xs
xsm
sm
md
lg

หลักสูตรนวดไทยไฮเทค ผุด “เดซี่” หนุนคนโลกมืดสอบใบประกอบโรคศิลปะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทย เปิดตัวแบบเรียนเดซี่ หลักสูตรนวดไทยไฮเทคเพื่อผู้พิการทางสายตา เข้าถึงโอกาสสอบใบประกอบโรคศิลปะประกอบการทำงาน ด้านมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ เครือข่ายองค์กรผู้พิการทางสายตา และวิทยาลัยราชสุดา ชี้ หมอนวดตาบอดร่วม 1,200 คน ขาดโอกาสในการเข้าถึงการสอบใบประกอบโรคศิลปะ เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิรูประบบหลักสูตรการเรียนการสอน และสนับสนุนเครือข่ายคนพิการเปิดสถานพยาบาลเฉพาะทางเพื่อรองรับการนวดแผนไทย

นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการวิชาชีพการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ผู้พิการในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตาหรือคนตาบอด แต่เขาเหล่านั้นยังได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือให้พึ่งพาตนเองได้น้อยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการมีอาชีพเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ โดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎระเบียบ ตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542

กระทั่งสามารถเปิดโอกาสให้คนตาบอดมีสิทธิสอบเพื่อรับใบประกอบโรคศิลปะได้ในสาขาการนวดไทย อย่างไรก็ตาม การจะมีสิทธิสอบได้นี้ คนตาบอดจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันและหลักสูตรการสอนที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยและประเภทการนวดไทย (หมอนวดไทย) ขึ้น เพื่อสานฝันในเรื่องที่กฎหมายเปิดโอกาสไว้แล้ว ให้เป็นจริง

“โครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยและประเภทการนวดไทย จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยต่อยอดให้ผู้พิการสามารถสร้างอาชีพของตนได้อย่างภาคภูมิใจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการให้เรื่องนี้ เป็นจริงโดยเร็วที่สุด” นพ.วิชัย กล่าว

นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า มูลนิธิได้ร่วมกับองค์กรผู้พิการทางสายตา 7 องค์กรได้แก่ 1)ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ปากเกร็ด 2) ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน 3)สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย 4) มูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด 5) มูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอดในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี 6) ศูนย์การเรียนรู้และสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี และ 7)สมาคมส่งเสริมการนวดแผนไทยคนตาบอด ได้ร่วมกันจัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อเตรียมคนตาบอดให้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะสอบใบประกอบโรคศิลปะได้

โดยโครงการนี้จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของคนตาบอด เช่น การจัดทำตำราเป็นหนังสือเสียงเดซี หนังสือตำราที่ใช้อักษรเบรลล์และภาพนูน เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการจะสนับสนุนมูลนิธิหรือเครือข่ายคนตาบอด ที่สอนนวดอยู่แล้ว ให้ได้รับการรับรองเป็นสถาบันอบรมถ่ายทอดความรู้วิชาชีพการนวดไทย ที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด


ผศ.ดร.พิมพา ขจรธรรม คณบดีวิทยาลัยราชสุดา กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจผู้พิการทางสายตาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2550 จำนวนสามแสนกว่าคน พบว่าผู้พิการส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการอ่านหนังสือ เพราะไม่สามารถอ่านได้เหมือนคนตาดีทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือด้วยระบบสัมผัสทางเสียงเช่นเทปคาสเซ็ท หรือการอ่านด้วยระบบสัมผัสเช่นอักษรเบรลล์ เพราะหนังสืออักษรเบรลล์มีความหนาเกินไปไม่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ ส่วนเทปคาสเซ็ทเองก็ไม่มีความคงทน และไม่สามารถค้นหาคำหรือประโยคได้ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับผู้พิการทางสายตา

คณบดีวิทยาลัยราชสุดา กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ทางวิทยาลัยราชสุดาจึงได้คิดค้นและจัดทำหนังสือเสียงเดซี่ (DAISY) หรือ DAISY ACCESSIBLE INFORMATION SYSTEM ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เขาต้องการค้นหาได้ ซึ่งหลักสูตรแรกที่วิทยาลัยได้จัดทำสำหรับหนังสือเสียงเดซี่ คือสื่อการเรียนการสอนสำหรับหมอนวดตาบอด ที่มีทั้งเสียงและรูปภาพแบบนูนที่ผู้พิการทางสายตา สามารถสัมผัสในหนังสือได้ ซึ่งหนังสือเสียงเดซี่นี้จะมีทั้งสองรูปแบบ คือแบบที่เป็นแผ่นซีดีที่สามารถเปิดใช้ในคอมพิวเตอร์ได้ และแบบเล่มที่เป็นรูปภาพนูนที่สามารถสัมผัสรูปภาพและนำไปปฏิบัติตามได้
จุดเด่นของหนังสือเสียงเดซี่ที่แตกต่างจากหนังสืออักษรเบรลล์และเทปเสียง ก็คือ รูปแบบอัจฉริยะและยืดหยุ่น

ตัวอย่างเช่น หากผู้พิการทางสายตานำโปรแกรมหนังสือเสียงเดซี่มาเปิดในคอมพิวเตอร์ ก็สามารถสืบค้นคำที่ต้องการค้นได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เช่น หากต้องการค้นหาคำว่า “นวดสมุนไพร” โปรแกรมก็จะค้นหาคำนั้นให้พร้อมมีเสียงประกอบ และข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการนวดสมุนไพร ก็จะวิ่งขึ้นมาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้พิการทางสายตาจะสามารถฟังเสียงตามตัวอักษรที่หน้าจอได้เลย ซึ่งโปรแกรมอื่นๆ ไม่สามารถทำได้แบบนี้ อย่างไรก็ตามหากผู้พิการไม่อยากฟังในรูปแบบของเสียงก็สามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบของภาพนูนเพื่อทำการศึกษาได้ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา สามารถเข้าถึงการสอบเพื่อให้ได้ใบประกอบโรคศิลปะด้านการนวดไทยได้

ด้านนาย เครื่อง สีบัวพันธ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมอาชีพของมูลนิธิคอลฟิลด์กล่าว ในความเป็นจริง ประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบว่า คนตาบอดมีโอกาสเข้าถึงการประกอบอาชีพและการศึกษาได้ยากอย่างยิ่ง เพราะจากตัวอย่างของคนตาบอดที่เข้ามาเรียนเรื่องการนวดในมูลนิธิคอลฟิลด์และมูลนิธิอื่นๆ นั้น ส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย แต่ผู้พิการเหล่านี้สามารถนวดได้อย่างชำนาญและลึกซึ้ง เพราะประสาทสัมผัสที่ดีกว่าคนทั่วไป รวมทั้งคนตาบอดทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพที่ทำอยู่ และเขาเหล่านั้นตระหนักว่า แม้สายตาของเขาจะพิการ แต่เขาก็สามารถประกอบอาชีพเพื่อพึ่งพาตนเองได้ และบางคนยังอาศัยอาชีพนี้ดูแลครอบครัวได้อีกด้วย

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนตาบอด สามารถอุ่นใจและมั่นใจในการประกอบวิชาชีพการนวดไทยของตนเองได้นั้นคือ “ใบประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย” ตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ที่ถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะระบุให้คนตาบอด สามารถสมัครสอบเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทยได้ แต่ขั้นตอนต่างๆ กลับยากยิ่งกว่าการสอบของผู้ที่มีสายตาปรกติ ตัวอย่างเช่น หลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการนวดไทย ที่แต่ละองค์กรเคยมีหลักสูตรของตนเอง แต่ก็แตกต่างกัน ทั้งด้านเนื้อหาวิชา ชั่วโมงการเรียนการสอน ครู สื่อการเรียนการสอน และการประเมินผล

“แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้แล้ว แต่ยังต้องการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทำให้คนตาบอด สามารถเข้ารับการสอบเพื่อใบประกอบโรคศิลปะทางการนวดแผนไทยได้อย่างแท้จริง เนื่องจากในกระบวนการสอบ คนตาบอดไม่สามารถใช้รูปแบบการสอบเหมือนบุคคลทั่วๆ ไปได้ ทั้งนี้ หากกระบวนการสอบเป็นอุปสรรคก็ไม่ต่างอะไรจากการตัดโอกาสและสิทธิของผู้พิการเหล่านั้นไปอย่างสิ้นเชิง เรื่องนี้ผมว่าเราต้องคิดและช่วยกันแก้ไขปรับปรุงอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง”นายเครื่องกล่าว

ด้าน นพ.ธเนศ กริษนัยริววงศ์ ตัวแทนจากสำนักสถานพยาบาล และการประกอบโรคศิลปะกล่าวว่า หลังจากที่กรมการแพทย์แผนไทยได้มีมติให้มีการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับผู้พิการทางสายตาที่จะมาเข้ารับการสอบให้ได้ใบประกอบโรคศิลปะ ในปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมาเราได้ขานรับในมตินี้และได้มีการพัฒนาระบบหลายส่วนที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้ามาสอบได้ง่ายขึ้น และอนาคตจะรองรับผู้พิการทางสายตาจากทางโครงการและเครือข่ายที่จะเข้ามาสมัครสอบมากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น