เตือนสาวกผลิตภัณฑ์นาโน ใส่เสื้อเคลือบนาโน-โบ๊ะแป้งนาโน ระวังอนุภาคจิ๋วหลุดปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม นักวิจัยมะกันออกโรงเตือนให้ตระหนักถึงผลที่จะตามมาจากนาโนเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เผยเอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่เคลือบอยู่บนเส้นใยสิ่งทอสามารถหลุดร่อนออกจากเสื้อผ้า ปนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ แถมยังอาจเป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตที่รับเข้าไปได้
สินค้าที่มีนาโนเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องมีวางจำหน่ายแพร่หลายมากขึ้นทุกขณะ ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเลือกใช้ในชีวิตประจำวันได้ตามสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อนาโน ถุงเท้านาโน กระเป๋านาโน หรือเครื่องสำอางนาโน
แต่อนุภาคนาโนที่ใช้มิได้อยู่คงทนถาวรกับสินค้าเหล่านั้นตลอดไป แต่จะหลุดร่อนไปตามกาลเวลา นักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาจึงศึกษาผลของอนุภาคซิลเวอร์นาโนต่อสิ่งมีชีวิตอื่น และนำผลงานวิจัยมานำเสนอระหว่างการประชุมของสมาคมเคมีอเมริกา (American Chemical Society: ACS) ครั้งที่ 235
พอล เวสเทอร์ฮอฟ (Paul Westerhoff) และ ทรอย เบนน์ (Troy M. Benn) มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท (Arizona State University) เผยว่า เขาได้นำถุงเท้าจำนวน 6 คู่ โดยทุกคู่ถูกเคลือบด้วยอนุภาคซิลเวอร์นาโน (nanosilver) หรืออนุภาคเงินนาโน เพื่อให้มีคุณสมบัติป้องกันแบคทีเรียและกลิ่นอับชื้น ซึ่งผลิตโดยโรงงานต่างๆ และจำหน่ายในสหรัฐฯ มาแช่ในน้ำกลั่นพร้อมทั้งเขย่าต่อเนื่องนาน 1 ชม. จากนั้นนำน้ำที่แช่ถุงเท้าไปตรวจสอบหาอนุภาคของเงิน
นักวิจัยพบว่าถุงเท้าที่มาจากแหล่งผลิตต่างกัน มีการปลดปล่อยอนุภาคของเงินลงสู่น้ำในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ซึ่งบางคู่ก็ปล่อยอนุภาคเงินออกมาจนหมด ขณะที่บางคู่ก็ไม่ปรากฎอนุภาคเงินหลุดออกมาเลย คาดว่าเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการผลิต ในการยึดซิลเวอร์นาโนให้ติดอยู่บนเส้นใยของถุงเท้า
เบนน์อธิบายว่าหากน้ำทิ้งที่มาจากการซักล้างเสื้อผ้านาโนและมีอนุภาคซิลเวอร์นาโนปะปนอยู่ซึมลงสู่ใต้ดิน หรือไหลลงไปรวมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ อาจก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำได้ ซึ่งเงินที่อยู่ในรูปของไอออนที่ละลายอยู่ในแหล่งน้ำอาจไปรบกวนกระบวนการทางเคมีในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากแบคทีเรียที่เป็นเป้าหมายในตอนแรกของการผลิตอนุภาคซิลเวอร์นาโน อาจจะผ่านเข้าไปทางเหงือกปลาและทำให้ปลาตายได้
"เงินที่อยู่ในรูปของไอออนจะเป็นพิษต่อมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้มข้นสูงในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรมองข้ามความเป็นพิษของอนุภาคซิลเวอร์นาโนเช่นกัน" เวสเทอฮอฟเผย
นักวิจัยกล่าวต่อว่าพวกเขาไม่ได้จะแสดงให้เห็นเป็นว่าเงินเป็นพิษ เพราะในสหรัฐฯ เองก็มีกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้อนุภาคเงิน ซึ่งมีมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยองค์การพิทักษสิ่งแวดลอมแห่งสหรัฐฯ (United States Environmental Protection Agency: USEPA) เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้
"พวกเราหวังจะจุดประกายและสร้างความตระหนักถึงผลของวัสดุระดับนาโนต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ให้ทัดเทียมกับความตื่นตัวในเรื่องของนาโนเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทุกขณะ ผู้บริโภคมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของอนุภาคนาโน เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรเลือกใช้หรือไม่ เพราะเหตุใด" นักวิจัยเผย
ทั้งนี้ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามเพิ่มเติมไปยังนักวิจัยไทยในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพาณิชกุล ผอ.ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ให้ความเห็นว่าสิ่งใดก็ตามที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ก็อาจเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่นได้เช่นกัน ยิ่งมีอนุภาคเล็กขนาดนาโนก็อาจทำให้เข้าสู่เซลล์สิ่งมีชีวิตได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย
"ขณะนี้ในสหรัฐฯ เองก็ประกาศห้ามใช้อนุภาคซิลเวอร์นาโนกับเครื่องซักผ้าแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจทำให้มีซิลเวอร์นาโนปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่"
"แต่สำหรับอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่ใช้กับเสื้อนาโนนั้นใช้เทคโนโลยีเคลือบอนุภาคลงบนผิวฟิล์ม ซึ่งจะทำให้หลุดลอกได้ยาก และจะค่อยๆ หลุดออกมาในปริมาณน้อยมากๆ จึงยังไม่น่าจะเป็นอันตรายหากปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อม" ศ.ดร.วิวัฒน์แจง
ด้านรศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ผอ.ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยว่า อนุภาคซิลเวอร์นาโนที่หลุดออกไปจากเสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์นาโนสามารถแขวนลอยอยู่ในน้ำได้ และอาจเป็นไปได้ที่จะส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตหรือสะสมอยู่ในปลาต่างๆ จนเป็นอันตราย แต่ว่าต้องมีปริมาณที่สูงมากๆ จึงจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นได้ และเชื่อมั่นว่าอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่ใช้กันอยู่ในตอนนี้ยังอยู่ในระดับที่น้อยมาก
เช่นเดียวกันกับ ดร.ณัฏฐิตา ชวนเกริกกุล นักวิจัยของสถาบันโลหะและวัสดุ จุฬาฯ และผู้เขียนบทความ "จับตาสินค้านาโน" ในเว็บไซต์ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ซึ่งคอยติดตามข้อมูลและความคืบหน้าทางด้านความปลอดภัยของนาโนเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าอนุภาคนาโนที่จะแสดงผลว่าเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องเกิดการสะสมในปริมาณมาก และอาจต้องขึ้นอยู่กับขนาดหรือรูปร่างอีกด้วย
"เรื่องของนาโนเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ ในตอนนี้ ซึ่งยังขาดข้อมูลและความชัดเจนทางด้านความปลอดภัยอยู่มาก นักวิจัยที่ศึกษาทางด้านนี้ก็มีอยู่ไม่มาก ขณะที่ส่วนใหญ่จะเน้นศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าเสียมากกว่า มีเพียงส่วนน้อยที่ศึกษาในด้านความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี การเตือนให้ระวังและตระหนักถึงผลของนาโนเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดี เพราะต่อไปอาจมีสินค้าทางด้านนาโนแพร่หลายมากขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะมีนักวิจัยที่สนใจหันมาศึกษาถึงความปลอดภัยของนาโนเทคโนโลยีกันมากขึ้น" ดร.ณัฏฐิตาแสดงความเห็น.