xs
xsm
sm
md
lg

ภูเขาไฟยักษ์เคยระเบิดใต้แอนตาร์กติกา ปัจจุบันก็ยังปะทุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์/เอเอฟพี - ภูเขาไฟขนาดใหญ่เคยปะทุใต้แผ่นน้ำแข็งทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน และเชื่อว่าน่าจะยังมีความคุกรุ่นอยู่จนถึงทุกวันนี้ นำไปสู่ข้อสงสัยว่าปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกที่ลดปริมาณลงเกี่ยวข้องกับการค้นพบครั้งนี้หรือไม่

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากบาส (BAS : British Antarctic Survey) ของประเทศอังกฤษ เปิดเผยการค้นพบชั้นขี้เถ้าภูเขาไฟ และผลึกเศษแก้วที่ทั้งหมดล้วนเป็นน้ำแข็ง ที่บริเวณตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกา นับเป็นหลักฐานแรกที่ชี้ชัดว่าที่ขั้วโลกใต้มีภูเขาไฟที่เคยระเบิดมาก่อน

เหตุระเบิดครั้งนั้น นักวิจัยเชื่อว่าเกิดเมื่อ 2,000 ปีก่อน และพวยพุ่งทะลุชั้นน้ำแข็ง ก่อให้เกิดกระแสน้ำและเศษหินกระเด็นกระจัดกระจายไปทั่ว นับได้ว่ามีความรุนแรงอย่างมาก โดยพวกเขาคำณวนได้ว่าแรงระเบิดจากภูเขาไฟส่งเศษฝุ่นหินทะลุชั้นน้ำแข็งหนาสู่อากาศเป็นระยะทางถึง 12 ก.ม.

อย่างไรก็ดี สถานการณ์แผ่นดินไหวของแอนตาร์กติกาถือว่าอยู่ในระดับเสถียร แต่ในแถบตะวันตกก็มีแนวแผ่นเปลือกโลกพาดผ่าน ซึ่งแน่นอนว่ามีโอกาสเกิดภูเขาไฟ และพลังงานความร้อนใต้พิภพพวยพุ่งขึ้นมาตามรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกเหล่านั้น

ทั้งนี้ทีมวิจัยของบาสรายงานการค้นพบดังกล่าวผ่านวารสารเนเจอร์ จีโอไซน์ (Nature Geoscience) ของอังกฤษ พร้อมทั้งระบุว่าขั้วโลกใต้เคยมีการระเบิดของภูเขาไฟใต้แผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมาความหนาหลายร้อยเมตร ทำให้เกิดคำถามว่า ภูเขาไฟอาจทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็ง ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก

ภูเขาไฟที่ค้นพบนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาฮัดสัน คาดว่าเคยเกิดระเบิดขึ้นในราวปี 207 ก่อนคริสตกาล (บวก-ลบไม่เกิน 240 ปี)

หลักฐานดังกล่าวได้จากความร่วมมือสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางอากาศระหว่างอังกฤษกับสหรัฐ ในระหว่างปี 2547-2548 โดยใช้เรดาร์สำรวจลึกลงไปใต้แผ่นน้ำแข็งเพื่อทำแผนที่สภาพภูมิประเทศเบื้องล่าง

ทีมวิจัยตรวจพบพื้นที่ความกว้าง 23,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าแคว้นเวลส์ ของสหราชอาณาจักร และจากการตีความสัญญาณที่สะท้อนกลับมายังเรดาร์ เชื่อว่าเป็นชั้นของหินและเถ้าถ่านที่เกิดมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ

สิ่งที่พวยพุ่งออกมานั้น นักวิจัยพบร่องรอยว่ามีปริมาณ 0.31 ลูกบาศก์กิโลเมตร นับเป็นระดับวีอีไอ 3-4 ตามดัชนีการปะทุของภูเขาไฟ (Volcanic Explosive Index : VEI) โดยเทียบกับการระเบิดของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนในปี 2523 ที่มีระดับ 5 ส่วนปินาตูโบในปี 2534 ที่มีดัชนีความรุนแรงถึงระดับ 6

"เราเชื่อว่านี่เป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในแอนตาร์กติกา ในช่วง 10,000 ปีให้หลังเป็นอย่างน้อย" ฮิวจ์ คอร์ (Hugh Corr) นักวิจัยของบาสเผย เพราะการระเบิดสร้างหลุมน้ำแข็งขนาดใหญ่ และน่าจะปลดปล่อยควันยักษ์สู่อากาศถึง 12 ก.ม. โดยเปรียบเทียบกับภูเขาไฟที่ค้นพบในไอซ์แลนด์ (Iceland)

บริเวณที่ภูเขาไฟปะทุน่าจะใกล้กับธารน้ำแข็งที่เกาะพาย (Pine Island Glacier) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ธารน้ำแข็งเคลื่อนตัวลงสู่ทะเล ซึ่งมีความเร็วของการเคลื่อนที่ในอัตราเร่งในช่วงหลายทศวรรษหลัง

"เป็นไปได้ว่าความร้อนจากภูเขาไฟเป็นเหตุให้เกิดธารน้ำแข็งละลาย จนไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว" เดวิด วอฮาน (David Vaughan) นักวิจัยจากบาสเผย ซึ่งเขาครุ่นคิดมานานแล้วว่าสาเหตุที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายหนักข้อขึ้นทุกวันนั้นน่าจะเกิดมาจากสาเหตุทำนองนี้

อย่างไรก็ดี ความร้อนจากภูเขาไฟไม่สามารถจะนำไปด่วนสรุปว่าเป็นเหตุหลัก ทำให้ธารน้ำแข็งในแถบตะวันตกของแอนตาร์กติกละลายจนความหนาลดลงปีละ 0.2 มิลลิเมตรได้ ทว่าเหตุหลักที่เป็นไปได้อย่างแน่นอนก็คือน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ซึ่งทั้งจากชั้นบรรยากาศที่มีเก็บกักความร้อน และความร้อนใต้พิภพต่างเป็นตัวแปรสำคัญ



กำลังโหลดความคิดเห็น