้ว จำนวน ๕,๔๐๕,๙๑๓ หุ้น รวมเป็น ๑๕,๔๐๕,๙๑๓ หุ้น คิดเป็นร้อยละ ๕.๒๔ ซึ่งเกินกว่าร้อยละ ๕ ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว

***ซึ่งแสดงว่าเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา ก็ยังเป็นเจ้าของบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด อยู่เหมือนเดิม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าได้โอนขายให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ รับฟังไม่ขึ้น

***ดังนั้น ตามพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ดังกล่าว จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ยังเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส ที่ให้ผู้มีชื่อดังกล่าวถือหุ้นไว้แทน ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นดังกล่าว ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดมา คำชี้แจงข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหารับฟังไม่ขึ้น

***๒) บริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมจากรัฐโดยตรง ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ จากกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น บริษัทชินคอร์ปฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เอไอเอส คิดเป็นร้อยละ ๔๒.๙๐ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานจากรัฐ ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันแปรสภาพและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

นอกจากนั้น บริษัทเอไอเอส ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คิดเป็นร้อยละ ๙๘.๕๕ ในบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก การสื่อสารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันแปรสภาพและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด

และบริษัทชินคอร์ปฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ชินแซทฯ เป็นจำนวนถึงร้อยละ ๕๑.๔๘ ของหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานจากรัฐ ตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๕ ตามลำดับ

***ผลประโยชน์ทับซ้อน-ไม่แสดงบัญชีต่อป.ป.ช.***

***๓) การที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส ยังคง ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ และบริษัท ชินคอร์ปฯเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้ง ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่แสดงรายการหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯดังกล่าว

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๑๐ มาตรา ๒๐๘ มาตรา ๒๐๙ มาตรา ๒๙๑ และมาตรา ๒๙๒ พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๔ มาตรา ๕ และมาตรา ๖ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๑๐๐ ซึ่งมีความผิดอาญาตามมาตรา ๑๑๙ และมาตรา ๑๒๒

และในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ผู้ถูกกล่าวหาได้รวบรวมหุ้นดังกล่าวทั้งหมดขายให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ – ๒๕๔๘ บริษัท ชินคอร์ปฯ ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมด ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด จำนวน ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท เงินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

***เอื้อประโยชน์ธุรกิจตนเองและพวกพ้อง***

***๔) ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาและหน่วยงานของรัฐได้กระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ หลายกรณี ดังนี้

***๔.๑) ผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการ มอบนโยบายให้ในการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๖ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ พ.ศ.๒๕๔๖ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๖๘) ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖

และ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพสามิตข้างต้น อันเป็นการดำเนินการนอกเหนืออำนาจของตนเองเพื่อป้องกันมิให้ กทช. ซึ่งเป็นองค์การอิสระที่กำลังอยู่ในระหว่างการสรรหาเพื่อทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย

มีการเร่งรัดออกพระราชกำหนดทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งเร่งรัดออกประกาศกระทรวงการคลัง และมติคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอย่างแท้จริง แต่เป็นการดำเนินการเพื่อที่จะแปลงสัญญาร่วมการงานในกิจการโทรคมนาคมโดยใช้ภาษีสรรพสามิต

***การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ขัดต่อกระบวนการทางรัฐสภา ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แอบแฝง ทั้งกรณีเพื่อประโยชน์ในการแปลงสัญญาร่วมการงานในกิจการโทรคมนาคมโดยใช้ภาษีสรรสามิต และการใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการกีดกันผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เอไอเอส

และทำให้ บริษัททีโอที และ บริษัท กสท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐอ่อนแอลงตลอดจนการไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งๆ ที่เป็นกิจการโทรคมนาคม และเป็นกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือได้ว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง

***คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยการใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญบิดเบือนการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ใช้อำนาจทางบริหารครอบงำกระบวนการทางรัฐสภา ทำลายระบบกฎหมายและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ออกมติคณะรัฐมนตรีโดยขัดต่อการปฏิบัติการตามกฎหมายและสัญญาร่วมการงานที่บริษัทคู่สัญญาทำไว้กับภาครัฐ ทำลายความสามารถในการแข่งขันของบริษัททีโอที และบริษัท กสท หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ ปกป้องและเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เอไอเอส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทชินคอร์ปฯ และมีความเกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหา

***บริษัทดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา อย่างชัดเจน อันมีลักษณะเป็นการกระทำที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การกระทำทั้งหลายเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นอำนาจในการบริหารขั้นสูงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัวโดยแท้กีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาด เพราะหากไม่มีการเก็บภาษีนี้แล้วผู้ประกอบการรายใหม่จะเสียเพียงค่าธรรมเนียมให้แก่ กทช. เท่านั้น

***ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมที่ไม่ยอมแปรสัญญาสัมปทานจะเสียทั้งค่าธรรมเนียมใหม่และค่าสัมปทานเดิมทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหม่ได้ และเป็นการทำลายระบบโทรคมนาคมเสรีตามที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ผู้ถูกกล่าวหา ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องผลักดันและวินิจฉัยสั่งการด้วยโดยตรง

***๔.๒) กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๖) เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card)

คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า การที่ ทศท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ทำการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) (ครั้งที่ ๖) เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เพื่อปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) ให้แก่บริษัท เอไอเอส นั้น

ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยตามบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๒๙๑/๒๕๕๐ และไม่มีความสมเหตุสมผลในการดำเนินการ

***ทั้งยังเป็นการดำเนินการที่มุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เอไอเอส เพื่อให้บริษัท เอไอเอส มีความได้เปรียบคู่แข่งในทางธุรกิจ โดยบริษัท เอไอเอส ได้รับประโยชน์แล้ว ตั้งแต่มีการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่๖) ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๙ เป็นจำนวนเงิน ๑๔,๒๑๓.๗๕ ล้านบาท และจะได้รับประโยชน์ในอนาคตถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานอีกจำนวน ๕๖,๖๕๘.๒๘ ล้านบาท
รวมเป็นประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับจากการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่๖) เป็นจำนวนเงิน ๗๐,๘๗๒.๐๓ ล้านบาท ซึ่งทำให้ ทศท. สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับประมาณ ๗๐,๘๗๒.๐๓ ล้านบาท ตามที่ ทศท. ได้คำนวณไว้ตามตารางเปรียบเทียบประมาณการส่วนแบ่งรายได้ฯ

***๔.๓) กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๗) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า การที่ ทศท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ดำเนินการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) (ครั้งที่ ๗) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ อนุญาตให้ บริษัท เอไอเอส ใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ เป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงขั้นตอนตามกฎหมาย และเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยตามบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๒๙๑/๒๕๕๐

และการที่ กสท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ เช่นกัน ปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) ให้กับ DPC ตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN (PERSONAL COMMUNICATION NETWORK) ๑๘๐๐ ทำให้ ทศท.และ กสท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับไม่น้อยกว่า ๑๘,๙๗๐,๕๗๙,๗๑๑ บาท (ตลอดอายุสัมปทาน) และทำให้ บริษัท เอไอเอส ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวไม่น้อยกว่า ๑๘,๙๗๐,๕๗๙,๗๑๑ บาท (ตลอดอายุสัมปทาน)

***ซึ่งบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท เอไอเอส ผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับดังกล่าว จึงตกแก่หุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ที่ผู้ถูกกล่าวหาถืออยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น จนกระทั่งได้มีการขายหุ้นดังกล่าว

***๔.๔) ละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมิชอบหลายกรณีเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท ชินแซทฯ

คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียม IPSTAR โดยมิชอบ กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ ที่ต้องถือในบริษัทชินแซทฯ จากไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ เป็น ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ และกรณีการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม ๓ จำนวน ๖.๗ ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงิน ๒๖๘ ล้านบาท ไปเช่าช่องสัญญาณของดาวเทียมต่างประเทศ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท ชินแซทฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัญญาดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจากรัฐโดยตรงและมีภาระต้องรับผิดแทนกันและร่วมกัน ดังนี้

(๑) ได้ประโยชน์จากการไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนในโครงการดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อใช้เป็นสำรองดาวเทียมไทยคม ๓ มูลค่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท และได้ประโยชน์จากการไม่ต้องดำเนินกระบวนการรับสัมปทานใหม่จากโครงการดาวเทียม IPSTAR มูลค่า ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕

(๒) ได้ประโยชน์จากการไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาเพื่อรักษาสัดส่วนที่บริษัทชินคอร์ปฯ จะต้องถือไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ในบริษัท ชินแซทฯ โดยการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ (ครั้งที่ ๕) ให้คงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐

(๓) ได้ประโยชน์จากการไม่ต้องซ่อมแซมหรือจัดหาดาวเทียมมาทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ที่เสียหายซึ่งเมื่อซ่อมแซมและจัดหามาทดแทนแล้วจะต้องตกเป็นทรัพย์สินของรัฐตามสัญญาสัมปทานฯ แต่ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนที่กระทรวงได้รับจากบริษัทประกันภัยมาใช้ในการเช่าดาวเทียมต่างประเทศมาใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ที่เสียหาย จำนวนเงิน ๒๖๘ ล้านบาท ซึ่งไม่ถูกต้องตามสัญญาสัมปทานฯ

๔.๕) กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชิน แซทแทลไลท์ จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะ

คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้กระทำการในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ และให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า และพลจัตวา เต็ง ซอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรมและกระทรวงคมนาคมไปรษณีย์และโทรเลขของสหภาพพม่า

ทั้งๆ ที่ไม่มีผลการประชุมระหว่างผู้นำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับทราบเรื่องมาก่อน จนกระทั่งทางการของสหภาพพม่า มีหนังสือขอกู้เงินโดยอ้างการเจรจาตกลงและให้คำมั่นจากผู้ถูกกล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ให้วงเงินกู้สินเชื่อ วงเงิน ๓,๐๐๐ ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า

และต่อมาได้สั่งการเห็นชอบให้เพิ่มวงเงินกู้สินเชื่อ อีก ๑,๐๐๐ ล้านบาท รวมเป็น ๔,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่า โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นจาก ๒ ปี เป็น ๕ ปี

***ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวก มีผลประโยชน์ในหุ้นอยู่ ให้ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาล สหภาพพม่า โดยใช้เงินกู้สินเชื่อดังกล่าว เป็นจำนวนเงินตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ๑๕ ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินไทย ๕๙๓,๔๙๒,๘๑๕.๙๖ บาท
 
และได้รับเงินค่าจ้างครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ เป็นเหตุให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้รับความเสียหายในการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ในการจัดตั้งธนาคาร ต้องขอความคุ้มครองให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีเพื่อชดเชยความเสียหาย ตามประมาณการทั้งโครงการเป็นเงิน ๖๗๐,๔๓๖,๒๐๑.๒๕ บาท

และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายต้องจัดสรรงบประมาณประจำปีชดเชยความเสียหายดังกล่าว และได้ชดเชยความเสียหายแล้วในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ และ ปีงบประมาณ ๒๕๕๐ รวมเป็นเงินจำนวน ๑๔๐,๓๔๙,๖๐๐ บาท ความเสียหายดังกล่าวรวมถึงความเสียหายจากการให้กู้สินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคม ที่บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ได้รับงานจ้างดังกล่าวด้วย ซึ่งบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ได้รับประโยชน์ในการได้รับงานตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เป็นเงิน ๕๙๓,๔๙๒,๘๑๕.๙๖ บาท

***ใช้อำนาจนายกฯแก้กฎหมาย แปลงสัญญาสัมปทาน***

***๕) สืบเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงใน หุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯดังกล่าว จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ในระหว่างที่ผู้ถูกกกล่าวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดมา โดยใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพินทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นแทน

และในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบายในการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๖ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ พ.ศ.๒๕๔๖ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๖๘) ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖

และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพสามิต

สั่งการอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทฯ

รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้กระทำการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๖) เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card)

แก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๗) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) ละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมิชอบหลายกรณี ทั้งนี้เป็นการกระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือเป็นอย่างมาก

โดยที่บริษัท ชินคอร์ปฯ ประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ จากกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น ซึ่งตามสัญญา ข้อ ๑ กระทรวงคมนาคมตกลงให้บริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมตกลงให้บริษัทบริษัท ชินคอร์ปฯ มีสิทธิในการบริหารกิจการและการให้บริการวงจรดาวเทียม (Transponder) เพื่อการสื่อสารภายในประเทศ และมีสิทธิเก็บค่าใช้วงจรดาวเทียมจากผู้ใช้วงจรดาวเทียม ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวโดยตรง

ส่วนบริษัทชินแซทฯนั้นเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้น ตามข้อ ๔ ของสัญญาดังกล่าวเพื่อดำเนินงานตามสัญญาเท่านั้น สิทธิตามสัญญา ข้อ ๑ ซึ่งเป็นสิทธิในการประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นของบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งในการแก้ไขสัญญาดังกล่าวจำนวน ๕ ครั้ง เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๕ วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๖ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๑ วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๓ และวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ บริษัท ชินคอร์ปฯ ก็ยังคงลงนามเป็นคู่สัญญา และสัญญาก็ยังมีผลใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน

***ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าบริษัท ชินคอร์ปฯ ไม่ใช่บริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม แต่เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเป็นผู้ลงทุนในธุรกิจต่างๆหรือที่เรียกกันโดยสากลว่า “ โฮลดิ้งคอมปานี” (Holding Company) คือบริษัทจะไม่ดำเนินกิจการเอง แต่เพียงไปถือหุ้นในบริษัทต่างๆโดยจะไม่เข้าไปก้าวก่ายในการบริหารจัดการบริษัทที่ไปลงทุนนั้น รับฟังไม่ขึ้น

ตามรายงานประจำปี ๒๕๔๘ ของบริษัท ชินคอร์ปฯ ข้อมูล ณ วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙ บริษัท ชินคอร์ปฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการโทรคมนาคม ดังนี้

- บริษัท เอไอเอส ซึ่งประกอบธุรกิจเป็นผู้ดำเนินงานและให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ ๙๐๐ MHz Celluiar โดยได้รับสัมปทานจากบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เป็นจำนวนถึงร้อยละ ๔๒.๘๐ ของหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้

- บริษัท ชินแซทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจดำเนินการและบริหารโครงการดาวเทียมสื่อสารและให้บริการวงจรดาวเทียมเพื่อการสื่อสารทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นจำนวนถึงร้อยละ ๔๑.๓๔ ของหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้

- บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจดำเนินธุรกิจด้านสถานีวิทยุและโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ และให้เช่าอุปกรณ์การผลิตรายการ ผลิตรายการโทรทัศน์และจัดกิจกรรมทางการตลาดที่เกี่ยวข้อง เป็นจำนวนถึงร้อยละ ๕๒.๙๓ ของหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้

***แก้กม.เปิดทางต่างด้าวถือหุ้นก่อนขายให้สิงคโปร์ ***

ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ มาตรา ๘ วรรคสาม (๑) ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าว และต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งหมายถึง ผู้ถือหุ้นในนิติบุคลดังกล่าวจะเป็นบุคคลต่างด้าวได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕

***ดังนั้น บริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม หุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพินทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นแทน ไม่สามารถขายให้กับบุคคลต่างด้าวได้เนื่องจากมีจำนวนเกินกว่าร้อยละ ๒๕ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้

แต่ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวเป็นหัวหน้ารัฐบาลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวจนผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และออกเป็นพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งได้แก้ไข (๑) ของมาตรา ๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ดังกล่าว เป็น ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และไม่มีบทบัญญัติให้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมดและผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่อย่างใด

เป็นผลให้บริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม สามารถมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ถึงไม่เกินร้อยละ ๕๐ และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ มีผลใช้บังคับในวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๙

ต่อมา ปรากฏว่าในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ได้มีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพินทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท

ซึ่งการเจรจาซื้อขายหุ้นดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าเป็นจำนวนมากต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลานาน โดยผู้ซื้อก็ต้องมีดวามมั่นใจในความถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ ที่บุคคลต่างด้าวสามารถถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปฯ ได้ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส สามารถขายหุ้นดังกล่าวได้ทันทีในวันจันทร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙

การที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวมีการเสนอมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ผ่านการพิจารณาประกาศใช้ จนกระทั่งผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเสนอพระราชบัญญัติจนได้ประกาศใช้บังคับ และผู้ถูกกกล่าวได้ประโยชน์สามารถขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ดังกล่าว ได้ทันที คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวของผู้ถูกกกล่าวจึงรับฟังไม่ขึ้น

***สรุปความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบฯ

***คณะกรรมการตรวจสอบฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา ได้รับเสียงข้างมากมาจากประชาชน การดำเนินบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้รัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จึงถือได้ว่าได้รับความไว้วางใจจากประชาชนตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจในการบริหารประเทศก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือ “ประโยชน์สาธารณะ” ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองจึงมีความชอบธรรมในการมีอำนาจเหนือประชาชนเพราะการดำเนินการของรัฐเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น “ประโยชน์สาธารณะ” จึงเป็นรากฐานอันสำคัญของอำนาจรัฐหรือเป็นรากฐานอันสำคัญของการใช้อำนาจมหาชน

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในทุกประการ”

***แต่การบริหารประเทศของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร หาได้เป็นไปตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณไว้ไม่ แต่กลับมีพฤติการณ์ในการกระทำที่เป็นการคอรัปชั่นในทางนโยบายระดับสูง หรือเรียกว่า “การทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน” กล่าวคือ


***ก.) เป็นการใช้อำนาจทางการเมืองระดับสูง

***ข.) การใช้อำนาจการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือประโยชน์ของประชาชนโดยรวม

***และ ค.) การใช้อำนาจทางการเมืองดังกล่าวมุ่งหมายเพื่อทำลายหลักพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อแสวงประโยชน์สำหรับตนเอง หรือพวกพ้อง พฤติการณ์ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบฯได้กล่าวมาข้างต้นเป็นพฤติการณ์ที่เข้าเงื่อนไขลักษณะของการกระทำที่เป็นการคอรัปชั่นในทางนโยบายระดับสูง หรือการทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้นำมาตรการเพื่อตรวจสอบป้องปรามการกระทำที่เป็นการคอรัปชั่นในทางนโยบายระดับสูง หรือการทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ดังนี้

ก) กำหนดมาตรการถอดถอนรัฐมนตรีที่ฝ่าฝืนต่อความไว้วางใจของประชาชน ให้เป็นสิทธิและกระบวนการทางกฎหมายที่จะยื่นคำร้องถอดถอนโดยประชาชนหรือสมาชิกวุฒิสภา แทนที่จะเป็นกระบวนการทางการเมืองจำกัดอยู่แต่ในสภาผู้แทนราษฎรเหมือนเช่นแต่ก่อน

ข) ขยายมาตรการควบคุมมิให้รัฐมนตรีถือประโยชน์ทับซ้อน หรือกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

ค) กำหนดมาตรการยุบพรรคการเมืองโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อพรรคนั้นกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง และ ง) รับรองสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า หลักการห้ามไม่ให้ผลประโยชน์ส่วนตนขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักรัฐธรรมนูญและหลักดังกล่าวกำหนดไว้ในมาตรา ๑๐๐ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งหน้าที่ของตน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นวินัยของนักการเมือง สำหรับพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติจากกรณีของการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ฐานทางกฎหมายในเรื่องนี้ก็มีที่มาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ในปัจจุบัน มาตรา ๔ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ได้บัญญัติจำแนกพฤติการณ์“ร่ำรวยผิดปกติ” ไว้เป็นสองลักษณะคือ

- มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ โดยไม่สามารถชี้แจงถึงที่มาของทรัพย์สินนั้นได้ โดยส่วนที่ชี้แจงไม่ได้นี้จะถูกเรียกว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” และขอศาลสั่งยึดเฉพาะทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องนี้เท่านั้น

- ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเป็นกรณีที่ฝ่ายตรวจสอบทราบดีถึงที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมานั้นว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องตำแหน่งหน้าที่

โดยความเข้าใจถึงระบบกฎหมายปราบคอรัปชั่น และพัฒนาการของมาตรการยึดทรัพย์ดังที่กล่าวมาข้างต้น มาตรการยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตฝ่าฝืนถือประโยชน์ทับซ้อน จึงมีอยู่ในระบบกฎหมายไทยโดยมีหลักรัฐธรรมนูญรองรับ
 
***ส่งอสส.ฟ้องทำผิด รธน. กม.ป.ป.ช. - ยึดเงินคืนแผ่นดิน

***การที่ผู้ถูกกล่าวได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพินทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมจากรัฐ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๑๐ มาตรา ๒๐๘ มาตรา ๒๐๙ มาตรา ๒๙๑ และมาตรา ๒๙๒

***พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๔ มาตรา ๕ และมาตรา ๖ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๑๐๐ ซึ่งมีความผิดอาญาตามมาตรา ๑๑๙ และมาตรา ๑๒๒

***และในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหากระทำการ อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก

ต่อมา เมื่อได้ประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙ ได้ขายหุ้นดังกล่าวให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ – ๒๕๔๘ บริษัท ชินคอร์ปฯ ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมด ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด จำนวน ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท

***เงินจำนวนดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติเห็นควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าว จำนวน ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘๐

***คตส. จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร หลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ข้อ ๙

***ทั้งนี้ ให้ส่งรายละเอียดรายการทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบได้มีคำสั่งอายัดไว้ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ข้อ ๕ และข้อ ๘ ไปให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นต่อศาลเพื่อมีคำสั่งศาลอายัดทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปด้วย ส่วนมูลคดีอาญาของผู้เกี่ยวข้องที่ตรวจสอบพบนั้น ให้แจ้งข้อกล่าวหาโดยเร็ว

***อสส.ส่งฟ้อง ศาลฎีกาฯนัดฟังคำสั่งรับคดีหรือไม่ 3 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. เวลา 11.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นำสำนวนการสอบสวนจำนวน 3 ลัง 20 แฟ้ม รวม 19,933 แผ่น พร้อมความเห็นของ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ที่สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย
 
ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100, 122 ต่อศาลฎีกาฯ

หลังจากนี้ ประธานศาลฎีกา จะกำหนดนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน เพื่อรับผิดชอบพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เมื่อได้องค์คณะทั้ง 9 คนแล้ว องค์คณะจะประชุมพิจารณาเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมตรวจสำนวนคำฟ้อง เพื่อพิจารณาว่าจะมีคำสั่งว่ารับหรือไม่รับฟ้องคดี หรือไม่อย่างไร โดยศาลฯ นัดฟังคำสั่งรับฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 3 ก.ย. 51 นี้

กำลังโหลดความคิดเห็น