"วุฒิพงศ์" เสนอแนวทางเชื่อมงานวิจัยกับรากหญ้า ผุดไอเดียจับมือมหาดไทยให้ "ผู้ว่าราชการจังหวัด" รับฟังปัญหารากหญ้าส่ง ก.วิทย์ หาทางแก้ปัญหาชาวบ้านด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ใต้บัญชาประสานเสียงเป็นแนวทางที่ดีเพราะที่ผ่านมายังเข้าไม่ถึงประชาชน แจงเบื้องต้นยังไม่ยื่นเรื่องเสนอ ครม. แต่ขอคุยกันก่อน
ระหว่างการเยี่ยมชม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ของนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 3 มี.ค.51 ที่ผ่านมา เขาได้เสนอแนวทางเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงงานวิจัยว่า กระทรวงมหาดไทยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่สามารถเข้าถึงและรับฟังปัญหาของประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงคิดว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ กระทรวงมหาดไทยน่าจะร่วมมือกันโดยให้รองผู้ว่าฯ เข้าไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านแล้วนำเสนอเรื่องให้กระทรวงวิทยาศาสตร์
"หากเรื่องไหนที่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์ได้ก็จะส่งนักวิจัยลงไปแก้ปัญหาหรืออาจให้เยาวชนที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และเป็นลูกหลานชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ รับหน้าที่ถ่ายทอดวิธีการแก้ปัญหา โดยเบื้องต้นยังไม่ยื่นเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีแต่จะเป็นการพูดคุยกันก่อน" นายวุฒิพงศ์กล่าว
อย่างไรก็ดีโดยโครงสร้างของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นั้นมีคลีนิคเทคโนโลยีที่รับหน้าที่ให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว เมื่อผู้สื่อข่าวถามโครงสร้างดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ชี้แจงว่าหาก ก.วิทย์ร่วมมือกับ ก.มหาดไทยจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของคลีนิคเทคโนโลยีมากขึ้น และถ้าให้รองผู้ว่าฯ ดูแลก็จะทำให้นโยบายของกระทรวงลงไปถึงระดับจังหวัดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เท่าที่ควร
ส่วน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ซึ่งได้รับการพาดพิงว่าทำงานวิจัยที่ลงไปไม่ถึงชาวบ้านระดับรากหญ้า ก็ได้ให้ความเห็นต่อแนวคิดดังกล่าวว่า จะเป็นประโยชน์กับสำนักงานในการดูปัญหาของท้องถิ่นว่ามีอะไรที่บ้างที่ต้องใช้การวิจัยแลพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งช่วยให้ทางสำนักงานเข้าใจความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น