มากกว่า 400 ปี ที่นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์กได้พบ "ดาวดวงใหม่" ที่สุกสว่างแม้ในยามกลางวัน ซึ่งสร้างความฉงนให้กับนักดาราศาสตร์ในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่สุดผู้เชี่ยวชาญในยุคปัจจุบันทราบแล้วว่า แสงสว่างจากท้องฟ้าครั้งนั้นคือ "ซูเปอร์โนวา"
ไทโค บราห์ (Tycho Brahe) นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์กได้ค้นพบ "ดาวดวงใหม่" ซึ่งมองเห็นได้ในกลุ่มดาวค้างคาว ตั้งแต่ 11 พ.ย. 2115 และมองเห็นได้แม้ในช่วงกลางวัน ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่า เขาได้เขียนถึงสิ่งที่พบในครั้งนั้นด้วยตำแหน่งที่ถูกต้องแม่นยำลงในหนังสือของเขาที่ชื่อ "ดาวที่สุกสว่างในชั่วขณะ" (Stella Nova) โดยความสว่างในครั้งนั้นสเปซดอทคอมบรรยายว่า เป็นความสว่างที่บดบังแม้กระทั่งดาวศุกร์ และได้เลือนหายไปในเดือน มี.ค. 2117
ทั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ซึ่งตั้งอยู่ในหอดูดาวที่ฮาวายและสเปน เพื่อจับภาพ "แสงสะท้อน" (light echoes) ที่เลือนลางจากการระเบิดเริ่มต้น ซึ่งสะท้อนจากฝุ่นระหว่างดวงดาว โดยสเปซด็อทคอมอธิบายว่าแสดงเหล่านั้นใช้เวลาหลายปีกว่าจะเดินทางมาถึงโลก หลังจากที่แสงซึ่งเดินทางตรงมายังโลกเมื่อ 436 ปีก่อนได้ผ่านไปแล้ว
ผลจากการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ (Nature) แสดงให้เห็นชัดถึงการดูดซับซิลิกอนที่แตกตัวและไม่มีการปลดปล่อยไฮโดนเจน เอช-อัลฟา (hydrogen H-alpha) ในแสงสะท้อนที่ตรวจวัด ระบุว่าซูเปอร์โนวาดังกล่าวเป็นซูเปอร์โนวาชนิด ไอเอ (Ia supernova) ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากดาวแคระขาวที่อยู่ในระบบดาวคู่แบบปิด
"การระบุว่าเป็นซูเปอร์โนวาชนิดใดเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ หากขาดข้อมูลสเปกตรัม" บีบีซีนิวส์ระบุคำพูดของ โอลิเวอร์ เคราส์ (Oliver Krause) จากสถาบันดาราศาสตร์มักซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Astronomy) ในเยอรมนี ซึ่งร่วมในการศึกษาครั้งนี้ และระบุด้วยว่าจะใช้แสงสะท้อนเพื่อสร้างภาพ 3 มิติของการระเบิดซูเปอร์โนวาได้
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังไม่มีการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ บราห์ได้บันทึกข้อมูลที่มีความแม่นยำว่า ตำแหน่งของแสงที่ส่องสว่างนั้นไม่ได้เคลื่อนสัมพัทธ์กับดวงดาว ซึ่งแสดงว่าแสงดังกล่าวอยู่ไกลกว่าดวงจันทร์ ข้อมูลดังกล่าวสร้างความตื่นตะลึงให้คนในยุคนั้น ซึ่งเชื่อว่าระยะทางของสวรรค์สมบูรณ์และไม่มีวันเปลี่ยนแปลง