xs
xsm
sm
md
lg

ขมิ้น: พืชทองของอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ใบขมิ้นชัน และหัว
พืชล้มลุกที่คนจีนเรียก เจียงฮาว และคนอินเดียเรียกฮาลดิ (haldi) นั้น คนไทยเรียกขมิ้น ตำราอายุรเวทของอินเดียบันทึกว่า คนอินเดียรู้จักและนิยมบริโภคขมิ้นเป็นยาสมานแผล และสารทำความสะอาดบาดแผลเป็นเวลานานร่วม 3,000 ปีแล้ว เช่น เวลาใครบาดเจ็บ หมอจะให้กินขมิ้น ใครท้องเสีย ท้องอืด หรือท้องเฟ้อ หมอชาวบ้านก็จะสั่งให้กินขมิ้น และใครออกอาการจิตตก หมอก็จะให้กินขมิ้นอีก ส่วนคนปกติก็มักใช้ขมิ้นเป็นองค์ประกอบของเครื่องแกงเป็นสารแต่งสี แต่งกลิ่น แต่งรส และทาผิวให้ผุดผ่อง ถึงวันนี้หมออินเดียก็ยังใช้ขมิ้นรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รักษานิ่วในถุงน้ำดี ฆ่าเชื้อราและไวรัส สำหรับคนไทยก็นิยมใช้ขมิ้นย้อมจีวร ใส่แกงให้มีสีเหลืองขมิ้น รักษาอาการจุกเสียด ขับลม รวมถึงแก้พิษแมลงกัดต่อยด้วย

ขมิ้น (Curcuma longa) เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับขิงและข่า คือ Zingiberaceae แต่ขมิ้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไป คือ มีเนื้อสีตั้งแต่เหลืองเข้ม จนถึงแสดเข้ม และมีกลิ่นเฉพาะตัว จนเป็นที่นิยมนำมาทำน้ำมันหอมระเหย

ชาวไร่ในประเทศไทยมักปลูกขมิ้นในตอนต้นฤดูฝน คือ ตั้งแต่ปลายเมษายนจนถึงพฤษภาคม เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงมกราคม ตามปกติขมิ้นสามารถขึ้นได้ในทุกพื้นที่ และชอบขึ้นในที่ดอนซึ่งไม่มีน้ำท่วมถึง เวลาจะปลูกต้นขมิ้นชาวไร่จะไถพรวนดิน ยกร่องก่อน แล้วนำหัวหรือแง่งขมิ้นมาแช่ยากันรา และยาฆ่าเพลี้ยเพื่อป้องกันโรคหัวเน่า ทั้งนี้เพราะขมิ้นมักเป็นโรครากเน่า โรคต้นเหี่ยว และโรคใบจุด และเวลาต้องการเพิ่มคุณภาพของดินปลูก ชาวไรˆใช้วิธีเติมปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต

ลำต้นของขมิ้นมีสองส่วน คือส่วนเหนือดินซึ่งอาจสูงตั้งแต่ 30 ถึง 90 เซนติเมตร ส่วนนี้เกิดจากการอัดตัวแน่นของกาบใบ และส่วนใต้ดินซึ่งเป็นแง่งคล้ายขิงที่สามารถแตกแขนงได้ และเนื้อในของแง่งนี้เองที่มีสีเหลืองส้ม สำหรับใบขมิ้นนั้นเป็นใบเดี่ยว ที่รูปใบมีลักษณะคล้ายใบหอก ที่กว้างตั้งแต่ 12-15 เซนติเมตร และยาวตั้งแต่ 30 - 40 เซนติเมตร ดอกมีสีเหลืองอ่อน ชมพู หรือขาว และมีกลิ่นจางๆ คล้ายมะม่วง ดอกจะเติบโตจากเหง้าแล้วแทรกตัวขึ้นระหว่างใบ ผลมีลักษณะกลมและมี 3 พู

โดยทั่วไปเมื่อชาวไร่เก็บเกี่ยวขมิ้นแล้ว เขาจะนำมันมาต้ม ตากแดด แล้วบดเป็นผง ซึ่งถ้าชิมจะมีรสขมเล็กน้อย จึงนิยมใช้เป็นยา และใช้เติมน้ำแกง บางครอบครัวนิยมทำขมิ้นแห้ง โดยการนำหัวขมิ้นมาล้างน้ำแล้วตัดรากออก จากนั้นนำไปฝานเป็นชิ้นบาง ๆ เพื่อนำไปตากแดด หรืออบในตู้อบจนแห้งสนิท เพื่อนำไปบรรจุถุง จากขมิ้นสด 5 กิโลกรัม เมื่อตากแห้งแล้วจะเหลือขมิ้นแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม และเวลาจะใช้เป็นสมุนไพร ขมิ้นแห้งจะถูกบดให้ละเอียดเพื่อผสมน้ำ แล้วปั้นเป็นลูกกลอน สำหรับรับประทานครั้งละ 2 - 4 เม็ด วันละ 4 ครั้ง คือ หลังอาหารและก่อนนอน

ในการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของขมิ้นนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ในขมิ้นมีคาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน แคลเซียม เหล็ก วิตามินบี และมีสาร curcuminoid ที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ curcumin ที่ทำให้เนื้อขมิ้นมีสีเหลืองและมีสรรพคุณเป็นยาที่ไม่ให้ผลกระทบข้างเคียงใดๆ จึงใช้กระตุ้นเซลล์เยื่อบุกระเพาะให้หลั่งสารเมือกออกมาเคลือบกระเพาะอาหาร ทำให้อาการปวดท้องบรรเทา นอกจากนี้แพทย์ชาวบ้านยังพบอีกว่า curcumin สามารถออกฤทธิ์ต้านอาการอักเสบของผิวหนังเนื่องจากถูกแมลงกัดด้วย โดยใช้ขมิ้นฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่มีอาการ

ตามปกติแพทย์สมัยใหม่หลายคนมักไม่เชื่อในสรรพคุณของยาสมุนไพร แต่ในกรณีของขมิ้น นักวิจัยชาวอินเดียที่ Amala Cancer Center Hospital แห่งเมือง Amalanager ในอินเดีย ได้พบเมื่อ 38 ปีก่อนนี้ว่า คนที่กินขมิ้น 500 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลานาน 7 วัน จะมี lipoprotein cholesterol ซึ่งเป็นชนิดดี สูงกว่าคนที่ไม่กินถึง 29% จากนั้นการศึกษาสรรพคุณเชิงเภสัชของขมิ้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น Bharat Aggarwal แห่ง M.D. Anderson Cancer Center ที่เมือง Houston ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสนใจการใช้ขมิ้นรักษามะเร็ง ได้พบว่า ในขมิ้นมีโมเลกุล 2 ตัว คือ alpha และ beta TNF (tumor necrosis factor) ที่ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ เขาจึงให้คนที่ป่วยเป็นมะเร็งกินขมิ้นวันละ 8 กรัม ซึ่งมากประมาณ 40 เท่าของปริมาณที่คนปกติกิน

เมื่อ 13 ปีก่อนนี้ Greg Cole แห่งมหาวิทยาลัย California ที่ Los Angeles ได้ทดสอบเภสัชคุณของขมิ้นในการป้องกันโรค Alzheimer เพราะทั่วโลกมีคนป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ 24 ล้านคน ถึงองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Adrministration FDA) มียาลดความรุนแรงของคนที่เป็นโรคนี้ แต่ไม่มียาสู้สาเหตุการเป็นโรค ซึ่งเกิดเมื่อเซลล์ประสาทในสมองเสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน เพราะโปรตีนในสมองได้รวมตัวกันเป็นพังผืด (plaque) แล้วสร้างอนุมูลอิสระเข้าทำลายเซลล์ประสาท และเมื่อ Cole พบว่า curcumin ในขมิ้นเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระดียิ่งกว่าวิตามินอี เขาจึงคิดว่า ขมิ้นน่าจะป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนั้น เขาจึงทดสอบกับหนูที่มีสภาพเป็นอัลไซเมอร์ โดยการทำให้สมองหนูมีพังผืด amyloid - beta และ Cole ก็ได้พบว่าในขณะที่สารประกอบอื่นทำอะไรต่อ amyloid - beta แทบไม่ได้เลย แต่ 80% ของหนูที่บริโภคขมิ้น สมองมีพังผืดน้อยกว่าหนูที่ไม่ได้บริโภคขมิ้นถึง 80%

งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Kenjiro Ono แห่ง Kanazawa Graduate School of Medical Science โดยได้พบว่า curcumin นอกจากจะสามารถยับยั้งการเกิด plaque ได้แล้ว ยังสามารถสลาย plaque ได้ด้วย

ณ วันนี้ รัฐบาลอินเดียกำลังส่งเสริมให้มีการสกัด curcumin เพื่อป้องกันโรคขัดข้อ ข้ออักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งช่องปาก คอ เต้านม ผิวหนัง และลำไส้ใหญ่ รวมถึงป้องกันตับอักเสบ โดยการให้ curcumin ทำลายพิษราในตับ และสนับสนุนให้คนอินเดียกินขมิ้นก่อนออกกำลังกาย เพราะเวลาออกกำลังกายมาก ร่างกายจะเมื่อยและปวดจากการมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นมาก ทำให้กล้ามเนื้อเจ็บปวด สาร antioxidant จากขมิ้นจะลดความเจ็บปวดนี้ลง ทำให้ร่างกายคืนสภาพเร็ว สำหรับคนที่มีสุขภาพดีอยู่แล้ว ร่างกายก็ไม่ต้องการขมิ้นมาก แต่คนป่วย คนไม่สบาย ควรบริโภคขมิ้น เพราะขมิ้นป้องกันโรค และรักษาโรคได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อยาแพงๆ ในเมื่อเกาหลีมีโสม จีนมีจิงเฮาซู อินเดียก็มีขมิ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นยาแล้ว ยังบริโภคได้รสอร่อยอีกด้วย

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ดอกขมิ้นชัน
ผงขมิ้นชัน
แง่งขมิ้นชัน
กำลังโหลดความคิดเห็น