xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาศาสตร์แบบหวาดกลัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


∞ กลับมาทักทายท่านผู้อ่านทุกวันเสาร์เช่นเคย "ไซน์กระซิบ" และท่านผู้อ่าน อยู่รอดปลอดภัยกันจนถึงวันนี้ ก็เพราะ "เซิร์น" ยังไม่ได้เดินหน้าทดลองของจริง อย่างที่ใครๆ หวาดวิตก...

... เรื่องราวของ "เซิร์น" กับการทดลองจับอนุภาคชนกัน ผ่านเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่เฝ้าจับตาและรอคอยกันมานาน กว่า 30 ปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่เซิร์นพร้อม เดินเครื่องเร่งอนุภาคยักษ์ LHC เป็นครั้งแรก นอกจากทีมข่าววิทยาศาสตร์จะ "ตื่นเต้น" แล้ว ก็ยังโดนกระแส "ตื่นตูม" หล่นมากระทบกดดันไม่น้อย...

... ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ รายงานเรื่องราวและความคืบหน้าของ "เซิร์น" มาโดยตลอด ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้อ่าน แต่ต้องยอมรับว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามากถึงขั้น "ล้นหลาม" "ไซน์กระซิบ" ก็แอบดีใจไม่ได้ ว่ามีคนสนใจเรื่องราวการทดลองของเซิร์น หน้าใหม่ มากหน้าหลายตา... แต่ทว่า ส่วนใหญ่ติดตามข่าวมาในแนว "หวั่นไหว-หวาดกลัว" ต่อผลการทดลองที่จะเกิดขึ้น...
ที่เซิร์นกับการทดลองเดินเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดวันแรก
… เวลาบ่ายสองกว่าๆ ของวันที่ 10 กันยาตามเวลาประเทศไทย หลายๆ คนคงลุ้นกันแทบแย่ว่า “โลกจะระเบิดอย่างที่หวั่นกันหรือไม่” แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่นก็เพราะเป็น "การอุ่นเครื่อง" ยังไม่ได้เอาจริง ...

... แต่ถ้าถึงคราวเอาจริง... โลกจะล่มสลายอย่างที่กลัวกันหรือไม่ !! ... “ไซน์กระซิบ” ว่าไม่น่า (มั้ง) เพราะนักวิจัยเกือบหมื่น ที่ร่วมงานกับเซิร์น รวมถึงนักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ ก็บอกว่า ไม่หรอก... เพราะการทดลองให้อนุภาคชนกันนั้น เพราะต้องการหาอนุภาคมูลฐาน ผู้ก่อกำเนิดอนุภาคขึ้นมา หรือที่เรียกกันว่า “อนุภาคพระเจ้า” ส่วนหลุมดำ หรืออนุภาคอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการปะทะ ก็จะเกิดขึ้นมาแล้วละลาย หายไปไวกว่าเสี้ยวกะพริบตา แถมมีมวลน้อยจ้อยเดียว เกินกว่าจะแสดงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ได้ทั้งสิ้น...

... การทดลองยิง "แสงแรก" เข้าเครื่องเร่งอนุภาค "แอลเอชซี" ให้ครบรอบ ของ "เซิร์น" ผ่านไปด้วยดี งานนี้ทั้ง "สื่อทีวี" และ "หนังสือพิมพ์" ต่างนำเสนอข่าวกันอย่างเกรียวกราว โดยเฉพาะ "ทีวี" ที่ช่วยก่อกระแสความตื่นตระหนกนี้ได้เป็นอย่างดี...
สื่อมวลชนให้ความสนใจกันล้นหลาม ในห้องควบคุมเครื่อง
... ข้อความส่วนใหญ่ จากสื่อส่วนใหญ่ (ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศ) ที่ส่งไปถึงผู้คนส่วนใหญ่ (เกือบทั่วโลก) จับความได้ว่า "เซิร์นจะสร้างหลุมดำ" และ "หลุมดำนั้นดูดกลืนทุกสิ่ง" 2 ประโยคนี้จึงมารวมกัน สร้างความน่ากลัวไปกันใหญ่ กระทั่งส่งผลให้มีสาวน้อยชาวอินเดีย ชิงฆ่าตัวตายลาโลกไปเพราะเกรงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น "ไซน์กระซิบ" ก็ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์นี้ ...

... “ไซน์กระซิบ” ว่า มันก็ดีอยู่ที่สื่อๆ ทั้งหลายหันมาใส่ใจเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ แถมยังดึงให้คนสนใจ“วิทยาศาสตร์” ด้วยการโยงใยให้เป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” แต่การใช้ประเด็นที่น่า “หวาดกลัว” จุดกระแสขึ้นมา กลับกลายเป็นแรงต้านมากกว่า เพราะท้ายที่สุดแล้วจะมีสักกี่คนที่เข้าใจ และอยากจะเข้าใจ เหตุผลที่ควร หรือไม่ควรดำเนินงานวิจัย แม้แต่ตัวสื่อเอง พอถามถึงผลประโยชน์ของงานวิจัยครั้งนี้ (ที่ผู้คนแถวๆ เซิร์นหวัง) คืออะไร นอกจากจะเกิดหลุมดำ ก็เง็ง...ไม่รู้...แหะๆๆ “หนูไซน์” ก็อยู่ในนั้นด้วย ...

... แต่วิธีแก้ “ความไม่รู้” ง่ายๆ (แต่ได้ผล) ก็คือ...ไถ่ถาม หาความรู้ จาก “ผู้รู้” ถูกผิดอย่างไร ถามหลายฝ่ายหลายคน เดี๋ยวก็ได้ข้อมูลทุกแง่ทุกมุม...หวังว่าเรื่องง่ายๆ แค่นี้ คงไม่ใช่ของ “ยาก” สำหรับใครๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ “สื่อ” ที่ต้องทำหน้าที่ส่งข้อความถึงผู้คนส่วนใหญ่นะเจ้าคะ... เรื่อง “ฟอร์เวิร์ดเมล” ก็ทีนึงแล้ว ยังจะมาเรื่อง “เซิร์น” อีก ... เล่นซะตื่นกันไปหมด

∞ ถัดมาขอกล่าวถึง “ความสูญเสีย” ของวงการวิทยาศาสตร์เมืองไทยครั้งยิ่งใหญ่ สำหรับการจากไปของ "ศ.ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฎ" ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากแพ้ยา ขณะเข้ารับการผ่าตัดเล็กในคลีนิคแห่งหนึ่ง และตอนนี้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดดังย่านหลักสี่...

... "ดร.จารุจินต์" เป็นนักอนุกรมวิธานที่เชี่ยวชาญทั้เรื่องพืช สัตว์ และแมลง โดยเฉพาะ "ตัว-เ-หี้-ย" และเขามักพบสัตว์พันธุ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ จนมีคำกล่าวที่ว่า เขาคือบุคคลหนึ่งที่ห้ามตาย ไม่อย่างนั้นองค์ความรู้ที่นับไม่ได้จะสลายไปในที่สุด แต่น่าเสียดายที่การสูญเสียมาเร็วกว่าที่คิด
หลุมดำกลางอวกาศ ที่ดูดกลืนสิ่งที่อยู่ใกล้เข้าไปหมด แล้วหลุมดำที่อาจจะเกิดใต้ห้องทดลองเซิร์นล่ะ น่ากลัวขนาดนี้หรือไม่
∞ สานต่อเป็นปีที่สองสำหรับโครงการ "หนังสือพิมพ์ยักษ์" ของทีมพีอาร์แห่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่ประกวดทำสื่อวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา ด้วยความร่วมมือกับ "ศูนย์ข่าวเยาวชน" ส่วนกรรมการตัดสินก็คว้าเอาเหล่านักข่าวที่เทียวเข้า-เทียวออก ซ.โยธี ก็ไม่รู้ว่าผลการตัดสินครั้งนี้ จะเชื่อถือได้แค่ไหนนะเจ้าคะ...อิอิ...แต่ก็ขอแสดงความยินดีกับทีมโรงเรียน "มัธยมวัดสิงห์" ที่เอาเนื้อหา "สตอร์มเซิร์จ" มานำเสนอ เบียดคู่แข่งอีก 8 ทีมที่เลือกสื่อเรื่อง "น้ำแข็งละลาย" ∞

"มหกรรมรักการอ่าน" ของกระทรวงศึกษาที่เพิ่งจบไปเมื่อสัปดาห์ เรียกได้ว่าจำลอง "สัปดาห์หนังสือ" ขนาดย่อมๆ ไปไว้ที่เมืองทองธานี แต่บรรยากาศหงอยๆ กว่าเยอะ (คงเพราะเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน) ถึงอย่างนั้นก็มีหนังสือดีๆ นิทรรศการเด่นๆ มาดึงความสนใจได้เพียบ โดยเฉพาะ "แดนมหัศจรรย์วิทย์-คณิต" ที่สำนักพิมพ์นานมีจัดโซนให้ท่องโลกวิทยาศาสตร์ผ่านตัวหนังสือและสื่อการเรียน

∞ ปีนี้เป็นปีของ "ดร.สาธิต แซ่จึง" จริงๆ หลังคว้ารางวัล "นักวิทย์รุ่นใหม่" ไปเมื่อเดือนก่อน มาเดือนนี้ "นักคณิตศาสตร์" จากแดนดอกคูณ-เสียงแคน ก็ได้ตำแหน่ง "นักวิทย์รุ่นเยาว์" ไปอีกตำแหน่ง เรียกได้ว่าสร้างความคึกคักให้วงการคณิตศาสตร์ของบ้านเราได้ไม่น้อย และหลังจากรับรางวัลไม่เท่าไหร่ ตกดึกเจ้าตัวก็ต้องขึ้นเครื่องไปประชุมทางวิชาการต่อที่ "ฮ่องกง" ∞

∞ เปิดงาน Thailand Research Expo 2008 วันแรกก็คึกคักน่าดู ทั้งนักวิชาการ นิสิต นักษาให้ความสนใจไปร่วมงานกันแม้จะไม่ล้นหลาม แต่ก็ไม่บางตาจนวังเวง งานนี้ได้ "สหัส บัณฑิตกุล" รองนายกฯ มาเป็นประธานเปิดงาน แถมยังบอกว่า ที่ผ่านมาไทยยังให้ความสำคัญกับงานวิจัยน้อยเหลือเกิ๊นนน ทั้งที่คนไทยก็มีความสามารถด้านนี้ไม่น้อยหน้าชาติอื่น แต่เพราะประเทศเรายังไม่ค่อยเอื้ออำนวยด้านนี้สักเท่าไหร่ ไม่งั้นนะ...ป่านนี้ชาติไทยเราคงเป็นเศรษฐีอู้ฟู่...อ่ะแหม...ท่านก็ดูเพื่อนๆ ร่วมฝัก ร่วมพรรคสิเจ้าคะ ว่าวันๆ ใส่ใจกับอะไร ?!@#$%^&*
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของไทย ในงาน Thailand Research Expo 2008
... ขณะที่แต่ละคนกำลังสนใจกับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากน้ำ ที่กำลังเป็นที่ฮือฮา หลายคนก็สงสัยว่าจะอันตรายมั้ย-จะมีโอกาสระเบิดได้ เจ้าของผลงานวิจัยยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า ถังรีแอคเตอร์ที่คิดค้นนี้ไม่มีระเบิดแน่นอน แต่ก็ยังไม่วายพูดเป็นนัยว่า ขึ้นชื่อว่าเชื้อเพลิงย่อมติดไฟได้แน่นอน แถมยังบอกให้ตระหนกอีกว่า ก๊าซบางชนิดที่ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศก็ติดไฟได้เหมือนกัน ถ้ามีมากเกินเมื่อไหร่โลกก็ลุกเป็นไฟได้เหมือนกัน และยังมีคนสำทับอีกว่าเหมือนที่เขาเรียกว่า "ไฟบรรลัยกัลป์" ไง...อูย! ชักหวาดเสียว ∞

∞ งานเอ็กซ์โปปีนี้ ทั่นเลขาฯ แห่ง วช. ภูมิใจเสนอ "รถยนต์ไฮโดรเจน" ให้เป็นผลงานเด่นของปีนี้ แถมฟุ้งว่าอีกไม่นานคนไทยอาจจะมีรถพลังงานสะอาดแบบนี้ไว้ขับกันถ้วนหน้า เพราะคณะกรรมการพยายามผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติกันอยู่ แถมบอกอีกว่าตัวทั่นเลขาฯ เองก็เตรียมเงินไว้รอซื้อมาขับเองแน่นอนถ้าผลิตขายได้จริง คันและแค่ 4 ล้านฝ่าๆ เองเจ้าค่า...ใครอยากขับรถไฮโดรเจนก็เตรียมเก็บเงินไว้รอได้เลยเจ้าค่า แต่ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจึงจะมีออกมาขายกันจริงน่ะสิเจ้าคะ ∞

∞ พันจ่าอากาศเอกสุมิตร อิศรางกูร ณ อยุธยา และคณะ พา "รถกินน้ำ" มาโชว์ในที่ประชุมสภาที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีแถวพญาไทเมื่อวันก่อน เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายแห่งชาติ ก็ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการไม่น้อย แต่ก็แว่วเสียงจากคณะกรรมการที่ปรึกษาท่านหนึ่งว่า "สภาที่ปรึกษาก็มีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาอย่างเต็มที่ แต่เขาจะนำไปใช้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"...

∞ สัปดาห์นี้ "กระทรวงไอซีที" ประกาศความสำเร็จในการส่งดาวเทียมที่ร่วมพัฒนากับจีนไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย. งานนี้ "ปลัดกระทรวง" เล่าประสบการณ์ร่วมส่งดาวเทียมขึ้นฟ้า ว่าเกือบพลาดโอกาสส่งดาวเทียม ซึ่งเดิมทีมีกำหนดส่งในวันที่ 5 ก.ย. แต่เกิดความขัดข้องทางเทคนิค และดินฟ้าอากาศที่ดูจะไม่เป็นใจ จนเป็นเหตุให้เลื่อนส่งดาวเทียมออกไป 1 วัน แหม...ช้าไปแค่หนึ่งวันเอ๊ง ดูอย่าง "ธีออส" สิ เลื่อนมาเกือบปี ผู้เกี่ยวข้องยังไม่เดือดร้อนเล้ย

∞ “ไซน์กระซิบ” บ่น เอ๊ยเม้ามาพอควรแล้วสัปดาห์นี้ ฝากงาน “เอ็กซ์โป” ที่สภาวิจัยขนสารพัดผลงานมาโชว์ คราวนี้จัดใหญ่ทีห้างเซ็นทรัลเวลิร์ด ราชประสงค์ งานมีถึงวันที่ 16 ก.ย.นี้ ไปดูให้เห็น ว่าบ้านเรามีงานวิจัยอะไรเจ๋งๆ บ้าง ระหว่างรอมาพบกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ส่วนใครมีอะไรเมลมาได้ที่เดิมนะจ๊ะ scigossip@gmail.com “ไซน์กระซิบ” ลากันไปก่อนเจ้าค่ะ ∞
กำลังโหลดความคิดเห็น