ประธานชมรมผู้ผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ เสนอรัฐขยายการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น ย้ำศักยภาพผู้ผลิตไทยมีมาก แต่ผลิตได้ไม่เต็มกำลัง เพราะมีนโยบายรัฐมาจำกัด แนะยิ่งใช้ บี5 และบี10 ยิ่งเร็วยิ่งดี เสนอกระทรวงวิทย์ฯ ช่วยพัฒนาเครื่องจักรฝีมือคนไทย ด้านกระทรวงพลังงานเผยเตรียมชิมลางใช้ บี10 อีก 3 ปีต่อจากนี้
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ไอแท็ป) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดสัมมนา “แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันไบโอดีเซลในประเทศไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ
หลังจากเวทีสัมมนา นายอนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอไอ เอ็นเนอร์จี จำกัด จ.สมุทรสาคร และประธานชมรมผู้ผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ปัจจุบ้นผู้ประกอบการไบโอดีเซลไทยยังคงพบปัญหาเดิมๆ คือปัญหาวัตถุดิบหลักคือปาล์มน้ำมันไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ความต้องการใช้ไบโอดีเซล บี100 เพื่อผสมเป็นไบโอดีเซล บี2 และ บี5 ตามนโยบายกระทรวงพลังงานได้จำกัดอยู่เพียง 1.3-1.4 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพการผลิตจริงของผู้ประกอบการไทย 9 ราย ที่ได้การรับรองมาตรฐานไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ จากกรมธุรกิจพลังงานแล้ว ซึ่งผลิตรวมกันไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านลิตรต่อวัน และต่างเร่งขยายกำลังการผลิตสูงขึ้นในอนาคต
นายอนุรักษ์ ชี้ว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแย่งชิงตลาดกันเอง โดยออกมาตรการให้ส่วนลดเพื่อจูงใจผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ อาทิ ปตท. และ บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งอยู่ไม่ได้ และปิดตัวไป
อีกทั้งในเร็วๆ นี้ ยังจะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแย่งชิงตลาดอีกราว 20 ราย หรือคิดเป็นกำลังการผลิตไบโอดีเซล บี100 ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้ตลาดไบโอดีเซลไทยหนาแน่นเกินไป ภาครัฐจึงควรเข้าควบคุม โดยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไบโอดีเซลรายใหม่อย่างเร่งด่วน ซึ่งการที่ภาครัฐเร่งส่งเสริมใช้ไบโอดีเซล บี5 และ บี10 เร็วเท่าใดก็ยิ่งมีผลดีต่อผู้ประกอบการไบโอดีเซลไทยมากเท่านั้น
ส่วนเทคโนโลยีการผลิตไบโอดีเซลของผู้ประกอบการไทยนั้น ประธานชมรมผู้ผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ช่วยเหลือในการออกแบบเครื่องจักรการผลิตที่มีขนาดเล็กลง และปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ไบโอดีเซลที่มีมาตรฐานยิ่งขึ้น จากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเครื่องจักรการผลิตได้เองแล้ว ไม่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีต่างประเทศ
ขณะที่นโยบายล่าสุดจากภาครัฐ นายบุญส่ง เกิดกลาง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เผยว่า กระทรวงพลังงานมีแผนส่งเสริมให้สถานีบริการน้ำมันจำหน่ายไบโอดีเซลบี 5 ทั่วประเทศในต้นปี 54
พร้อมๆ กันนี้ ยังมีการนำร่องจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล บี10 หรือคิดเป็นความต้องการไบโอดีเซล บี100 จำนวน 3 ล้านลิตรต่อวัน เพื่อสนองความต้องการน้ำมันดีเซล 50 ล้านลิตรต่อวัน โดยเวลานี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาผลการใช้ไบโอดีเซลบี 10 กับรถยนต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายปีนี้
การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์ไบโอดีเซลจากผู้ประกอบการไทยและนโยบายภาครัฐ โดย รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผอ.ไอแท็ป กล่าวว่า ไอแท็ปจะอาสาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาควิจัยและภาคเอกชนไทย ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม
จากปัจจุบันที่ช่องว่างระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและผู้ประกอบการในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยียังเปิดกว้างมาก ซึ่งการที่ไอแท็ปทำหน้าที่หน่วยงานกลาง จะทำให้คล่องตัวในการเลือกสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ประกอบการแต่ละราย โดยไม่เข้าข้างผู้ประกอบการรายใดเป็นพิเศษ