xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์มอบ “ชุดป้องกันสะเก็ดระเบิด” ให้ทหารหาญชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ (ซ้าย) และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกลาโหม (ขวา) และนายทหารสวมชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดสังหารบุคคลโชว์ในพิธีส่งมอบ (ภาพจาก วท.)
คนไทยต่างภาวนาให้สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าสู่ความสงบโดยไว และเหล่าทหารวีรบุรุษของชาติจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีสวัสดิภาพ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงกลาโหมจึงร่วมกันพัฒนา “ชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดสังหารบุคคล” ขึ้น

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวในพิธีส่งมอบ “นวัตกรรมชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดสังหารบุคคล” เมื่อวันที่ 9 ก.ค.51 ณ ศาลาว่าการกลาโหม ว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้การสนับสนุนทางวิชาการระยะเวลา 1 ปี มูลค่า 1.5 ล้านบาทแก่สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (สวท.กห.) ในการพัฒนาชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดสังหารบุคคลขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา

ล่าสุด ได้มีการพัฒนาผลงานได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว โดยทดสอบกับระเบิดแสวงเครื่องชนิดระเบิดกำหนดทิศทาง (เคล์โม) พบว่าสามารถป้องกันสะเก็ดระเบิด กันความร้อน และลดอาการบอบช้ำของร่างกายได้ดี แถมได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยเอ็นไอเจ (NIJ: National Institute of Justice) ของสหรัฐฯ แล้ว ที่สำคัญยังพึ่งพิงวัตถุดิบส่วนใหญ่ในประเทศ จึงมีต้นทุนเพียง 8 หมื่นบาทต่อชุดโดยไม่รวมอุปกรณ์สื่อสารและระบายอากาศ จึงถูกกว่าเมื่อเทียบกับการนำเข้าชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดลักษณะเดียวกันนับสิบเท่า

สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว สวท.กห.ได้ร่วมมือบริษัท ยูไนเต็ด อาร์เมอร์ จำกัด พัฒนาเส้นใยสังเคราะห์การผลิตชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดสังหารบุคคลขึ้นโดยนำเส้นใยสังเคราะห์ 2 ชนิดคือ เคฟลาร์ (Kevlar) และสเปคตรา (Spectra) มาเรียงซ้อนผสมผสานกันในรูปแบบที่แน่นอน จนได้เส้นใยสังเคราะห์ชนิด “ยูเอชเอ็มดับเบิลยูพีอี” (UHMWPE: Ultra High Molecular Weight Poly Ethylene) ช่วยให้ชุดเกราะลดอันตรายได้มากขึ้น และได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท คอบร้า อินเตอร์เนชันแนล จำกัด พัฒนาหมวกป้องกันสะเก็ดระเบิด โดยชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดสังหารบุคคลมีน้ำหนักรวม 12 กก.

การส่งมอบครั้งนี้จะมอบชุดลดอันตรายดังกล่าวจำนวน 15 ชุดให้แก่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และอีก 2 ชุดจะเก็บรักษาไว้เพื่อการวิจัยพัฒนาต่อยอดในอนาคต” ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว โดยนวัตกรรมนี้จะทำให้กระทรวงกลาโหมสามารถนำนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นไปขยายผลแก่เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดเพื่อลดการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ พ.ต.บุญยืน แก้วแววน้อย หัวหน้าชุดปฏิบัติการหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดสังหารบุคคลถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับภารกิจการเก็บกู้วัตถุระเบิด โดยในการปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิดจะทำงานเป็นทีมๆ ละ 6 คน ในจำนวนนั้นเจ้าหน้าที่หนึ่งนายจะเป็นผู้สวมชุดดังกล่าวเพื่อเข้าเก็บกู้ระเบิด

ทหารหาญรายนี้ เผยด้วยว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจของไทยยังขาดแคลนอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่มาก โดยเฉพาะตำรวจตระเวนชายแดนที่เชื่อว่าแทบไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวใช้เลย ที่ผ่านมาต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก และไม่อาจซ่อมบำรุงได้เองในประเทศ การพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวขึ้นจึงช่วยให้เจ้าหน้าที่ไทยมีอุปกรณ์ดังกล่าวใช้งานอย่างทั่วถึง.
พ.ต.บุญยืน แก้วแววน้อย หัวหน้าชุดปฏิบัติการหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดสังหารบุคคล

กำลังโหลดความคิดเห็น