เคยสังเกตไหมว่า เมื่อเราไม่สบาย และไปพบแพทย์ทีไร มักได้รับยาหลากหลายชนิดและรูปแบบ โดยที่เราไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเหล่านั้นมากนัก หรือเคยสงสัยหรือไม่ว่า ยาที่เราเก็บไว้นาน จนตัวหนังสือบนฉลากเลือนรางไป แล้วเป็นยาอะไร? และยังรับประทานได้อยู่หรือไม่? แต่ก็ไม่รู้ว่าจะถามใครดี จากนี้แค่เพียงคลิ๊กเข้าไปในเว็บไซต์ "Ya & You" เราก็จะได้รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับยา
การใช้ยาผิดประเภท หรือผิดขนาด อาจเป็นสาเหตุของการรักษาที่ไม่ได้ผล และยังก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งปัญหานี้อาจมีที่มาจากการที่แพทย์ หรือเภสัชกร มีเวลาจำกัดที่จะอธิบายข้อมูลของยาให้คนไข้ฟังอย่างละเอียด หรือผู้ป่วยเองไม่กล้าซักถามข้อสงสัยจากแพทย์ รวมถึงยาที่ผู้ป่วยได้รับ มักเป็นยาที่ถูกแบ่งมาจากยากระปุกใหญ่ของสถานพยายาลนั้นๆ จึงไม่มีเอกสารยาไว้สำหรับคนไข้ทุกคน
เพื่อให้ปัญหาเหล่านี้น้อยลงหรือหมดไป มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) จึงเกิดแนวความคิดที่จะสร้างฐานข้อมูลและระบบสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาและการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี จึงนำโจทย์นี้มาปรึกษาหารือร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จนเกิดเป็นความร่วมมือกันพัฒนาเว็บไซต์ "Ya & You" หรือ "ยากับคุณ" (www.yaandyou.net) ภายใต้สโลแกนเก๋ไก๋ "สืบค้นไว อุ่นใจเมื่อใช้ยา
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยคลังอนุพันธ์ความรู้ เนคเทค เล่าว่า โครงการวิจัยและพัฒนาเว็บไซต์ "Ya & You" มีระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเพิ่งเริ่มโครงการเมื่อต้นปี 2551 โดยในช่วงปีแรก จะเน้นรวบรวมความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับยา และการใช้ยาแผนปัจจุบัน
ในปีที่ 2 จะเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่พบบ่อย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และข้อมูลของยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ
เมื่อเข้าสู่ช่วงปีสุดท้าย จะพัฒนาให้ระบบสามารถสืบค้น และแสดงผลด้วยภาพและเสียง แทนการสืบค้นด้วยตัวหนังสือ สำหรับผู้พิการทางสายตาและหู รวมถึงเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งจำหน่ายยา และอุปกรณ์การรักษาพยาบาลที่หาซื้อได้ยาก เช่น รถเข็น เป็นต้น
เว็บไซต์นี้พัฒนาขึ้น โดยการรวมเอาเทคโนโลยี 6 อย่าง ที่เนคเทคมีอยู่แล้ว มาผสมผสานเข้าด้วยกับ ได้แก่ เทคโนโลยีฐานข้อมูลและคลังข้อมูล สำหรับรวบรวม จัดเก็บข้อมูลต่างๆ ส่วนที่เหลือเป็นเทคโนโลยีสำหรับการค้นหาและการนำเสนอ ได้แก่
เทคโนโลยีการสืบค้นแบบอัจฉริยะ (Intelligent Search) เช่น สืบค้นได้แม้สะกดคำค้นไม่ถูกต้องทั้งหมด 100% หรือสืบค้นจากรูปภาพยา ด้วยการถ่ายภาพยาที่ต้องการทราบข้อมูล แล้วอัพโหลดเข้าสู่ระบบสืบค้นในเว็บไซต์ รวมทั้งการสืบค้นด้วยการออกเสียงแทนการพิมพ์, เทคโนโลยีเหมืองข้อมูล (Data Mining) ใช้ในการวิเคราะห์และสร้างความสัมพันธ์ของยาในคลังข้อมูล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ยา,
เทคโนโลยีการประมวลผลข้อความ ภาพ และเสียงพูด เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการเข้าถึงข้อมูลได้ของผู้พิการ, เทคโนโลยีในรูปแบบวิกิ (Wiki) และบล็อก (Blog) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ และเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้แก่กัน ของแพทย์และเภสัชกร
ขณะเดียวกันก็แบ่งปันความรู้ให้กับประชาชนด้วย และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแม็ป (Internet Map) หรืออินเทอร์เน็ต จีไอเอส (Internet GIS) ใช้ในการแสดงผลการสืบค้นข้อมูลบนแผนที่หรือบนแผนผัง เช่น การแสดงตำแหน่งของร้านขายยาบางชนิดที่มีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย บนแผนที่ประเทศไทย
"คล้ายกับในต่างประเทศ ที่มีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมลูกค้าที่เข้ามาซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยการบันทึกข้อมูลลูกค้า เวลาที่เข้ามาจับจ่าย และประเภทของสินค้าที่ซื้อกลับไป ซึ่งก็พบว่าช่วงบ่ายของวันเสาร์-อาทิตย์ พ่อบ้านส่วนใหญ่ที่มาซื้อเบียร์ มักซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปด้วย เจ้าของซูเปอร์มาเก็ตก็เลยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าด้วยการจัดวางเบียร์และผ้าอ้อมสำเร็จรูปไว้ใกล้กัน" ดร.จุฬารัตน์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน
"ในส่วนของยา เมื่อเรามีเหมืองข้อมูลยา เราก็มาศึกษาวิเคราะห์หาว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง และเราจะสามารถนำความสัมพันธ์นั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง เราอาจค้นหาความสัมพันธ์ของยาแต่ละชนิดที่เราไม่เคยทราบมาก่อน เช่น คนที่เป็นหลายโรค ทั้งเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ จะสามารถใช้ยาชนิดไหนได้บ้าง หรือเมื่อได้ยาตัวใหม่มา จะใช้ได้หรือไม่ อย่างไร ก็สามารถสืบค้นข้อมูลจากในเว็บไซต์ก่อนจะใช้ยานั้นได้" ดร.จุฬารัตน์ อธิบาย
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับยาที่นักวิจัยนำมาบรรจุไว้ในเว็บไซต์ ya & you นั้น ผศ.ดร.ภูรี อนันตโชติ กรรมการมูลนิธี วพย. บอกว่ารวบรวมข้อมูลมาจากเว็บไซต์ ดรัก ไดเจสต์ (Drug Digest) และ เมดไลน์ พลัส (Medline Plus) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลเกี่ยวกับยาของสหรัฐอเมริกาที่มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างมาก ซึ่งทำขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลการใช้ยาเช่นเดียวกัน
"ทีมงานจะต้องตรวจสอบข้อมูลยาให้ตรงกันทั้ง 2 เว็บไซต์ และแปลเป็นภาษาไทย โดยจะมีเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญตรวจสอบความถูกต้องโดยละเอียดอีกทีหนึ่ง แต่หากข้อูมูลของ 2 เว็บไซต์ดังกล่าวไม่ตรงกัน ก็ต้องหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความถูกต้อง โดยขณะนี้รวบรวมข้อมูลของยาแผนปัจจุบันได้แล้วกว่า 10,000 ตำรับ จากทั้งหมดที่มีอยู่ในสถิติของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กว่า 30,000 ตำรับ" ผศ.ดร.ภูรี อธิบาย
การแสดงผลการค้นหาข้อมูลของยาที่ต้องการทราบ จะประกอบด้วย ชื่อสามัญ ชื่อการค้า ประเภทหรือรูปแบบของยา ข้อบ่งใช้ยา วิธีใช้ยา อาการข้างเคียงจากการใช้ยา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ อาการทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ หน้าแดง และอาการที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งอาการข้างเคียงระดับนี้จะแสดงให้เห็นด้วยตัวอักษรสีแดงอย่างชัดเจน รวมถึงข้อมูลการเก็บรักษายา สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรรับทราบ และควรทำอย่างไรหากลืมรับประทานยา
เว็บไซต์ ya & you จัดว่าเป็นเครื่องมือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่จะได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ของยาได้ไม่ยาก และให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนตัดสินใจซื้อยาใช้เอง แต่อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ภูรี ชี้แจงว่า การจัดทำเว็บไซต์ให้ข้อมูลยา ไม่ได้มุ่งหมายส่งเสริมให้ประชาชนซื้อยากินเอง ทั้งยังระบุไว้ชัดเจนในเว็บไซต์ด้วยว่าควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนจะใช้ยาทุกชนิด เพียงแต่ยังมีประชาชนบางส่วนที่มักซื้อยากินเอง จึงหวังว่าเว็บไซต์นี้จะให้ข้อมูลประชาชนก่อนที่จะตัดสินใจชื้อยาใดๆ
ดร.จุฬารัตน์ บอกเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจากต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จึงจะใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์นี้ได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ทางโครงการมีนโยบายจะเผยแพร่ความรู้เรื่องยาให้แก่หน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ โดยตรงด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับยากันอย่างทั่วถึง และสำหรับเว็บไซต์ ya & you คาดว่าน่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้.