xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาค่าฟอกไตไม่คืบ หมอ-คนไข้ เห็นไม่ตรง สปสช.นัดถกอีกรอบต้น ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถกค่าฟอกไตผู้ป่วยเสียงอ่อยเห็นใจหมอ แต่ต้องหาทางออกหาข้อแตกต่างราคาทำไมบางแห่งค่าบริการต่ำกว่า 1,500 บาทแต่อยู่ได้ แนะให้ อภ.ร่วมซื้อหรือผลิตทำให้ราคาถูกลงวอนอย่าเอาเรื่องคุณมาตรฐานมาขู่ถือเป็นการเอาผู้ป่วยเป็นตัวประกัน ขณะที่แพทย์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ สปสช.กำหนดค่าฟอกไต 1,500 บาท ตั้งกรรมการนัดถกอีกรอบต้นตุลาคมนี้

นายสุบิล นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า ในการประชุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ 13 (กรุงเทพมหานคร) เรื่อง ค่าบริการการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลภูมิพล ฯลฯ ตัวแทนผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ของ สปสช.กทม.ซึ่งในที่ประชุมยังไม่มีการลงมติใดๆ แต่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อที่จะประชุมและหาข้อสรุปให้ได้อีกครั้งในต้นเดือนตุลาคมนี้

“ยอมรับว่า แพทย์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาร่วมประชุมในวันนี้ทั้งรัฐและเอกชนไม่เห็นด้วยกับการที่สปสช.กำหนดอัตราค่าบริการฟอกเลือดอยู่ที่ 1,500 บาทต่อครั้ง ซึ่งผมก็รู้สึกเห็นใจ แต่สุดท้ายเราคงต้อมาร่วมกันหาทางออกว่าความเป็นจริงแล้ว เหตุใดสถานบริการหลายๆ แห่ง สามารถที่จะบริหารจัดการและให้บริการฟอกเลือดให้ผู้ป่วยไตวายในราคา 1,500 บาท หรือบางแห่งต่ำหว่า 1,500 บาท จึงต้องหาข้อแตกต่างตรงจุดนี้”นายสุบิล กล่าว

“ได้หารือกับศ.นพ.ดุสิต ล้ำเลิศสกุล นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ทำหนังสือมาถึง สปสช.แล้วก็บอกว่าที่เชียงใหม่มีหน่วยไตเทียมมาก ซึ่งได้ยืนยันว่า อัตราค่าฟอกเลือดในแต่ละหน่วยก็ยังมีราคาที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น หน่วยบริการที่ให้บริการราคาแพง แพงตรงไหนบ้างงคงต้องมานั่งคุยเปิดใจกัน เพราะเท่าที่ฟังแล้วส่วนที่ทำให้มีราคาแพงไม่ใช่เวชภัณฑ์ โดยเอกชนบางแห่งแจงว่า กระบอกฟอกไตผู้ป่วยใช้แล้วต้องเปลี่ยนทุกครั้งจริงๆ ก็ไม่จำเป็นหากมีการดูแลรักษาที่ดีก็นำไปใช้ได้หลายครั้ง ที่สำคัญ การที่การฟอกไตมีราคาแพงนั้น แพทย์ชี้แจงว่า ส่วนใหญ่เป็นค่าการให้บริการของบุคลากร ดังนั้น หากจะทำให้การฟอกไตมีราคาถูกลง อาจให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดซื้อร่วม หรือเป็นผู้ผลิตจะเป็นทางออกหรือไม่”นายสุบิลกล่าว

นายสุบิล กล่าวอีกว่า ส่วนการนำเรื่องมาตรฐานการรักษามากล่าวอ้างว่าราคาฟอกไต 1,500 บาท จะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น เข้าข่ายเป็นการนำคนไข้มาเป็นตัวประกัน ดังนั้น หากโรงพยาบาลอกชนรับไม่ได้ ก็ขอให้ดูแลผู้ป่วยในช่วง 2-3 เดือนนี้ก่อน สปสช.น่าจะสามารถหาสถานบริการอื่นทดแทนได้

นายสุบิล กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องอัตราค่าบริการฟอกเลือดเป็นคนละประเด็นที่ได้มีการร้องเรียนถึงการกระทำของนพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และนพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ เจ้าของเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เพราะหากแพทย์ทั้ง 2 เป็นเพียงตัวแทนของโรงพยาบาลเอกชนคงไม่ผิด แต่ผิดที่นายแพทย์ทั้ง 2 ยังมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)แต่กลับออกหนังสือในลักษณะผู้ประกอบวิชาชีพเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ป่วยไตวาย ถือเป็นการไม่สนับสนุนการทำงานของ สปสช.
กำลังโหลดความคิดเห็น