สวทช.ใจป้ำทุ่ม 300 ล้านบาท ร่วมมือ 3 มหาวิทยาลัย เดินหน้าวิจัยเพิ่มศักยภาพและความหลายหลายให้เส้นใยสังเคราะห์ เตรียมตั้งโรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมแห่งแรกในประเทศปลายปีนี้ รองรับทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย และยังประยุกต์ใช้งานได้ในทางการแพทย์และวิศวกรรม เผยเพื่อนบ้านมีกันเกือบหมดแล้ว
แฟชั่นไทยกำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่อุตสาหกรรมต้นทางอย่างการผลิตเส้นใยกลับตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่หลายขุม และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สิ่งทอของไทยก็จะเจอทางตันเข้าให้สักวันหนึ่ง และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งสินค้าและเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เตรียมจัดตั้งโรงงานต้นแบบเส้นใยสังเคราะห์ผสม (Bi-component fiber pilot plant) แห่งแรกในประเทศไทย โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันไปเมื่อวันที่ 29 เม.ย.51 ณ อุทธยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผอ.ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้จากการส่งออกให้ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท และประเทศไทยก็มีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งอุตสาหกรรมเส้นใย ทอและถักผ้า ฟอก ย้อม ไปจนถึงผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ที่ยาวมาก
"สิ่งทอหรือเส้นใยยังนำไปใช้ทางด้านเทคนิคอื่นๆ ได้อีก เช่น เฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่งในอาคาร ถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัย และใช้เพิ่มความแข็งแรงในวัสดุก่อสร้าง ซึ่งการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น ต้องการความหลากหลายและมีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำของไทยก้าวหน้ามาก แต่ยังขาดอุตสาหกรรมและงานวิจัยต้นน้ำที่จะมาหนุนตรงนี้ได้" ดร.วิวัฒน์ กล่าว
นาโนเทคจึงได้ร่วมกับ มทร.กรุงเทพ เตรียมจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสม ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท ในการดำเนินงานช่วง 5 ปีแรก โดยซื้อเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา มีเครื่องฉีดเส้นใยสังเคราะห์ผสมระดับโรงงานต้นแบบ (Bi-component fiber spinning pilot machine) เป็นหัวใจของโรงงาน เบื้องต้นในปีแรกจะใช้งบ 60 ล้านบาทในการจัดตั้งโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้
สำหรับตัวโรงงานต้นแบบจะจัดตั้งขึ้นในบริเวณพื้นที่ของ มทร.กรุงเทพ ซึ่ง ผศ.เฉลิม มัติโก อธิการบดี มทร.กรุงเทพ เผยว่า ทางมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่และเทคโนโลยีบางส่วน เนื่องจากมีหลักสูตรที่เปิดสอนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอมานานกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งมีความเข้มแข็งในส่วนของช่วงกลางน้ำ แต่ยังอ่อนในส่วนต้นน้ำและปลายน้ำอยู่ จึงคิดว่าโรงงานต้นแบบนี้จะช่วยเสริมศักยภาพในเรื่องดังกล่าวได้
ทั้งนี้ ทางนาโนเทคยังได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับ มทร.กรุงเทพ, มทร.ธัญบุรี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมเพื่อสร้างเส้นใยสังเคราะห์ที่มีความหลากหลาย มีคุณสมบัติพิเศษตรงตามความต้องการ ยกระดับความสามารถการวิจัยพัฒนาด้านสิ่งทอของประเทศให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้วย ซึ่งหากโรงงานต้นแบบจัดตั้งแล้วเสร็จ ส่วนหนึ่งก็จะเปิดให้ภาคเอกชนเข้าไปใช้บริการได้ด้วย
ด้าน ดร.นพวรรณ ตันพิพัฒน์ รอง ผอ.นาโนเทค กล่าวรายละเอียดว่า เส้นใยสังเคราะห์ผสม เป็นเส้นใยที่ฉีดขึ้นรูปจากพอลิเมอร์ 2 ชนิดขึ้นไปให้รวมอยู่ในเส้นเดียวกัน ซึ่งพอลิเมอร์แต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น พีอีที (PET), พีพี (PP), พีอี (PE) และอื่นๆ ที่สามารถฉีดเป็นเส้นใยได้ ทำให้เส้นใยสังเคราะห์ที่ได้มีคุณสมบัติหลากหลายมากขึ้น
"เส้นใยสังเคราะห์ผสมสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งสิ่งทอทางการแพทย์ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับให้ผ้าก๊อซปิดแผล, หน้ากากอนามัยกองเชื้อโรค, ผ้าอ้อมเด็กปลอดเชื้อโรค สิ่งทอทางการกีฬา เช่น เสื้อนักกีฬาระบายเหงื่อได้เร็ว ทนต่อแรงดึงสูง ปราศจากกลิ่นและเชื้อโรค สิ่งทอยานยนต์ เช่น เข็มขัดนิรภัย เบาะนั่งกันไฟปราศจากกลิ่นและเชื้อโรค เป็นต้น" ดร.นพวรรณ แจง ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมนี้เริ่มมีใช้ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และเวียดนาม
ดร.วิวัฒน์ เสริมว่า ในช่วงแรกจะเริ่มต้นที่การผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมไมโครไฟเบอร์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มก่อน จากนั้นจะดูความต้องการของตลาดต่อไป และอาจพัฒนาไปสู่การผลิตเส้นใยนาโน ซึ่งหากผลิตเป็นระดับนาโนตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตเส้นใย จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทน แข็งแรง และปลอดภัยการนำสิ่งทอไปเคลือบด้วยอนุภาคนาโนในภายหลัง ซึ่งมีโอกาสหลุดออกและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า.