xs
xsm
sm
md
lg

"เทคโนโลยี" สร้างความเหลื่อมล้ำ หากกฎหมายและจริยธรรมตามไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ก่อให้เกิดวิทยาการสมัยใหม่ที่ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมสะดวกสบายกว่าแต่ก่อน และยังทำให้ชีวิตมนุษย์มีโอกาสยืนยาวมากกว่าเดิม แต่เทคโนโลยีก็เหมือนดาบสองคมที่ให้ทั้งคุณและโทษได้ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของผู้ที่นำไปใช้ แล้วสิ่งใดจะเป็นตัวกำหนดจริยธรรมของแต่ละบุคคล?

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) เปิดเวทีอภิปรายเรื่อง “เทคโนโลยีสมัยใหม่กับผลกระทบด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคม” เมื่อวันที่ 24 มี.ค.51 ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2551 (NAC 2008)

ทั้งนี้มีบุคคลในแวดวงวิทยาศาสตร์ ศาสนา และการเมืองมาร่วมแสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าว ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต จากเสถียรธรรมสถาน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิจัยและที่ปรึกษาอาวุโส สวทช.

เทคโนโลยีจะส่งผลด้านบวกต้องมีจริยธรรมควบคุม

นายอภิสิทธิ์ บอกว่าประเด็นที่ท้าทายของนักวิทยาศาสตร์คือทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี และหลีกเลี่ยงข้อเสียให้ได้มากที่สุด ซึ่งโดยธรรมชาติ คนส่วนมากมักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจจะใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง ทว่าต้องมีมาตรฐานของจริยธรรมเป็นตัวกำหนด เช่น จะทดลองกับสิ่งมีชีวิตหรือไม่ทดลองกับตัวอ่อนหรือไม่ และจะปฏิบัติเหมือนกับเป็นทรัพย์สินที่ซื้อขายได้หรือไม่ ต้องสร้างหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ และสร้างแนวทางของจริยธรรม

ทางด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ แสดงความเห็นว่าในช่วง 10-20 ปี ที่ผ่านมา มีวิทยาการใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หรืออาจเรียกได้ว่า เทคโนโลยีอุบัติใหม่ เช่น ไอที, นาโนเทคโนโลยี, สเต็มเซลล์, โคลนนิง และ จีเอ็มโอ ซึ่งเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และไปเร็วกว่าที่เราจะเข้าใจในด้านจริยธรรมและกฎหมาย จึงเปรียบเสมือนดาบ 2 คม ผู้ที่นำไปใช้จะต้องมีจริยธรรมเป็นตัวควบคุม มีจิตสำนึกในด้านบวกมากกว่าด้านลบ โดยคำนึงถึงผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมว่าจะได้รับผลดี ผลเสีย อย่างไรบ้างจากเทคโนโลยีเหล่านั้น

ขณะที่ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เปิดเผยว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้มนุษย์เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่ต้องระวังไม่ให้มีการนำมาใช้อย่างข้ามขั้นตอนโดยยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร อย่างเช่นที่มีโรงพยาบาลหลายแห่งนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อการค้าในราคาแพง โดยอ้างว่าปลอดภัยและได้ผล ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อย่างนี้ถือเป็นการโฆษณาเกินจริง และเอาเปรียบผู้บริโภค และยังทำให้ประเทศเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งประเทศไทยเราขึ้นบัญชีดำติด 1 ใน 3 ของการประชุมเรื่องสเต็มเซลล์ในสหรัฐฯ และอังกฤษ ที่นำสเต็มเซลล์มาใช้ทางการค้า

เทคโนโลยีมีพัฒนการตลอดกฎหมายต้องตามให้ทัน

ทั้งนี้ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่าในกรณีของสเต็มเซลล์ต้องมีกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานสากล และคณะกรรมการกลางเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในแต่ละขั้นตอน ต้องทำให้สเต็มเซลล์เหมือนกับยาชนิดหนึ่ง ซึ่งกว่าจะนำมาใช้รักษาโรคได้ต้องผ่านการทดลองและพิสูจน์จนแน่ใจแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาและไม่เป็นอันตรายกับผู้ป่วย

ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีและสังคมมีวิวัฒนาการอยู่ตลอด บรรทัดฐานทางสังคมก็เคลื่อนที่ตามสังคมที่เปลี่ยนไป ส่วนจะเคลื่อนที่เดินหน้าหรือถอยหลังนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะคาดหวังให้อยู่ที่เดิมนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน บางอย่างอาจค่อยเป็นค่อยไป ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวันนี้ แต่อาจยอมรับได้ในวันหน้า กฎหมายที่ล้าสมัยก็ต้องมาถกเถียงกันให้ชัดว่าจะแก้ไขใหม่หรือปล่อยไว้อย่างนั้น ซึ่งกฎหมายจะทันสมัยได้ ถ้าสังคมจะต้องตื่นตัว

มูลค่าและลิขสิทธิ์ในเทคโนโลยีสร้างปัญหาความเสมอภาคในสังคม

อย่างไรก็ดีนายอภิสิทธิ์ชี้ว่าเมื่อมีทั้งเทคโนโลยีและกฎหมายแล้ว ผลที่ตามมาอีกคือปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ แม้เริ่มแรกนักวิทยาศาสตร์อาจมีแรงจูงใจให้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประเทศชาติโดยที่อาจยังไม่รู้ว่าเทคโนโลยีไหนจะถูกนำไปใช้ได้จริงบ้าง แต่เมื่อสำเร็จแล้วก็ย่อมหนีไม่พ้นกลไกตลาด ที่ต้องมาคิดถึงราคา และถ้าค่าใช้จ่ายสูงมาก จะมีประชาชนที่สามารถเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน

ทางด้านศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับราคาและทรัพย์สินทางปัญญา และตามมาด้วยประเด็นปัญหาเรื่องความเสมอภาค ที่แต่ละบุคคลนั้นจะมีสิทธิเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “เศรษฐศาสตร์จะสมบูรณ์มากขึ้นถ้าเราเอาใจใส่ในจริยธรรม และการศึกษาจริยธรรมจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐศาสตร์มากขึ้น

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจริยธรรม ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันไปอีกยืดยาว และอาจยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนได้ในเร็ววัน แต่ระหว่างนั้นสิ่งที่จะควบคุมไม่ให้เทคโนโลยีถูกนำไปใช้ในทางลบได้ก็คือจิตสำนึกและจริยธรรมของนักวิทยาศาสตร์และผู้ที่ใช้เทคโนโลยี ซึ่งสามารถปลูกฝังได้ด้วยรากฐานทางการศึกษา และหากต้องมีการกำหนดมาตรฐานทางด้านจริยธรรมกันอย่างจริงจัง ศ.ดร. ยงยุทธ ตอบอย่างเชื่อมั่นว่า สังคมจะต้องเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วม

อย่างไรก็ดี แม่ชีศันสนีย์ บอกว่าจิตสำนึกนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และจิตสำนึกที่ดีต้องมาจากการบ่มเพาะด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์นั้นก็ต้องแก้ปัญหาแบบเข้าถึงอริยะให้ได้ เพื่อให้เกิดคุณธรรมและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างมีจิตสำนึก ที่สำคัญต้องไม่ตกเป็นเหยื่ออารมณ์ของตนเอง จนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน.




กำลังโหลดความคิดเห็น