คตส.มีมติส่ง อสส.ฟ้อง “ทักษิณ” ให้ศาลยึดทรัพย์กว่า 7.7 หมื่นล้านบาท ฐานใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท ชินคอร์ป และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก อีกทั้งบิดเบือนการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ครอบงำรัฐสภา ทำลายระบบกฎหมาย และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือธุรกิจครอบครัว
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พร้อมด้วย นายแก้ว สรร อติโพธิ เลขานุการ คตส.พร้อมด้วย นายบรรเจิด สิงคเนติ ร่วมแถลงผลการประชุม คตส. โดย นายสัก กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติดำเนินคดีทางแพ่งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีกระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ โดยให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สิน จำนวน76,621,603,061.50 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80
นายสัก กล่าวว่า โดยเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 110 มาตรา 208, 209, 291 และ 292 ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4, 5 และ 6 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32, 33 และ 100 ซึ่งมีความผิดอาญาตามมาตรา 119 และ 122 และในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหากระทำการ อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก และเมื่อได้ประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ได้ขายหุ้นดังกล่าวให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,722,880,932.05 บาท
นายสัก กล่าวว่า นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2546-2548 บริษัท ชินคอร์ป ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับ เนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด จำนวน 76,621,603,061.05 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มา เนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติเห็นควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าว จำนวน 76,621,603,061.05 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80 โดยในวันพฤหัสที่ 29 พ.ค.นี้ คตส.จะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดต่อไป
ด้าน นายแก้วสรร อติโพธิ กล่าวว่า ผู้ถูกกล่าวหา และคู่สมรส คือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อ นายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพิณทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ บริษัท แอมเพิล ริช อินเวสเมนท์ จำกัด และ บริษัท วินมาร์ค จำกัด (Win Mark) เป็นผู้ถือหุ้นแทน จำนวนทั้งหมด 1,419,490,150 หุ้น “ตามผลการตรวจสอบของสำนักงาน ก.ล.ต.ก็ปรากฏข้อเท็จจริง แต่เพียงหนังสือของ นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ยอมรับว่า ได้รับซื้อและเข้าถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 เท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่มีการยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ที่สนับสนุนว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้โอนหุ้นดังกล่าวให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร แล้วจริง ซึ่งสอดคล้องกับผลตรวจสอบสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ก.ล.ต.ที่พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า บริษัท วินมาร์ค จำกัด เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้น (Nominee) พ.ต.ท.ทักษิณ และคู่สมรส และเมื่อหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่ถือโดยบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสเมนท์ จำกัด มาฝากรวมกันกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่ถือโดยบริษัท วินมาร์ค จำกัด โดยให้ ธนาคารยูบีเอส เอจี สิงคโปร์ ผู้รับจัดการดูแลหุ้นและบัญชีดังกล่าวแทน คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าได้โอนขายให้ นายพานทองแท้ ชินวัตร ไปแล้วจึง รับฟังไม่ขึ้น” นายแก้วสรร ระบุ
นายแก้วสรร กล่าวว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายสัตย์ปฏิญาณ ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในทุกประการ” แต่การบริหารประเทศของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร หาได้เป็นไปตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณไว้ไม่ แต่กลับมีพฤติการณ์ในการกระทำที่เป็นการคอร์รัปชันในทางนโยบายระดับสูง หรือเรียกว่า “การทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน” กล่าวคือ ก) เป็นการใช้อำนาจทางการเมืองระดับสูง ข) การใช้อำนาจการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประโยชน์ของประเทศชาติ หรือประโยชน์ของประชาชนโดยรวม และ ค) การใช้อำนาจทางการเมืองดังกล่าวมุ่งหมายเพื่อทำลายหลักพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อแสวงประโยชน์สำหรับตนเอง หรือพวกพ้อง พฤติการณ์ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบฯได้กล่าวมาข้างต้นเป็นพฤติการณ์ที่เข้าเงื่อนไขลักษณะของการกระทำที่เป็นการคอรัปชั่นในทางนโยบายระดับสูง หรือการทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน
ขณะที่ นายบรรเจิด กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังใชอำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัว ประกอบด้วย 1.ได้สั่งการมอบนโยบายให้ในการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2547 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2547 พ.ศ.2546 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 และ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพสามิต
“การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ขัดต่อกระบวนการทางรัฐสภา ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แอบแฝง ทั้งกรณีเพื่อประโยชน์ในการแปลงสัญญาร่วมการงานในกิจการโทรคมนาคมโดยใช้ภาษีสรรสามิต และการใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการกีดกันผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เอไอเอส และทำให้ บริษัท ทีโอที และ บริษัท กสท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐอ่อนแอลงตลอดจนการไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งๆ ที่เป็นกิจการโทรคมนาคมและเป็นกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือได้ว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เป็นการกระทำในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยการใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญบิดเบือนการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ใช้อำนาจทางบริหารครอบงำกระบวนการทางรัฐสภา ทำลายระบบกฎหมายและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ” นายบรรเจิด กล่าว
นายบรรเจิด กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบกรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เอไอเอส เพื่อให้บริษัท เอไอเอส มีความได้เปรียบคู่แข่งในทางธุรกิจ โดยบริษัท เอไอเอส ได้รับประโยชน์แล้ว ตั้งแต่มีการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา เป็นจำนวนเงิน 14,213.75 ล้านบาท และจะได้รับประโยชน์ในอนาคตถึง วันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานอีกจำนวน 56,658.28 ล้านบาท รวมเป็นประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับจากการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเป็นจำนวนเงิน 70,872.03 ล้านบาท ซึ่งทำให้ ทศท.สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับประมาณ 70,872.03 ล้านบาท ตามที่ ทศท.ได้คำนวณไว้ตามตารางเปรียบเทียบประมาณการส่วนแบ่งรายได้
นายบรรเจิด กล่าว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมิชอบหลายกรณีเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัท ชินแซท คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียม IPSTAR โดยมิชอบ กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ได้ประโยชน์จากการไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนในโครงการดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อใช้เป็นสำรองดาวเทียมไทยคม 3 มูลค่า 4,000 ล้านบาท และได้ประโยชน์จากการไม่ต้องดำเนินกระบวนการรับสัมปทานใหม่จากโครงการดาวเทียม IPSTAR มูลค่า 16,000 ล้านบาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2534 รวมถึงกรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) รวมเป็น 4,000 ล้าน เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวก มีผลประโยชน์ในหุ้นอยู่ ให้ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาล สหภาพพม่า โดยใช้เงินกู้สินเชื่อดังกล่าวเป็นจำนวนเงินตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ