หากใครกำลังจะควักกระเป๋าจ่ายตังค์ เพื่อซื้ออาหารแปลกๆ ที่อ้างว่าใช้ "นาโนเทคโนโลยี" โดยเติมสารที่สุดพิสดารและไม่เคยอยู่ในเมนูอาหารของคุณมาก่อน โปรดหยุดคิดและพิจารณาให้ดี ทั้งนี้นักวิชาการนาโนเทคระบุว่าสารพิเศษที่จะเติมในอาหารได้ต้องเป็นสารชีวภาพที่กินได้เท่านั้น
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา นักวิชาการและหัวหน้าหน่วยบริการวิเคราะห์ทดสอบ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการสัมมนา "นาโนเทคโนดลยีเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร" ณ โรงแรมสยามซิตี เมื่อวันที่ 30 เม.ย.51 ว่าปัจจุบันมีการนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้กับอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น โดยอยู่ในรูปแบบของ "แคปซูลนาโน" ที่ช่วยเก็บสารอาหารหรือวิตามินสำหรับผสมลงในเครื่องดื่ม
ทั้งนี้วิตามินบางชนิดที่ละลายในน้ำมัน เมื่อนำไปผสมลงเครื่องดื่มโดยตรง ก็จะได้เครื่องที่ขุ่นดูไม่น่าบริโภค แต่หากบรรจุลงแคปซูลนาโนก่อน ก็จะได้เครื่องดื่มที่ใส หรือบางครั้งใช้เก็บรักษาสารอาหารที่สลายตัวได้ง่ายอย่างวิตามินซี
"อย่างไรก็ดีสินค้าที่ใช้กับอาหารต้องเป็นสารชีวภาพทั้งหมด ไม่เติมสารที่ไม่ใช้กับอาหาร อย่างน้ำนาโนหรือน้ำแร่ที่อ้างว่าเติม "ซิลเวอร์นาโน" (nanosilver) ซึ่งไม่ใช่สารชีวภาพ เป็นต้น" ดร.ณัฐพันธุ์ยกตัวอย่าง ซึ่งแม้จะผ่านกระบวนการนาโนเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ปลอดภัย เพราะการนำสารจำพวกเงินมาผสมลงไปในน้ำดื่ม หากรับประทานเข้าไปอาจก่ออันตรายต่อร่างกายได้
นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์น้ำดื่มหลายชนิดที่อ้างว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคภายในร่างกายได้ แต่ไม่ได้ผ่านการรับรองความปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากโฆษณาเกินจริง และบางชนิดไม่ได้มีกระบวนการนาโนเทคโนโลยี เป็นเพียงการนำเกลือมาผสมเท่านั้น
"ทั้งนี้จะมีคุณสมบัติที่เป็นนาโนได้ นอกจากขนาดที่เล็กระดับนาโนแล้ว ต้องมีคุณสมบัติที่เกิดขึ้นหลังจากขนาดที่เล็กลง เช่น ทองเมื่อเป็นอนุภาคใหญ่ก็ค่อยทำปฏิกิริยากับสารอื่น แต่เมื่อมีขนาดเล็กลงก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดี และขนาดที่เล็กลง มีความถูกต้อง แม่นยำและควบคุมได้" ดร.ณัฐพันธุ์กล่าว
ในส่วนของการเก็บสารอาหารต่างๆ ลงแคปซูลซึ่งเรียกว่า "เอนแคปซูเลชัน" (encapsulation) นั้น ดร.อิสรา สระมาลา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สามารถใช้กระบวนการผลิตง่ายๆ ซึ่งมีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมที่เรียกว่า "การเป่าแห้ง" (spray dry) โดยจะผสมสารที่ต้องการกับสารที่ต้องการใช้เป็นเปลือกหุ้ม แล้วเป่าผ่านลมร้อน สารที่ทำหน้าที่เป็นเปลือกจะหดตัวแล้วหุ้มสารที่ต้องการไว้กลายเป็นแคปซูลขนาดเล็ก แต่ทั้งนี้ก็อาจมีการปรับปรุงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในกระบวนการผลิต
"ตัวอย่างของสารที่นำไปบรรจุลงแคปซูลนาโน เช่น สารออกฤทธิ์ในมะระขี้นก ซึ่งเดิมอาจจะใช้วิธีกลบกลิ่นและรส แต่เมื่อกินไปแล้วก็ยังคงมีรสขมและกลิ่นเหม็นเขียวของมะระขี้นกอยู่ เมื่อนำไปเคลือบแคปซูลก็ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนอาหารเสริมหรือนำไปทำเป็นอาหารอื่นอย่างไอศครีมได้ หรือเคลือบน้ำมันปลาเพื่อกลบกลิ่นคาว เป็นต้น" ดร.อิสรากล่าว
นอกจากนาโนเทคโนโลยีมีบทบาทในการบรรจุสารอาหารลงแคปซูลเพื่อลดข้อจำกัดของอาหารในหลายๆ ด้านแล้ว ยังมีการประยุกต์ใช้กับบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นพลาสติกที่ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ในขั้นของการวิจัย หรืออาจจะพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ฉลาดที่สามารถระบุสถานภาพของอาหารและผัก-ผลไม้ต่างๆ ได้ว่าอยู่ในสภาพที่รับประทานได้หรือไม่
ทั้งนี้นาโนเทคมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับอาหารทั้งที่เริ่มทำแล้วและกำลังจะทำคือ การผลิตแคปซูลนาโนเก็บกลิ่นคาวของน้ำมันปลาซึ่งได้เริ่มมาครึ่งปีและทราบวิธีเก็บกลิ่นแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นการตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพการกักเก็บกลิ่น และกำลังจะวิจัยบรรจุภัณฑ์ที่สามารถระบุสภานภาพของอาหารได้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะตรวจจับสารตกค้างในอาหาร.