xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียสนใจ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” แย้มต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช
ไม่เพียงแต่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นที่รู้จักในไทยเท่านั้น ล่าสุดสภาวิจัยสังคมศาสตร์อินเดียยังแสดงความสนใจ นำข้อมูลไปศึกษาเพื่อปรับใช้ในประเทศด้วย พร้อมเดินหน้าเจรจาร่วมสภาวิจัยแห่งชาติทำวิจัย “ข้าว” ต้านวิกฤติอาหารโลก

ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้สัมภาษณ์แก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ หลังพิธีเปิดการสัมมนาด้านการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกับสภาวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 22-23 พ.ค.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ ว่า วช.ได้จัดการสัมมนาขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อนำไปปรับใช้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากทั้ง 2 หน่วยงานได้ลงนามความร่วมมือด้านการประชุมสัมมนาวิชาการ การแลกเปลี่ยนนักวิจัย องค์ความรู้ และสิ่งตีพิมพ์ด้านสังคมศาสตร์ตั้งแต่การจัดงานนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ เมื่อ ก.ย.49 โดยสภาวิจัยแห่งชาติ

นอกจากสภาวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศอินเดียแล้ว สภาวิจัยแห่งชาติยังได้ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์กับประเทศจีนมาก่อนแล้ว

สำหรับไฮไลต์ในวันแรกของการสัมมนาคือ การปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอินเดีย” โดย น.ส.ลัดธา เรดดี (Ladtha Reddy) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี

ภายหลังการบรรยายเรื่องดังกล่าว สภาวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศอินเดียได้แสดงความสนใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และขอให้สภาวิจัยแห่งชาติส่งข้อมูลเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปให้ศึกษาเพื่อปรับใช้กับประเทศอินเดียด้วย

นอกจากนี้ การสัมมนายังประกอบด้วยการสัมมนาหัวข้อย่อยต่างๆ เช่น การสัมมนาร่วมกันของนักวิจัยไทยและอินเดียในหัวข้อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการควบคุมมลพิษเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การบรรยายเรื่องดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน และการบรรยายกรณีศึกษาแบบจำลองการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย เป็นต้น

เลขาธิการ วช. กล่าวด้วยว่า ผลการสัมมนายังจะทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับความร่วมมือการวิจัย “ข้าว” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ 2 ประเทศเห็นพ้องให้มีการศึกษาในฐานะที่ทั้ง 2 ประเทศต่างเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของโลก อาทิ วิธีการเพิ่มผลผลิตข้าว เทคโนโลยีการจัดการข้าว โดยเฉพาะการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งจะมีการพิจารณาขยายกองทุนวิจัยร่วมด้านสังคมศาสตร์ เพื่อเปิดช่องให้นักวิจัยสังคมศาสตร์ไทยเข้าไปทำการวิจัยในประเทศอินเดียได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่กำหนดไว้เพียง 6 ราย/ปี

ทั้งนี้ ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากจีน  และเป็นประเทศต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น