สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน "12 ปี รัตนราชสุดา สารสนเทศ" ตรัสไอทีช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสได้ ทั้งในส่วนของการเกษตร การแพทย์ ชลประทาน อาหาร และไอทีช่วยนำภาพผู้ทุกข์ยากมาให้เห็นตรงหน้า ทำให้ต้องคิดว่า หากเกิดขึ้นกับเราจะทำอย่างไร ทรงระบุมีผู้ต้องการความช่วยเหลือจำนวนมาก ซึ่งทรงช่วยเท่าที่ทรงทำได้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน "12 ปี รัตนราชสุดา สารสนเทศ” เมื่อวันที่ 20 พ.ย.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ โดยมีนายขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะเฝ้ารับเสด็จฯ
ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หากนำมาใช้ให้ถูกวิธี จะสามารถช่วยในการพัฒนาภูมิปัญญา สร้างพลังและความเข้มแข็งให้แก่บุคคล ชุมชน และสังคม เนื่องจากเป็นเครื่องมือช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้ การส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างแพร่หลาย ควรจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบถี่ถ้วน โดยเฉพาะในเรื่องคน เพื่อจะสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขีดความสามารถ รวมถึงด้านเทคนิค วิธีการ การคิด การวิเคราะห์ การกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนสร้างจิตสำนึกเรื่องคุณธรรม จริยธรรม อันจะส่งผลให้คนและสังคมได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี
จากนั้นทรงกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในสังคม” ใจความว่า เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอซีที เป็นเรื่องที่ใช้กันมากและพูดกันมานาน ซึ่งไอซีทีในที่นี้หมายถึงอุปกรณ์หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสามารถให้เกิดการติดต่อระหว่าง คนกับคน คนกับเครื่อง และเครื่องกับเครื่อง โดยการใช้ให้เป็นประโยชน์หรือโทษนั้นจะโทษอุปกรณ์ไม่ได้ เครื่องมือก็คือเครื่องมือ จะดี ไม่ดี อย่างไรขึ้นอยู่กับว่าคนจะเอาไปใช้เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
สำหรับนิยามของผู้ด้อยโอกาส มีผู้นิยามไว้มาก จำแนกให้แน่ชัดได้ยาก บางคนนิยามไว้ว่า ผู้ประสบความเดือดร้อนในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ภัยธรรมชาติ ภัยสงคราม ผู้ขาดโอกาสเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ อันส่งผลให้การใช้ชีวิตไม่เท่าเทียมผู้อื่น บ้างแห่งก็นิยามไว้ว่า ผู้ที่เกิดมาแล้วควรจะได้สิทธิขั้นพื้นฐานแต่ไม่ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ คนเราเกิดมาต้องมีศักดิ์ศรีความเป้นมนุษย์ที่จะดำรงชีวิตได้
"ไอซีทีไปช่วยเหลือให้ผู้ด้อยโอกาสดีขึ้นได้อย่างไรก็ต้องคิดกันหลายประเด็น ทางด้านอาหารก็มีการประชุมระดับโลกที่พูดกันว่าการได้รับอาหารที่ถูกต้องคือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้สิทธิขั้นพื้นฐานนี้ มีคนที่ด้อยโอกาสทางอาหารมากมายและข้อมูลสื่อมวลชนช่วยให้รู้ได้มาก ซึ่งธรรมดาเราไม่รู้ว่าคนที่ขาดอาหารอยู่ที่ไหนบ้าง แต่เดี่ยวนี้ข้อมูลไอซีทีได้นำข้อมูลคนที่ถูกทารุณ คนที่ถูกทรมาน มาสู่สายตาเรา ตรงหน้าเรา ทำให้ต้องคิดว่า หากเกิดกับเราแล้วจะทำอะไรได้"
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตรัสว่า ไอซีทีมีบทบาทต่อการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทั้งด้านอาหาร การเกษตร ชลประทาน พยากรณ์อากาศ ไปจนถึงการคำนวณการให้อาหารสัตว์ พร้อมทรงยกตัวอย่างประเทศอินเดียได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยคำนวณสูตรอาหาร ที่ให้แม่บ้านนำไปประกอบอาหารได้ถูกปากและมีคุณค่าทางโภชนาการด้วยโปรตีนถั่วเหลือง ทั้งนี้พระองค์เองได้ทรงโหลดข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตช่วยให้ทรงทราบข้อมูลเกี่ยวกับเด็กด้อยโอกาสคล้ายๆ ในเมืองไทย
นอกจากนี้ไอซีทียังนำไปใช้ทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งถือเป็นผู้ด้อยโอกาส เพราะไม่สามารถทำอะไรได้อย่างคนปกติ ทั้งนี้ได้เสด็จทอดพระเนตรงานที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการใช้วิทยุในการสื่อสารระหว่างคนไข้และแพทย์ โดยคนไข้บอกอาการแก่แพทย์และแพทย์ก็จะบอกวิธีรักษา นับเป็นไอซีทีในยุคแรกๆ แต่สมัยนี้เทคโนโลยีดีขึ้น สามารถเห็นภาพและส่งได้ แต่การนำไปใช้ก็ต้องดูว่าคุ้มกับค่าใช้จ่ายหรือไม่
ตอนหนึ่งในปาฐกถาของพระองค์ ทรงตรัสถึงโครงการทำระบบอี-เลิร์นนิงของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อช่วยเหลือเด็กในถิ่นทุรกันดาร ทั้งนี้ได้ทรงแนะให้นักเรียนที่เรียนทางไกลผ่านดาวเทียมซึ่งเรียนไม่รู้เรื่องเนื่องจากตามไม่ทันว่า ให้จดเพื่อให้จำได้ เพราะคนเราบางคนก็ไม่ได้ฉลาดที่จะฟังครั้งเดียวแล้วจำได้ทั้งหมด ต้องฟังหลายๆ ครั้งให้จำได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวคือการนำเนื้อหาความรู้มาเผยแพร่ในรูปแบบออฟไลน์
สมเด็จพระเทพตรัสว่าโครงการไอซีทีส่วนพระองค์นั้นถือเป็นโครงการเอกชน ทำได้ก็เป็นพลเมืองดี ทำได้ในฐานะเพื่อนฝูง โดยในระยะเริ่มต้นรัฐบาลก็ช่วยเหลือในรูปของเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งได้ทรงทำงบอย่างถี่ถ้วนเพื่อไม่ใช้เกินตัว ทั้งนี้ทุกคนต้องการความช่วยเหลือแต่ก็เกินกว่าจะช่วยเหลือได้ทั้งหมด ทรงทำเท่าที่ทรงทำได้ หากใครมีหรือพอมีก็ช่วยเหลือกันต่อ
สำหรับงาน 12 ปี รัตนราชสุดา สารสนเทศ จัดขึ้นระหว่างวันทีีี่ 20-22 พ.ย.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเผยแพร่แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา รวมถึงเผยแพร่ผลงานและตามสำเร็จของโครงการ อีกทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้และประสบการณื ระหว่างนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ
ผลงานที่จัดแสดงภายในงานเป็นผลงานภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ใน 4 กลุ่ม คือ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาสำหรับโรงเรียนในโครงการ ทสรช. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กพิการ อาทิ เครื่องฝึกการออกเสียง โปรแกรมสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนผู้พิการทางสายตา เป็นต้น เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อผู้ต้องขัง และเทคโนโลยีเพื่อเด็กป่วยเรื้อรัง.