xs
xsm
sm
md
lg

“สื่อนอก”ระบุเหตุการณ์ภาคใต้ยังแรง ทหารถูกหาทำร้ายมุสลิมยิ่งโหมไฟแค้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – สำนักข่าวเอเอฟพี เผยแพร่รายงานที่เขียนโดย แคลร์ ทรูสกอตต์ พูดถึงปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในประเด็นเรื่องที่ชาวบ้านยังเชื่อว่ามีทหารไทยทำร้ายประชาชนในท้องถิ่น

รายงานชิ้นนี้เปิดเรื่องโดยบอกว่า มุคตาร์ เด็กหนุ่มวัย 16 ปี เล่าว่าขณะที่เขากำลังเดินเพื่อไปชมการแข่งขันฟุตบอลในท้องถิ่น ก็ถูกทหารไทยกลุ่มหนึ่งยิงที่ศีรษะ จากนั้นก็เตะเขาลงไปในคูน้ำหวังจะให้ตาย

ทว่า อีกสามสัปดาห์ถัดมา มุคตาร์ก็ฟื้นขึ้นมา เขาอยู่ในโรงพยาบาลและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบเจาะคอ กระสุนปืนเจาะกะโหลกศีรษะเขาและถูกตาทั้งสองข้าง

เจ๊ะมา มาร์มิง ผู้เป็นพ่อ บอกว่าขณะเกิดเหตุพวกทหารเมาเหล้าและกลัวว่าจะถูกโจมตีโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งการก่อความไม่สงบของพวกเขาได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 3,300 คนในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา

ใบหน้าที่ผิดรูปไปของมุคตาร์ปิดไว้ด้วยสำลีปิดแผลสองแห่งด้วยกัน แต่ดวงตาที่ครั้งหนึ่งเคยมองเห็นโลก ยังชุ่มโชกด้วยน้ำตา

ทุกวันนี้เขาใช้เวลาแต่ละวันค่อย ๆ เดินสำรวจไปตามพื้นไม้ในบ้านมุงสังกะสี ส่วนของสมองที่ถูกทำลายไปทำให้เขาเสียการทรงตัวอีกทั้งยังปัสสาวะรดที่นอน

“ผมโกรธพวกทหารมากเพราะไม่รู้ว่าทำไมต้องทำกับผมอย่างนี้ด้วย” มุคตาร์บอกกับเอเอฟพี “ผมอยากให้พวกเขาถูกยิงแบบผม แล้วก็เอาตัวขึ้นศาลด้วย”

ทว่ามีน้อยคนนักที่จะได้รับความยุติธรรมจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นรายวันตลอดแนวชายแดนภาคใต้ ซึ่งในอดีตเมื่อกว่าร้อยปีก่อนเคยเป็นรัฐมุสลิมอิสระ

ครอบครัวของมุคตาร์ได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายเพียงหนึ่งในสามของจำนวนที่เรียกร้องจากรัฐบาลทั้งหมดสี่ล้านบาท และพวกเขาก็ไม่เคยได้รับคำขอโทษจากฝ่ายทหารตามที่เคยสัญญาไว้แต่อย่างใด

พ่อแม่ของมุคตาร์ต้องลาออกจากงานมาดูแลลูก และไม่มีเงินพอที่จะส่งมุคตาร์เข้าเรียนในโรงเรียนพิเศษสำหรับผู้พิการทางสายตา

พ่อของมุคตาร์นั้นพูดได้แต่ภาษายาวี เขาต้องลงชื่อด้วยภาษาไทยในเอกสารที่เขาอ่านไม่ออก โดยเป็นสัญญาที่ระบุว่าเขาจะไม่ดำเนินการเอาเรื่องกับกองทัพอีกต่อไป

“หากรัฐบาลมีความยุติธรรม เราคงจะได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่านี้” เจ๊ะมาบอก

พวกผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการไม่เอาผิดกับทหารเช่นในกรณีดังกล่าวนี้รังแต่จะสุมเชื้อไฟแห่งความโกรธแค้นต่อรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

“การไม่ลงโทษผู้กระทำผิดคือสาเหตุสำคัญของความรู้สึกแปลกแยกและความโกรธแค้นดังกล่าว ทั้งหมดนี้มีผลอย่างยิ่งต่อการก่อความรุนแรงและเหตุการณ์ไม่สงบต่าง ๆ” สุนัย ผาสุก นักวิจัยประจำองค์กรสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์” ให้ความเห็น

เขาบอกอีกว่า ก่อนเกิดเหตุ หมู่บ้านบานาที่มุคตาร์อาศัยอยู่เป็นพื้นที่ปลอดภัยมาก แต่หลังจากมุคตาร์ถูกยิงก็เกิดเหตุเผาโรงเรียนที่นั่น ชาวบ้าน “รู้สึกว่าพวกเขาถูกรัฐบาลทำร้ายจึงทำไม่รู้ไม่เห็นกับการกระทำใด ๆ ของพวกก่อความไม่สงบ”

กรณีของมุคตาร์ยังยิ่งกระพือความโกรธแค้นของชาวบ้าน ต่อกรณีอิหม่ามยาปา กาเซ็ง ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวเมื่อเดือนมีนาคม หนำซ้ำเมื่อเดือนที่แล้วก็เกิดเหตุอิหม่ามกอร์ยา มาแซ ถูกยิงเสียชีวิตใกล้ ๆ บ้าน

ภรรยาของอิหม่ามกอร์ยาบอกว่าเพื่อนบ้านต่างสงสัยว่าจะเป็นฝีมือของทหารเพราะเห็นรถคันหนึ่งขับเข้าไปในหน่วยทหารในบริเวณใกล้เคียงหลังเกิดเหตุ

ทว่า ฝ่ายทหารปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และระบุว่าเป็นฝีมือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สวมเครื่องแบบทหารเพื่อทำให้ชาวบ้านเกลียดชังรัฐบาล

แต่การปฏิเสธเหล่านี้แทบไม่ทำให้ชาวมุสลิมในพื้นที่รู้สึกมาความมั่นใจขึ้นมา

“ตอนนี้ผมเชื่อใจทหารไม่ได้อีกแล้ว” ชายชาวยะลาวัย 73 ปีผู้หนึ่งบอก

“บางครั้งพวกเขาก็จับคนดี ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดไป” อัสมา แม่ค้าวัย 22 ปี ให้ความเห็น

ด้านจังหวัดยะลาเองก็กำลังพยายามหาทางบรรเทาปัญหาความไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยเมื่อสามเดือนก่อน มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเปิดรับคำร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ภุชงค์ โพธิกุฏสัย ปลัดจังหวัดยะลา บอกว่านับตั้งแต่เปิดศูนย์ดังกล่าว มีชาวบ้านหลายหมู่บ้านมากขึ้นที่ยอมให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปภายในพื้นที่ และมีผู้เสียชีวิตในจังหวัดยะลาลดลงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น