xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรันเวย์น้ำแข็งปลายเส้นทางบินสายออสเตรเลีย-แอนตาร์กติกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เที่ยวบินประวัติศาสตร์นำพาผู้โดยสารจากออสเตรเลียลงจอดบนพื้นทวีปน้ำแข็ง "แอนตาร์ติกา" อย่างนุ่มนวล เปิดศักราชแห่งการวิจัย อำนวยความสะดวกนักวิทยาศาสตร์สู่ขั้วโลกใต้



นานกว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ความคิดสร้างรันเวย์หรือทางวิ่งเครื่องบินบนพื้นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกาผุดขึ้นมาในหมู่มวลมนุษย์ และในปี 2551 เครื่องบินแอร์บัสเอ 319 (A319) จากโฮบาร์ต (Hobart) เมืองหลวงของรัฐแทสมาเนีย ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ลงจอดที่รันเวย์วิลคินส์ (Wilkins) ใกล้ๆ กับสถานีวิจัยเคซีย์ของออสเตรเลียในแอนตาร์กติกา (Australian Antarctic Division's Casey Station)


รมต.สิ่งแวดล้อมอดีตนักร้องขาร็อกโพสต์ท่ากับเครื่องบินบนรันเวย์น้ำแข็ง

ปีเตอร์ การ์เร็ตต์ (Peter Garrett) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กว่า 20 คน รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ และสื่อมวลชนร่วมเดินทางด้วยเที่ยวบินอย่างเป็นทางการสู่แอนตาร์ติกา เมื่อวันที่ 11 ม.ค.51

รันเวย์วิลคินส์อันเป็นจุดหมายปลายทางการของการเดินทางครั้งนี้ยาว 4 ก.ม. กว้าง 700 ม. ลึก 500 ม. ห่างจากชายฝั่งทะเลเข้าไป 20 ก.ม. และจะเลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 12 ม. ทุกๆ ปี เพราะธารน้ำแข็งที่ลอยออกไป ซึ่งทางวิ่งเครื่องบินน้ำแข็งบนขั้วโลกใต้นี้อาศัยเทคโนโลยีเลเซอร์ในการขุดถากทาง ใช้เวลาสร้างราว 2 ปีด้วยเจ้าหน้าที่ 8 คนกับงบประมาณ 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

"รันเวย์แห่งนี้เรียบและลงจอดได้อย่างนุ่มนวล มากกว่าอีกหลายๆ แห่งตามท่าอากาศยานนานาชาติทั่วโลก" แกร์รี สตัดด์ (Garry Studd) กัปตันแห่งเที่ยวบินสู่ขั้วโลกใต้กล่าวอย่างชืนมื่น โดยรันเวย์ที่แสนสมูธนี้ใช้ชือตามเซอร์ฮูเบิร์ต วิลคินส์ (Sir Hubert Wilkins) นักผจญภัยและนักบินผู้นำพาเที่ยวบินแรกของมวลมนุษยชาติสู่ขั้วโลกใต้เมื่อ 79 ปีก่อน


สถานีวิจัยเคซีย์อยู่ชายฝั่งทางเหนือของแอนตาร์กติกา นับเป็นพรมแดนที่ใกล้กับออสเตรเลียที่สุด นักวิจัยออสซี่ใช้บริเวณนี้ตั้งเขตแดนวิจัยในขั้วโลกใต้

การพัฒนาเส้นทางสู่ขั้วโลกใต้ให้มาง่ายไปง่ายเช่นนี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายแอนตาร์กติกของออสเตรเลียมาทำงานวิจัยและศึกษาเรื่องต่างๆ นานาบนทวีปน้ำแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสำคัญอย่างสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ผู้ที่ต้องการทำงานวิจัยบนทวีปน้ำแข็ง ต้องอดทนล่องเรือมากกว่า 2 สัปดาห์สู่สถานีเคซีย์ แต่เส้นทางบินนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 4 ชั่วโมงครึ่งจากโฮบาร์ตสู่วิลคินส์ และจอดพักเครื่อง 3 ชั่วโมงก่อนจะมุ่งหน้ากลับโฮบาร์ต

เครื่องบินที่นำมาใช้บนเส้นทางนี้ทางออสเตรเลียอวดว่า เป็นเครื่องบินเจ็ตชนิดใหม่ ที่สามารถไปกลับได้โดยไม่ต้องพักเติมเชื้อเพลิง ทำให้ลดปัญหามลพิษที่อาจจะเกิดระหว่างเติมพลังงานบนเกาะน้ำแข็ง

ขณะเดียวกัน ชาติอื่นๆ ที่มีสถานีวิจัยอยู่ในแอนตาร์ติกาต่างก็บินสู่พื้นที่เป้าหมายมานานแล้ว ทว่าพวกเขาใช้เครื่องบินทหาร และเริ่มต้นจากนิวซีแลนด์หรือไม่ก็แอฟริกาใต้ แต่เที่ยวบินโดยสารเส้นทางนี้จะช่วยให้พวกเขาเดินทางได้ง่ายขึ้น

แม้จะมีเที่ยวบินสู่ขั้วโลกใต้สัปดาห์ละครั้งในช่วงฤดูร้อนคือเดือน ต.ค.-มี.ค. แต่ก็เพื่อขนนักวิจัยเท่านั้น ยังไม่มีการเปิดให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวแต่อย่างใด.



คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพขั้วโลกเหนือและเที่ยวบินน้ำแข็งเพิ่มเติม


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia



เที่ยวบินปฐมฤกษ์บรรทุก 19 เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย นักวิทยาศาสตร์อีก 7 และสื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่ง








สถานีวิจัยเคซีย์ ห่างจากรันเวย์ 65 ก.ม.

กำลังโหลดความคิดเห็น