xs
xsm
sm
md
lg

"ไตเทียม" ฝีมือไทย วิศวกรรมย้อนรอยถ่วงดุลนำเข้าเครื่องจักรแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.โกวิท ชูติธร (ซ้าย) ผู้อำนวยการบริหารบริษัทโน ออล จำกัด ตัวแทนจากเครือ เอ็นอาร์ และ ผศ.ดร.ชัชพล (ขวา)
"ไตเทียม" เครื่องฟอกไตฝีมือไทย ผลงานวิศวกรรมย้อนรอยถ่วงดุลนำเข้าเครื่องจักร 4.5 แสนล้าน แจงพัฒนาเฟสแรกผ่าน ระยะต่อไปเตรียมทดลองฟอกเลือดสุนัข ก่อนส่งต่อให้ "มูลนิธิโรคไต" ทดสอบเครื่องเพื่อใช้กับผู้ป่วย

ผศ.ดร.ชัชพล ชังชู อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงข่าวผลการดำเนินโครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการส้รางเครื่องจักรในกระบวนการผลิตด้วยวิศวกรรมย้อนรอย ภายในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2551 หรือ "เทคโนมาร์ท-อินโนมาร์ท” (TechnoMart–InnoMart 2008) เมื่อ 27 ต.ค.51 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ชัชพล พร้อมด้วยนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ และวิศวกรบริษัทในเครือ เอ็นอาร์ อินดัสตรีส์ ได้ร่วมกันพัฒนา "ไตเทียม" โดยได้รับคำปรึกษาทางด้านการแพทย์จากมูลนิธิโรคไต ซึ่งได้พัฒนาเครื่องที่ทำงานได้จริง จากขั้นตอนต่อไปคือการพัฒนาเครื่องสำหรับทดลองกับสัตว์และเครื่องที่สามารถใช้งากับผู้ป่วยได้ ซึ่งในการขั้นตอนการทดสอบนั้นขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของมูลนิธิโรคไต โดยภายใต้โครงการนี้ต้องพัฒนาไตเทียมทั้งหมด 3 เครื่อง

ผศ.ดร.ชัชพลกล่าวระหว่างแถลงข่าวซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมด้วยว่า การทำงานของไตเทียมนั้นเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเครื่องกรองน้ำ คือเลือดที่มีของเสียจะผ่านเข้าเครื่องกรอง ทำให้ได้เลือดที่มีคุณภาพดีขึ้น โดยเลือดที่ใช้เป็นเลือดของผู้ป่วยเอง ซึ่งจะเจาะแล้วปล่อยเข้าเครื่องไตเทียม แต่ต้องระวังไม่ให้มีฟองอากาศเข้าไป เพราะฟองอากาศจะเข้าไปบล็อกระบบเลือดที่หัวใจ ทำให้ผู้ป่วยช็อคได้ ซึ่งเขาให้รายละเอียดกับเราในภายหลังว่า เครื่องฟอกไตนี้สามารถป้องกันการเกิดฟองอากาศที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 ไมโครเมตรขึ้นไปได้

"เครื่องฟอกไตมี 2 ประเภท คือ ประเภทกรองอนุภาคละเอียดกับประเภทกรองอนุภาคหยาบ ซึ่งประเภทหลังนี้มีราคาสูง ตั้งแต่ 4-5 แสนบาทไปถึงล้านต้นๆ เพราะระบบกรองทำได้ยากกว่า แต่มีระบบที่พยาบาลสามารถควบคุมระยะไกลผ่านเคาน์เตอร์ได้ แต่ไม่จำเป็นสำหรับระบบการดูแลรักษาของไทย เพราะพยาบาลจะเดินไปดูแลผู้ป่วยที่เตียง และพยาบาลคนหนึ่งดูแลการฟอกไต 3 เครื่อง เราจึงพัฒนาระบบมาตรฐานที่กรองอนุภาคละเอียด ซึ่งวางเป้าหมายไว้ว่าต้องมีราคาต่ำกว่า 4 แสนและใช้งานได้ง่าย เพราะต้องส่งไปยังโรงพยาบาลไกลๆ ตามต่างจังหวัด" ผศ.ดร.ชัชพลกล่าว

สำหรับเครื่องต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมานั้น ผศ.ดร.ชัชพลกล่าวว่า มีต้นทุนราวล้านบาท และใช้เวลาพัฒนาราว 6-7 เดือน และคาดว่าจะสามารถพัฒนาเครื่องรุ่นที่ 2 และ 3 ให้ราคาต่ำลงจากเครื่องแรกได้ประมาณ 30% รวมถึงลดขนาดให้เล็กลงอีก 30% ส่วนอุปสรรคในการพัฒนาเครื่องไตเทียมคือ ไทยไม่มีผู้ผลิตอะไหล่ทางการแพทย์ ทำให้มีต้นทุนสูง

สำหรับวิศวกรรมย้อนรอย (reverse-engineering) นั้น ทีมพัฒนาเครื่องไตเทียมอธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เป็นวิธีในการศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ ของต่างประเทศ แนวนำแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นๆ มาปรับใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในเมืองไทย ในส่วนของเครื่องไตเทียมนั้นทีมพัฒนา ได้ศึกษาวิธีสร้างไตเทียมจากต่างประเทศ รวมถึงอ่านเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

นอกจากไตเทียมแล้วทางโครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรฯ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้ความสำเร็จของผลงานอื่นๆ อีกได้แก่ เครื่องกรองน้ำเชื่อมความดันแบบแนวตั้ง พัฒนาโดยศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทย มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า ธนบุรี, เครื่องฉีดพลาสติก ขนาด 200 ตัน พัฒนาโดย บริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด, เครื่องฟรีซ-ดราย (Freeze Dryer) เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนและเซรุ่ม พัฒนาโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และเครื่องอัดแท่งเชื้อเพลิงแข็ง เครื่องอบระบบดูดความชื้น และเครื่องขึ้นรูปชนิดแม่พิมพ์หมุน ขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร พัฒนาโดยสมาคมเครื่องจักรกลไทย

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรักษาการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า โครงการฯ นี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งนี้ไทยมีมูลค่านำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศถึงปีละ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีการขยายผลทางอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดการนำเข้าได้
เครื่องฟอกไตหรือไตเทียม
ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ (กลาง) รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำแถลงผลงานในโครงการฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น