xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงบวิจัยชาติ ทุ่ม "วิศวกรรม" สูงสุด 6 พันล้าน รัฐเน้นเกษตร วิจัยสังคมน้อยสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำรวจงบประมาณวิจัยไทยทุ่มลงทุนด้าน "วิศวกรรม" มากที่สุด 6 พันล้าน ชี้ภาคเอกชนเป็นแหล่งเงินทุนวิจัยทุกสาขาดีที่สุดกว่า 7 พันล้าน ส่วนภาครัฐทุ่มวิจัยเกษตรมากสุด รวมงบวิจัยทั้งหมด 0.26% ของจีพีดี "เลขาฯ วช." ผู้คุมยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติระบุภาพรวมยังลงทุนอยู่ ชี้พร้อมผลักดันการลงทุนเป็น 1.5% ของจีดีพีตามแผนพัฒนาฉบับ 9

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาเผยแพร่การสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศประจำปี 2550 ในวันที่ 18 ม.ค.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ ซึ่งเผยผลการสำรวจของปี 2548 จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน อุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนไม่ค้ากำไร กว่า 10,000 หน่วยงาน พบว่ามีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 16,667 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.26% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้เป็นงบประมาณแผ่นดิน 7,735 ล้านบาทหรือ 0.62% ของงบประมาณแผ่นดิน และอีก 7,592 ล้านบาทจากภาคเอกชน

เมื่อจำแนกเป็นสาขาวิจัยพบว่ามีค่าใช้จ่ายในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุดคือ 6,375 ล้านบาทและที่น้อยสุดคือสาขามนุษยศาสตร์ 184 ล้านบาท เมื่อแยกพิจารณาเป็นหน่วยงานพบว่า

- ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายสาขาเกษตรศาสตร์มากที่สุด 1,323.2 ล้านบาทและน้อยที่สุดคือสาขามนุษยศาสตร์ 6.2 ล้านบาทหรือ 46% และ 0.2% ของการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐ ตามลำดับ

- ภาคอุดมศึกษารัฐบาลมีค่าใช้จ่ายสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุด 2,051.9 ล้านบาทและน้อยที่สุดคือสาขามนุษยศาสตร์ 152.6 ล้านบาท หรือ 33% และ 2% ของการวิจัยและพัฒนาในภาคอุดมศึกษารัฐบาล ตามลำดับ

- ภาคอุดมศึกษาเอกชนมีค่าใช้จ่ายสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุดเช่นเดียวกับภาคอุดมศึกษารัฐบาล 102.7 ล้านบาท และน้อยที่สุดคือสาขาวิทยาศาสตร์ 1 ล้านบาท หรือ 77% และ 1% ของการวิจัยและพัฒนาในภาคอุดมศึกษาเอกชน ตามลำดับ

- ภาครัฐวิสาหกิจมีค่าใช้จ่ายสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุด 369.2 ล้านบาท และน้อยที่สุดคือสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 24.8 ล้านบาทหรือ 63% และ 4% ของการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐวิสาหกิจ ตามลำดับ

- ภาคเอกชนมีค่าใช้จ่าย 2 ด้านคือ อุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมากที่สุด 6,132.7 ล้านบาทและด้านอุตสาหกรรมบริการ 546 ล้านบาท หรือ 91.82% และ 8.18% ของการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน ตามลำดับ

- ภาคเอกชนไม่ค้ากำไรมีค่าใช้จ่ายสาขาสังคมศาสตร์มากที่สุด 135.7 ล้านบาท และน้อยที่สุดคือภาควิทยาศาสตร์การแพทย์ 0.7 ล้านบาท หรือ 86% และเกือบ 0% ของการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนไม่ค้ากำไร ตามลำดับ

จำนวนบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดของประเทศ 67,876 คน ซึ่งเป็นบุคลากรวิจัยในภาคอุดมศึกษามากที่สุด 36,464 คน และน้อยที่สุดคือภาคเอกชนไม่ค้ากำไร 462 คน

เมื่อจำแนกเป็นนักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัยและผู้ทำงานวิจัยพบว่าบุคลากรวิจัยเป็นนักวิจัยมากที่สุด 34,084 คน โดยในภาคอุดมศึกษามีนักวิจัยมากที่สุดคือ 21,101 คน รองลงมาคือภาคเอกชน 6,402 คน แต่หากจำแนกตามสาขาวิจัยแล้วพบว่ามีนักวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์มากที่สุดคือ 9,597 คน รองลงมาคือสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

ส่วนค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของแต่ละหน่วยงานแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้ 2 ประเภทคือค่าใช้จ่ายในการลงทุนซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายหมุนเวียนซึ่งเป็นค่าจ้างแรงงาน เงินเดือน ค่าตอบแทน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ยกเว้นภาครัฐวิสาหกิจมีค่าใช้จ่ายหมุนเวียนมากกว่า 90%

นางดวงวรพร สิทธิเวทย์ ผู้อำนวยการภารกิจนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย วช. ซึ่งรับผิดชอบการสำรวจค่าใช้จ่ายทางการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไทยลงทุนการวิจัยน้อยและยังมีบุคลากรการวิจัยทั้ง 3 ประเภทอยู่น้อย ซึ่งการลงทุนวิจัยและพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชนนี้เป็นเกณฑ์หนึ่งที่นำไปใช้ชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อมองภาพรวมพบว่าไทยลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากสุด 88% และภาคสังคม 12%

"ทั้งนี้ต้องดูวิทยาศาสตร์และสังคม จะเพิ่มแต่จีดีพีไม่ได้ต้องให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่โดยภาพรวมการลงทุนวิจัยยังต่ำในทุกด้าน" นางดวงวรพรกล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่าบางประเทศก็ไม่เก็บข้อมูลการวิจัยและพัฒนาในภาคสังคม

ด้าน ศ.ดร.อานนท์ บุญรัตเวช เลขาธิการ วช.กล่าวว่าตัวเลขการสำรวจในปี 2548 นั้นจำนวนนักวิจัยและงบลงทุนวิจัยยังน้อยอยู่ แต่หากสำรวจของปี 2549-2550 น่าจะได้ตัวเลขที่ดีกว่านี้เพราะ วช.ซึ่งดูแลยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติได้เสนอแผนยุทธศาสตร์การวิจัยซึ่งน่าจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้ได้ตัวเลขที่ดีขึ้น โดยทาง วช.จะพยายามเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาจาก 0.26% เป็น 1.5% ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9

เมื่อเทียบเงินลงทุนวิจัยและพัฒนากับผลงานที่ออกมานั้น เลขาฯ วช.กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีหลังคือ 2547-2548 นี้งานวิจัยเร่งประสิทธิภาพขึ้นมาก มีงานวิจัยหลายงานที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน งานวิจัยมีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก และแนวโน้มในอนาคตจำนวนนักวิจัยและนักวิจัยต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น