"สหัส" เผยไทยต้องเดินหน้า "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ย้ำใน 10 ปีควรมีเป็นของตนเอง ระบุต้องเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้และการลงประชามติตามกรอบรัฐธรรมนูญ 50 แต่หากประชาชนยังไม่เห็นด้วยก็จะไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เชื่อคนไทยวันนี้ฉลาดแล้ว ไม่ถูกมอมเมาด้วยข้อมูลด้านเดียว พร้อมสั่งปลัด วท.เป็นกลุ่มเลขานุการประสาน "พลังงาน-สิ่งแวดล้อม" ให้ทำงานเร็วขึ้น
นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการทำงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 มี.ค.51 โดยมีนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้อนรับ
ภายหลังรับฟังสรุปภารกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นายสหัสได้เปิดการแถลงข่าวโดยกล่าวถึงนโยบายการใช้พลังงานปรมาณูเป็นแหล่งพลังงานใหม่เพื่อปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศว่าเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้เริ่มต้นนับตั้งแต่วันนี้เพื่อสร้างความพร้อมด้านบุคคลากร อีกทั้งภายในเวลาประมาณ 10 ปี ประเทศไทยควรจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นของตนเอง
อย่างไรก็ตาม นายสหัส เน้นหนักว่า การดำเนินการดังกล่าวจะต้องกระทำภายใต้ความยินยอมของประชาชน โดยเฉพาะการทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีการศึกษาความเหมาะสมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การทำประชาพิจารณ์ และการลงประชามติตามกรอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งหากภาครัฐได้ให้ความรู้แก่ประชาชนแล้ว ประชาชนยังไม่มีทีท่าเห็นด้วยก็จะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อันเป็นการหักด้ามพร้าด้วยเข่าโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในการให้ความรู้แก่ประชาชนจะมีการให้ความรู้อย่างรอบด้านทั้งผลดีและผลเสียของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างไร นายสหัสตอบว่า ไม่มีความจำเป็นต้องกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากประชาชนปัจจุบันมีความรู้ที่เท่าทันดีแล้ว
"คุณไม่ต้องห่วงเรื่องนี้หรอก ประชาชนเขาฉลาด ไม่ต้องห่วงเลย ถึงจะบอกว่าดีๆ ยังไง แต่ประชาชนเขาก็มีความรู้ และสื่อเองก็จะให้ความรู้ด้านความเสี่ยงกับประชาชนอยู่แล้ว อย่างเรื่องการจัดการกากเชื้อเพลิงก็อาจต้องไปกำหนดในสัญญาก่อสร้างให้ส่งคืนได้ คำถามพวกนี้มันมาแน่ๆ ไม่ต้องกลัว" นายสหัสกล่าว
นอกจากนั้น เขาได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีความไม่ชอบมาพากลในโครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ซึ่งทำให้เกิดภาพลบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังเร่งดำเนินการอยู่ โดยเชื่อว่าหากให้ความรู้ประชาชนแล้ว ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของพลังงานปรมาณูก็จะหมดไปเอง
สำหรับการผลักดันวาระดังกล่าว นายสหัส เผยว่า เขาในฐานะผู้กำกับดูแลการทำงานของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 3 กระทรวง คือกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นตัวกลางประสานงานโดยร้องขอให้ ดร.สุจินดา ทำหน้าที่เป็นกลุ่มเลขานุการช่วยประสานระหว่างกระทรวงเพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น