เอพี/เอเยนซี - มอบ "เอเบลไพรซ์" แก่ 2 นักคณิตศาสตร์อเมริกัน-ฝรั่งเศสผู้พัฒนาแนวคิดใหม่เกี่ยวกับ "ทฤษฎีกลุ่ม" ซึ่งประยุกต์สู่วิธีแก้รูบิกและการศึกษารูปแบบการหมุนของรูปทรงหลายหน้า รวมถึงการศึกษาเรขาคณิต ฟิสิกส์และวิทยาการคอมพิวเตอร์
สถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์แห่งนอร์เวย์ (Norwegian Academy of Sciences and Letters) มอบรางวัลเอเบลไพรซ์ (Abel Prize) ประจำปี 2551 ให้แก่ ศ.จอห์น กริกก์ส ธอมป์สัน (Prof.John Griggs Thompson) นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันวัย 75 จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) และ ดร.ฌาคส์ ทิตส์ (Dr.Jacques Tits) นักคณิตศาสตร์ฝรั่งเศสเชื้อสายเบลเยียมวัย 77 ซึ่งเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณจากคอลเลจ เดอ ฟรองซ์ (College de France)
ทั้งนี้คณะกรรมการผู้มอบรางวัลกล่าวว่าทั้งสองได้สร้างรูปแบบทฤษฎีกลุ่มสมัยใหม่ (modern group theory) ซึ่งเป็นศาสตร์ทางด้านพีชคณิต ในบางครั้งเรียกทฤษฎีดังกล่าวว่า "ศาสตร์แห่งความสมมาตร" (science of symmetries) ซึ่งใช้แก้ความท้าทายลูกบาศก์ของรูบิก (Rubik's Cube) ได้ หรือยังนำไปในการแก้ปัญหาทางเรขาคณิต ฟิสิกส์และวิทยาการคอมพิวเตอร์อีกด้วย
"ผลงานของจอห์น ธอมป์สันและฌาคส์ ทิตส์เป็นความลึกซึ้ง และมีอิทธิพลอย่างไม่ธรรมดา เขาทั้งสองประกอบชิ้นส่วนสำคัญของทฤษฎีกลุ่มสมัยใหม่เข้าด้วยกัน" คำประกาศสดุดีผลงานของทั้งสอง
คณะกรรมการรางวัลยังกล่าวอีกว่าธอมป์สันและทิตส์ต่างสร้างแนวคิดใหม่ที่มีความสำคัญมากในทฤษฎีกลุ่ม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นักคณิตศาสตร์ใช้แสวงหาความเข้าใจในความสัมพันธ์ ระหว่างการพับกลับและการหมุนของรูปทรงยี่สิบหน้า (icosahedron) ซึ่งมีด้านข้างหลายหน้า
หนึ่งในการนำผลงานของนักคณิตศาสตร์ทั้งสองไปประยุกต์คือ การสาธิตด้วยลูกบาศก์รูบิกโดย ศ.อาร์น บี.สเลตโจ (Prof.Arne B. Sletjoe) นักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออสโล (University of Oslo) ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งทฤษฎีกลุ่มช่วยให้นักคณิตศาสตร์คำนวณจำนวนและลำดับในการหมุนที่จำเป็นเพื่อทำให้สีของลูกบาศก์เล็กๆ ในรูบิกกลับคืนสู่หน้าที่ถูกต้อง
"ในมุมมองเชิงทฤษฎีกลุ่ม เรื่องนั้นรูบิกไม่ใช่สิ่งที่ยากจะเข้าใจนัก อย่างไรก็ดีการจำลำดับและทำให้ลูกบาศก์เรียบร้อยค่อนข้างยุ่งยาก ทั้งนี้ลูกบาศก์รูบิกไม่ใช่เป็นเพียงตัวอย่างที่ดีของการประยุกต์ใช้ทฤษฎีกลุ่ม แต่ยังเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของความจริงที่ว่า ทฤษฎีก็เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการนำไปใช้ภาคปฏิบัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง" ศ.สเลตโจแสดงความเห็นดังกล่าวผ่านรายงาน
สำหรับ ศ.ธอมป์สันนั้นเกิดที่เมืองออตตาวา มลรัฐคันซัส สหรัฐฯ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในปี 2498 และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ในปี 2502
ธอมป์สันเริ่มงานสอนที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Havard University) จากนั้นก็สอนที่มหาวิยาลัยชิคาโก ก่อนที่ย้ายไปอังกฤษซึ่งเข้าใช้เวลาถึง 23 ปีสอนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) แต่ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ที่มลรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ และสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฟลอริดา
ส่วน ดร.ทิตส์นั้นเกิดใกล้ๆ แถวกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เขาเข้าเรียนได้เข้ามหาวิทยาลัยฟรียูนิเวอร์ซิตี ออฟ บรัซเซลส์ (Free University of Brussels) ตั้งแต่อายุ 14 ปี และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่ออายุได้เพียง 20 ปี จากนั้นเขาก็ได้สอนที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว
ต่อมาในปี 2507 ทิตส์ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยบอนน์ (University of Bonn) ก่อนที่จะรับเป็นประธานกลุ่มศึกษาทฤษฎีกลุ่มที่มหาวิทยาลัยฝรั่งเศสเมื่อปี 2516 จนกระทั่งเกษียณเมื่อปี 2543
รางวัลเอเบลไพรซ์มอบขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2543 โดยรัฐบาลนอร์เวย์ และตั้งชื่อตาม นีลส์ เฮนริค เอเบล (Niels Henrik Abel) นักคณิตศาสตร์นอร์เวย์ที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 19
ทั้งนี้ปีที่ผ่านมา ศรีนิวาส วาราธาน" (Srinivasa Varadhan) ศาสตราจารย์ชาวอินเดีย จากสถาบันวิทยาการคณิตศาสตร์คูแรนท์ (Courant Institute of Mathematical Sciences) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) สหรัฐฯ ได้รับรางวัลนี้ จากผลงานเกี่ยวกับหลักการค่าเบี่ยงเบนขนาดใหญ่ (Large Deviation)
สำหรับปีนี้มีพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 20 พ.ค.51 ณ กรุงออสโล นอร์เวย์
ทั้งนี้ แม้ว่าเอเบลไพรซ์ได้รับการยกย่องให้เป็น "โนเบล" สำหรับสาขาคณิตศาสตร์ แต่ก็ยังมีรางวัลสำหรับนักคณิตศาสตร์อีกรางวัล ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีไม่แพ้กันนั่นคือรางวัล "ฟิล์ดมีดัล" (Field Medal) ซึ่ง ศ.ธอมป์สันเองก็เคยได้รับรางวัลหลังนี้เมื่อปี 2513 โดยขณะนั้นเขามียังอายุไม่ถึง 40 ปี.