xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.สาธิต แซ่จึง" จากช่วยพ่อแม่คิดเลขค้าขาย สู่นักคณิตศาสตร์ดีเด่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.สาธิต แซ่จึง
นับเป็นปีทองสำหรับ "ดร.สาธิต แซ่จึง" นักคณิตศาสตร์เมืองหมอแคน-แดนดอกคูณ ที่ปีนี้ไดรับรางวัลอันทรงเกียรติ แห่งวงการวิทยาศาสตร์ถึง 2 รางวัล ทั้ง "รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่" และ "รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์" แต่เบื้องหลังความสำเร็จของเขา เริ่มด้วยความเรียบง่าย จากการช่วยพ่อ-แม่ขายของในวัยเด็ก

ก่อนสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปีนี้ ดร.สาธิต แซ่จึง อาจารย์จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับคัดเลือก จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่" ประจำปี 2551 ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ รวม 5 คน

ผ่านไป 2 เดือนกว่าๆ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศว่า เขาได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์" (TWAS Prize for Young Scientist in Thailand) ประจำปี 2551 ของสภาวิทยาศาสตร์แห่งโลกที่สาม (Academy of Sciences for the Developing World: TWAS) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ที่มอบรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 2529 โดยหมุนเวียนใน 4 สาขา คือ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์และฟิสิกส์

"บังเอิญว่าปีนี้เวียนมาที่สาขาคณิตศาสตร์พอดี" ดร.สาธิตกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์หลังจากเราแซวเขาว่า ถือเป็นปีทองของเขาจริงๆ

จากนั้น ดร.สาธิตได้อธิบายถึงงานคณิตศาสตร์ที่ศึกษา ว่าเกี่ยวกับทฤษฎีจุดตรึง (Fixed Point Theory) ซึ่งเป็นศาสตร์ผสมผสาน ระหว่างสาขาคณิตวิเคราะห์และเรขาคณิต โดยงานของเขา คือการหาทฤษฎีรองรับปัญหา ซึ่งเป็นวิธีการหาคำตอบ โดยนำปัญหาที่เป็นสมการคณิตศาสตร์อยู่แล้วมาจัดการ

"จุดตรึงคือจุดที่ดีที่สุด จุดที่เหมาะสมของปัญหานั้น เช่น การหากำไรสูงสุด การหาต้นทุนต่ำที่สุดจากการเลือกใช้ทรัพยากรในหลายๆ แหล่ง เป็นต้น ทั้งนี้ทฤษฎีจุดตรึง เป็นทฤษฎีทั่วไปที่ศาสตร์อื่นๆ อย่างวิศวกรรมศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์นำไปใช้ได้ ส่วนงานที่ผมทำก็เหมือนกับการลับมีดให้คม ส่วนใครจะนำมีดไปใช้อย่างไรก็ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์ของแต่ละคน" ดร.สาธิตกล่าว

จุดเริ่มต้น ที่ทำให้ ดร.สาธิต สนใจคณิตศาสตร์ คือการได้ช่วยพ่อแม่ขายของ เมื่อได้เห็นความสำคัญในชีวิตจริง เขาจึงทุ่มเทกับการเรียนในห้อง และรู้สึกสนุกกับศาสตร์แห่งตัวเลข โดยไม่รู้สึกว่าเป็นวิชาที่ยากลำบากเหมือนเด็กๆ หลายคน

"เวลาแก้ปัญหาได้ ก็จะมีแรงบันดาลใจ เป็นแรงผลักไปข้างหน้า ให้อยากรู้มากขึ้น เหมือนเด็กที่เล่นเกม ที่อยากฝ่าด่านต่อไปเรื่อยๆ" ดร.สาธิตเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

ความชอบในวิชาคณิตศาสตร์ของนายสาธิตในวัยเยาว์ เพิ่มขึ้นตามระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น กระทั่งได้เข้าเรียนระดับปริญญาโท-เอกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ศ.ดร.สมพงษ์ ธรรมพงษา อาจารย์คณิตศาสตร์ แห่ง มช. ได้ชักนำให้เขาได้รู้จักทฤษฎีจุดตรึง และทำให้เขาประทับใจในคณิตศาสตร์แขนงนี้ เขาจึงได้ศึกษาทฤษฎีนี้เรื่อยมา และอาจารย์ซึ่งเขาเคารพรักมากผู้ได้ก็เพิ่งได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ไปเมื่อปี 2550

หากเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ แล้ว คณิตศาสตร์ดูจะเป็นศาสตร์ที่ถูกลืมได้ง่าย และไม่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปนัก และนักคณิตศาสตร์ก็ได้รับรางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์น้อยกว่าศาสตร์ด้านอื่นๆ แต่ ดร.สาธิต ก็กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เขาไม่รู้สึกน้อยใจ

"ความสุขของนักคณิตศาสตร์ ไม่ได้อยู่ที่รางวัล แต่อยู่ที่เราได้ค้นคว้าในสิ่งที่เราอยากรู้ รางวัลไม่ใช่เป้าหมายหลัก เราอยากได้องค์ความรู้ วิธีการตอบปัญหา" ดร.สาธิตกล่าว และเสริมว่าการจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี อันดับแรกต้องมีความชอบอยู่ในตัว ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่งาน แต่เป็นสิ่งที่ทำด้วยใจ

สำหรับคนนอกอาจจะมองว่า คนที่เรียนคณิตศาสตร์จำเป็นต้องมีสติปัญหา และไอคิวที่ดีเลิศ แต่ในมุมของ ดร.สาธิต นักคณิตศาสตร์หนุ่มผู้นี้มองว่า ไม่จำเป็น และกล่าวด้วยว่า ทุกคนสามารถคิดเลขได้ แต่คิดได้เร็ว-ช้าต่างกัน บางคนคิดไม่ออก ไม่ได้แปลว่าคิดไม่ได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลามากเท่านั้นเอง ขณะที่การสอบนั้นมีเวลาคิดที่จำกัด

"ทุกคนเรียนคณิตศาสตร์ได้ แต่เรียนได้ด้วยความเร็วไม่เท่ากัน คิดไม่ออก ไม่ใช่ คิดไม่ได้" ดร.สาธิตทิ้งข้อความให้กำลังใจสำหรับทุกคนที่เรียนคณิตศาสตร์

* หมายเหตุ
ดูตัวอย่างของทฤษฎีจุดตรึงในระดับพื้นฐาน ได้ ในคำเฉลยโจทย์ปัญหาเรื่องเซต โดย ดร.สาธิต แซ่จึง
- ลับสมองวันหยุดกับโจทย์เก็บตก "ตะลุยแดนวิทย์-คณิต" จากมหกรรมรักการอ่าน
ผศ.ดร.สาธิต แซ่จึง รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ประจำปี 2551 จาก นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 (Thailand Research Expo 2008)
กำลังโหลดความคิดเห็น