ตั้งท่าทำ "นาโนมาร์ก" การันตีสินค้า "นาโนเทคโนโลยี" แต่เอาเข้าจริงๆ การสร้างมาตรฐานให้เทคโนโลยีจิ๋วไม่ง่ายอย่างที่คิด ขาดเทคนิคที่จะวิเคราะห์เทคโนโลยีโดยเฉพาะ และถ้ามาตรฐานออกมาคงอนุญาตให้แค่ระบุ "นาโน" ลงสินค้าได้ ปลายเดือนนี้นาโนเทคเตรียมร่วมประชุมตั้งมาตรฐานไอเอสโอนาโนในระดับสากล
เมื่อต้นปี 2550 ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้ออกมาให้ข่าวว่าเตรียมทำ "นาโนมาร์ก" (Nano Mark) เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นนาโนเทคโนโลยีจริง และคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกินครึ่งปี แต่ผ่านมาแล้วเกือบปีครึ่งก็ยังไม่มีวี่แววว่ามาตรฐานดังกล่าวจะออกมาเมื่อไหร่
ล่าสุด "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จึงได้สอบถามยังผู้เกี่ยวข้องในระดับปฏิบัติการ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา นักวิชาการและหัวหน้าหน่วยบริการวิเคราะห์ทดสอบ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งให้ข้อมูลว่าการกำหนดมาตรฐานนาโนมาร์กเป็นเรื่องยาก เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องความปลอดภัย ที่หลายฝ่ายกังวลว่าหากรับรองฉลากให้สินค้านั้นๆ ว่าเป็นนาโนเทคโนโลยีจริงแล้ว แต่ภายหลังสินค้าดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ก็จะเป็นปัญหา
นอกจากนี้ยังติดปัญหาในเรื่องการขาดวิธีทดสอบมาตรฐานว่าสินค้านั้นเป็นนาโนเทคโนโลยีจริงหรือไม่และขาดมาตรฐานทดสอบความปลอดภัย
"วิธีมาตรฐานที่ใช้ยังทดสอบลงไปถึงระดับอนุภาคไม่ได้ โดยยังใช้วิธีทดสอบที่ปกติใช้กับการทดสอบสารเคมี ซึ่งการทดสอบกับผลิตภัณฑ์นาโนบางครั้งให้ผลเป็นบวก บางครั้งให้ผลเป็นลบ คืออยู่ในระดับที่ยังเชื่อถือไม่ได้ ปัจจุบันจึงต้องใช้การวิเคราะห์หลายๆ วิธี ซึ่งบางวิธีอาจให้ผลที่เป็นบวกแต่บางวิธีอาจให้ผลที่เป็นลบ แล้วดูแนวโน้มของผลวิเคราะห์นั้น" ดร.ณัฐพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลมาตรฐานสินค้านาโนในประเทศไทยก็ได้มอบหมายให้ ดร.ณัฐพันธุ์เดินทางไปร่วมประชุมในปลายเดือน พ.ค.นี้ กับมาตรฐานไอเอสโอ (ISO) ซึ่งกำลังจะออกมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีออกมาเฉพาะ
องค์กรมาตรฐานระดับโลกนี้มีคณะทำงานทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ตั้งนิยามของนาโนเทคโนโลยีซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร กลุ่มพัฒนาเทคนิควิเคราะห์ซึ่งนำโดยญี่ปุ่น และกลุ่มที่ดูและเกี่ยวกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมซึ่งนำโดยสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทำงานใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมาคือกลุ่มกำหนดสเปกของวัสดุซึ่งนำโดยจีน
"ตอนนี้มีเพียงไต้หวันประเทศเดียวที่มีมาตรฐานนาโนสำหรับผลิตภัณฑ์ แต่ก็ไม่มีใครนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ อย่างไรก็ดีหากมาตรฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นาโนออกมาแล้วคงจะเป็นเพียงการอนุญาตให้ใช้ชื่อนาโนได้ ไม่ได้ออกฉลากรับรองนาโนมาร์กเพราะว่านาโนเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่กว้างมาก" นักวิชาการจากนาโนเทคกล่าว.