xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” โชว์เอกสารจัดจ้างพิมพ์บัตรเลือกตั้งวงเงินกว่า 130 ล้าน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“ดีเอสไอ” โชว์เอกสารจัดจ้างพิมพ์บัตรเลือกตั้งวงเงินกว่า 130 ล้าน ที่มีการแยกสัญญาแบ่งซื้อแบ่งจ้างให้วงเงินน้อยลง วอน กกต.ให้ความร่วมมือ หลังจากนี้ หากโยกโย้ไม่ให้ข้อมูลจะดำเนินการตามกฎหมาย ยืนยันดีเอสไอไม่ได้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดเพื่อกลั่นแกล้ง

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวชี้แจงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาโต้แย้งเรื่องอำนาจสอบสวนในคดีฮั้วประมูลการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ว่า ภายหลังดีเอสไอเข้าตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินเป็นจำนวนมาก และการจัดการเลือกตั้งโดยทุจริต ดีเอสไอได้ขอความร่วมมือจากสำนักงาน กกต.ให้ช่วยจัดส่งเอกสารต่างๆ มาให้ดีเอสไอตรวจสอบ แต่ปรากฏว่า ผู้บริหารระดับสูงของ กกต.กลับให้ข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวนคดี เพราะวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งการให้ข่าวดังกล่าวทำให้สาธารณชนเกิดความสับสน และส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตนจึงจำเป็นต้องแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด

นายธาริต กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนให้ดีเอสไอตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.หลายเรื่อง ซึ่งผลการตรวจสอบ พบว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอให้น่าเชื่อว่ามีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้โรงพิมพ์ของเอกชนพิมพ์บัตรเลือกตั้งให้ กกต.นั้น เป็นการดำเนินการในคราวเดียว มีการใช้งบประมาณเกินกว่า 100 ล้านบาท แต่ได้มีการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง แยกทำสัญญาให้วงเงินต่ำกว่า 100 ล้านบาท เป็นผลให้อำนาจการสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นความผิด ดีเอสไอต้องถือเอาวงเงินรวมที่เจตนาจัดซื้อจัดจ้างในคราวเดียวเป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการฮั้วประมูลอื่นๆ ที่ดีเอสไอรับผิดชอบอยู่เป็นจำนวนมาก จึงขอยืนยันว่ากรณีการกล่าวหาว่ามีการฮั้วประมูลพิมพ์บัตรเลือกตั้งเป็นคดีพิเศษที่ดีเอสไอมีอำนาจสอบสวนตาม พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือจาก กกต.ให้ยุติการโต้แย้งเรื่องอำนาจหน้าที่ และหันมาร่วมมือกับดีเอสไอ ด้วยการจัดส่งเอกสารหลักฐานและเข้าให้ข้อมูลตามที่ดีเอสไอร้องขอ เพื่อพิสูจน์ความจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม หากกกต.ไม่ให้ความร่วมมือตามคำร้องขอของดีเอสไอ ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ออกหมายเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานสอบสวน

“กกต.เป็นองค์กรอิสระและมีเกียรติ แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นอิสระจากการตรวจสอบ แต่อยากให้เข้าใจด้วยว่า ดีเอสไอมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบด้านการตรวจสอบ ผมจึงอยากขอร้องให้ผู้ใหญ่ของกกต.ให้ความร่วมมือกับดีเอสไอ เพื่อพิสูจน์ความจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ และขอยืนยันอีกครั้งว่าดีเอสไอไม่ได้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดเพื่อการกลั่นแกล้ง” รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าว

นายธาริต กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าในการสอบสวนคดีทุจริตการเลือกตั้งจากการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเป็นจำนวนมากนั้น ดีเอสไอได้สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องบางส่วนแล้ว เช่น โรงพิมพ์ของเอกชน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) และพยานบุคคลอีกหลายปาก เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์เกินถูกนำออกไปนอกหน่วยเลือกตั้งได้อย่างไร นอกจากนี้ ในการประชุมร่วมระหว่างพนักงานสอบสวนกับนายยุวรัตน์ กมลเวชช และ นายโคทม อารียา อดีต กกต.ในฐานะที่ปรึกษาคดีพิเศษ ได้ให้คำแนะนำว่า ก่อหน้านี้กกต.เคยพิมพ์บัตรพอดีกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และพิมพ์เกินเล็กน้อย กรณีที่การพิมพ์บัตรเกินจำนวนมากควรรับฟังเหตุผลของ กกต.ชุดปัจจุบันว่า มีเจตนา เหตุผลอย่างไร โดยพยานแวดล้อมจะมีความสำคัญมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองอธิบดีดีเอสไอได้นำประกาศสำนักงานกกต.เรื่องการประกวดราคาจ้างพิมพ์บัตรเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2550 ซึ่งลงนามโดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต. มาประกอบการแถลงข่าวด้วย โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ดีเอสไอขอให้กกต.จัดส่งมาให้ตรวจสอบ แต่กกต.ไม่ยินยอมส่งเอกสารตามคำร้องขอ ซึ่งเนื้อหาของประกาศดังกล่าวระบุว่า กกต.มีความประสงค์จะประกาดราคาพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 4 รายการ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 50,270,000 ฉบับ บัตรเลือกตั้งแบบสัดส่วน จำนวน 55,170,000 ฉบับ ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งจำนวน 5 ล้านฉบับ และบัตรทาบบัตรเลือกตั้งสำหรับผู้พิการทางสายตา จำนวน 177,000 แผ่น รวมวงเงินทั้งสิ้น 130,736,000 บาท

ต่อมา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขต 8 พรรคพลังประชาชน ได้เข้าพบรองอธิบดีดีเอสไอ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตรวจสอบการทำงานของกกต. กรณีที่นายวัฒนาเข้าร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากพบหลักฐานการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ การติดป้ายหาเสียงก่อนกกต.ประกาศพื้นที่สำหรับติดป้ายหาเสียง การติดป้ายหาเสียงในหมู่บ้านจัดสรรซึ่งเป็นสถานที่ของเอกชน และการให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์มีเนื้อหาใส่ความไม่ให้ประชาชนลงคะแนนเลือกผู้สมัครพรรคพลังประชาชน ซึ่งขณะนี้เวลาผ่านมานาน 4 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่กฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งจะต้องตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างเร่งด่วน
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.กทม.เขต 8 พรรคพลังประชาชน ได้เข้าพบรองอธิบดีดีเอสไอ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตรวจสอบการทำงานของกกต.

กำลังโหลดความคิดเห็น