xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ "ยาชา" ในระดับนาโนด้วยไคติน-ไคโตซาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยปิโตรเคมี จุฬาฯ เผยงานวิจัยใช้ไคติน-ไคโตซานผลิตตัวนำส่งยาชา ระบุหาสารมีขั้วและไม่มีขั้วที่เหมาะสมทำให้พอลิเมอร์เรียงตัวเหมาะกับเป็น "กล่อง" บรรจุยา ประเดิมใช้กับยาชาก่อน

รศ.ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงงานวิจัยในการพัฒนาตัวนำส่งยาจากไคติน-ไคโตซานในระดับนาโนเมตรสำหรับบรรจุยาชาระหว่างงานสัมมนา "วช.กับงานวิจัยนาโนเทคโนโลยี" ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร โดยการพัฒนาสารมีขั้วหรือสารที่ชอบน้ำและสารไม่มีขั้วหรือสารไม่ชอบน้ำที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้โมเลกุลของไคติน-ไคโตซานเรียงตัวเป็นทรงกลมที่เหมาะแก่การบรรจุยาชาในระดับนาโนเมตรได้

ทั้งนี้นักวิจัยจากวิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬาฯ ระบุว่าได้พัฒนาระบบนำส่งยาที่เปรียบเสมือนการทำ "กล่องเปล่า" สำหรับบรรจุตัวยา โดยการพัฒนาไคติน-ไคโตซานซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชนิดหนึ่งให้พร้อมที่จะรับโมเลกุลอื่น ด้วยการหาสารที่มีหมู่ฟังก์ชันแบบมีขั้วและไม่มีขั้วอย่างเหมาะสมซึ่งทำให้พอลิเมอร์ที่ได้จากธรรมชาติม้วนเป็นทรงกลมได้จากการเรียงตัวของสารที่มีขั้วกับสารมีขั้วและสารไม่มีขั้วกับสารไม่มีขั้ว โดยเขาได้พัฒนาตัวนำส่งยาที่มีความเล็กในระดับ 200 นาโนเมตร

"เปรียบเสมือนให้เราที่นั่งอยู่กัน 5-6 คนเรียงตัวกันเป็นกลุ่ม ด้วยการจัดเรียงแบบให้หันหน้าเข้าหากันและหันด้านหลัง ซึ่งเราใส่การเป็นด้านหน้า-ด้านหลังให้โมเลกุลของพอลิเมอร์ด้วยการเติมสารที่มีขั้วและสารไม่มีขั้ว สารที่มีขั้วก็จะจับกับสารมีขั้วและสารไม่มีขั้วก็จับกับสารไม่มีขั้ว เหมือนที่เราเห็นว่าน้ำกับน้ำมันไม่เข้ากัน" รศ.ดร.สุวบุญอธิบาย โดยวิธีดังกล่าวทำให้เกิดปรากฏการณ์จัดเรียงตัวด้วยตัวเอง (Self Assembly) และสามารถทดลองซ้ำเพื่อให้เกิดรูปร่างทรงกลมที่ต้องการได้

งานวิจัยที่อาศัยความร่วมมือกับนักวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และศูนย์วัสดุชีวภาพไคติน-ไคโตซาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของ รศ.ดร.สุวบุญ นี้มาถึงขั้นที่ได้ไคติน-ไคโตซานในรูปที่พร้อมรับโมเลกุลชนิดอื่นหรืออยู่ในขั้นที่สามารถพัฒนากล่องสำหรับบบรจุของได้ แต่ยังต้องพัฒนาไปสู่การใช้งานได้จริง เนื่องจากปัจจุบันทำให้ยาชายึดติดกับโมเลกุลของไคติน-ไคโตซานที่พัฒนาขึ้นมาได้เพียง 5-10% ทั้งนี้ต้องการให้ถึงระดับ 50%

เหตุผลสำคัญที่นักวิจัยเลือกไคติน-ไคโตซานเป็นวัสดุในการนำส่งยาเพราะเป็นวัสดุที่เหลือใช้ปริมาณมากของไทยและที่สำคัญมากคือไม่มีพิษต่อร่างกายและย่อยสลายได้ เมื่อวัสดุนำส่งยาดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายจะช่วยป้องกันตัวยาถูกทำลายจะระบบการย่อยต่างในร่างการได้ ทำให้ใช้ยาในปริมาณน้อยก็ส่งผลต่อการรักษา

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.สุวบุญเผยว่าต้องใช้เวลาอีกราว 1-2 ปีจึงจะนำงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง เนื่องจากยังต้องมีการศึกษาทางด้านการแพทย์และการทดลองกับสิ่งมีชีวิตอีกต่อไป และงานวิจัยนี้ยังนำไปสู่การพัฒนายาชาชนิดทาที่ช่วยลดความเจ็บปวดให้กับป่วยแทนการฉีดยาได้

ส่วนเหตุผลที่พัฒนาไคติน-ไคโตซานสำหรับเป็นตัวส่งยาชานั้น เจ้าของงานวิจัยระบุว่าเพระาเป็นงานวิจัยในระดับที่ไทยทำได้ง่ายและมีมูลค่าเพิ่มทางการตลาด โดยยกตัวอย่างการใช้ยาชาเพื่อการศัลยากรรมความงามว่าหากงานวิจัยนี้สำเร็จก็จะได้ตัวยาในรูปแบบการทาที่ช่วยลดความเจ็บปวดจากการใช้เข็มฉีดยาได้.

กำลังโหลดความคิดเห็น