xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นก็รู้จัก "คณิตศาสตร์" แค่ไว้ทอนตังค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่มองไม่ออกว่าจะประยุกต์ใช้ "คณิตศาสตร์" ในชีวิตประจำวันนอกเหนือไปจากคิกเงินทอนระหว่างซื้อของได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะ "ดร.จิน อากิยามา" นักคณิตศาสตร์จากแดนปลาดิบก็ชี้ให้เห็นว่าที่ญี่ปุ่นก็เห็นความสำคัญของตัวเลขแค่นั้น เพราะเป็นศาสตร์ของนามธรรมคนจึงมองผ่านและไม่เห็นความสำคัญ

ศ.ดร.จิน อากิยามา (Prof.Dr.Jin Akiyama) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาศึกษา (Research Institute for Educational Development) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางมาบรรยายพิเศษหัวข้อคณิตศาสตร์เพื่อชีวิตประจำวัน (Varous Applications of Math in Daily Life) ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ให้ความเห็นว่าไม่ใช่แค่เมืองไทยแต่ที่ประเทศญี่ปุ่นเองประชาชนทั่วไปก็มองไม่เห็นว่าจะคณิตศาสตร์จะมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันนอกเหนือไปจากใช้เพื่อการคำนวณระหว่างซื้อของ

"คนทั่วไปอาจรู้จักใช้การบวก-ลบระหว่างซื้อของ ใช้การคูณเพื่อคำนวณเมื่อซื้อสินค้าราคาเดียวกันหลายๆ ชิ้นและใช้การหารเพื่อแชร์ค่ารถกับเพื่อน แต่จริงๆ แล้วเราหาความสัมพันธ์ทุกอย่างกับคณิตศาสตร์ได้ ยกตัวอย่างเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) ที่แพทย์ใช้รักษาคนไข้ก็ประยุกต์มาจากทฤษฎีทางคณิตศาสตร์เรื่องฟูเรียร์ทรานฟอร์ม (Fourier Tranform) จุดสำคัญที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าคณิคศาสตร์ศาสตร์ไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันเพราะคณิตศาสตร์เป็นนามธรรม โปร่งใส คนจึงมองทะลุผ่านและไม่เห็นความสำคัญ" ศ.ดร.อากิยามากล่าว

อย่างไรก็ดีเนื่องจากมีช่องว่างระหว่างผู้ที่ใช้ประโยชน์ผลพวงจากการประยุกต์คณิตศาสตร์กับผู้คิดค้น จึงเป็นเหตุผลให้คนที่ไม่ได้คิดค้นมองไม่เห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์ ซึ่งนักคณิตศาสตร์จากญี่ปุ่นก็เห็นด้วยกับปัญหาดังกล่าว และเสริมว่ารูปแบบการใช้ชีวิตโประจำวันโดยทั่วไปนั้นทำให้คนที่ใช้ประโยชน์อันเป็นผลจากการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ไม่คิดถึงคนที่คิดค้น

"การจะให้คณิตศาสตร์เป็นที่จับต้องได้ก็ต้องสร้างแบบจำลองหรือของที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาเพื่อให้จับต้องได้เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน" ศ.ดร.อากิยามาสรุปสั้น ทั้งนี้เขาได้สร้างสื่อการสอนที่ช่วยอธิบายหลักการทางคณิตศาสตร์ให้เข้าใจได้ง่าย อาทิ ปริมาตรทรงกลมรูปแตงโมที่ประกอบด้วยทรงกรวยหลายๆ อันทำให้ง่ายต่อการคำนวณหาปริมาตรและที่มาของสูตรที่ใช้ในการคำนวณ หรือแม้แต่ความเชื่อมโยงของคณิตศาสตร์กับดนตรีที่นำมาอธิบายเรื่องบันไดเสียงได้ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น