xs
xsm
sm
md
lg

24-26 มี.ค.ชมงานวิจัยถึง "รากหญ้า" ในงาน NAC 2008

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชมนิทรรศการงานวิจัยถึงรากหญ้าในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. 24-26 มี.ค.นี้ อาทิ เทคโนโลยีเพื่อผลผลิตให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง เทคโนโลยีขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การผลิตน้ำมันจากเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ หรือการย้ายฝากตัวอ่อนวัวนมแบบแช่แข็ง เป็นต้น

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมประจำปี 2551 (NAC 2008) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ระหว่าง 24-26 มี.ค.51 ภายใต้หัวข้อ "อยู่ดีมีสุข ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" (HAppy Living Trough Science and Technology) ซึ่งนอกจากงานสัมมนาแล้วยังมีนิทรรศการผลงานของหน่วยงานใน สวทช.ด้วย ลองมาดูกันว่าผลงานที่นำเสนอในปีนี้มีอะไรสอดคล้องกับการอยู่ดีมีสุขบ้าง

คนแพ้ "ผงชูรส" เห็นผลงานนี้คงยินดีที่นักวิจัยไทยหาสารที่เพิ่มรสชาติอาหารได้จากการหมักถั่วเหลืองกับจุลินทรีย์จนได้เป็น "อูมามิ" ที่มีคุณสมบัติคล้ายโมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรสแต่ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้

หลายคนอาจตกใจเมื่อเข้าชมนิทรรศการแล้วพบวัวน้อย 2 ตัวนอนเคี้ยวเอื้องอยู่บนกองฟาง โคนมที่เห็นเป็นผลจากการย้ายฝากตัวอ่อนแบบแช่แข็ง ซึ่งเป็นวิธีที่นำน้ำเชื้อและไข่ของโคนมไปผสมภายนอกร่างกายแล้วเลี้ยงไว้เป็นตัวอ่อน 7 วัน จากนั้นนำตัวอ่อนไปฝากยังแม่วัวอีกตัว หรือแช่แข็งตัวอ่อนไว้รอการย้ายฝากต่อไป วิธีดังกล่าวเป็นการเพิ่มจำนวนลูกวัวพันธุ์ที่ต้องการในจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

ส่วนใครที่ชื่นชอบกล้วยไม้น่าจะสนใจมุมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีทั้งกล้วยไม้ซึ่งบานในขวดและกล้วยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจำนวนมาก


กรณีของหม้อก๋วยเตี๋ยวที่มีสารตะกั่วเนื่องจากการเชื่อมบัดกรีอาจสร้างความกังวลใจให้กับใครหลายๆ คน แต่เราทางออกด้วยหม้อก๋วยเตี๋ยวที่ได้จากการเชื่อมทิก (TIG) ที่ทำให้เนื้อโลหะของหม้อเชื่อมกันเอง และ สวทช.ก็มีโครงการฝึกอบรมวิธีเชื่อมดังกล่าวให้กับช่างเชื่อมที่สนใจ

อีกเทคโนโลยีที่น่าจะถูกใจเกษตรกรเลี้ยงกุ้งคือเทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิตในฟาร์มกุ้งที่ครบวงจรตั้งแต่ ขั้นอนุบาลตัวอ่อนไปจนถึงการพัฒนาพ่อ-แม่พันธุ์กุ้งให้ออกไข่ได้ในปริมาณมาก รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กุ้งคล้าย "การฉีดวัคซีน" ในคน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นได้ด้วยการให้อาหาร

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของการขึ้นรูปผงโลหะซึ่งช่วยลดขั้นตอนในการหลอมโลหะที่ต้องใช้พลังงานมากสำหรับวัสดุที่มีจุดหลอมเหลวสูง โดยการขึ้นรูปนั้นจะผสมผงโลหะกับพอลิเมอร์แล้วพิมพ์ลงในแม่พิมพ์ พอลิเมอร์จะช่วยให้ผงโลหะยึดติดกับแม่พิมพ์ จากนั้นนำไปเผาเพื่อไล่พอลิเมอร์ออกจะได้วัสดุโลหะที่ต้องการ

ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากลองมาชมผลงานด้วยตัวเองได้ที่อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น