xs
xsm
sm
md
lg

“หมอศิริวัฒน์” ลาตำแหน่ง คน อย.อาลัยสุดซึ้ง ฝากข้อคิดอย่าเกรงอำนาจ-อิทธิพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอศิริวัฒน์” อำลาตำแหน่งเลขาธิการ อย. บรรยากาศสุดซึ้ง ข้าราชการ ลูกจ้าง อย.อาลัย ยกสุดยอดนักบริหาร ฝากข้อคิดคน อย.อย่าเกรงอำนาจอิทธิพล ไม่หวั่นเสียงวิจารณ์ทางลบ ถ้าปฏิบัติถูกต้อง และพร้อมแก้ไขจุดบกพร่อง ขอเลขาธิการ อย.คนใหม่สานงาน อย.เดินหน้ากฎหมายยา อาหาร ขณะที่แพทยชนบท ยังอยากให้ “หมอศิริวัฒน์” กลับมา เผยปลัด สธ.เรียกคุยอีกรอบ คาดภายในสัปดาห์หน้านี้ หลังต่อสายคุยให้ยุติการเคลื่อนไหวครั้งแรกเหลว ด้านชมรมเพื่อนมหิดล ออกแถลงการณ์ฉบับ 2 ร่วมถอดถอน “ไชยา”

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (12 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถูกโยกย้ายไปรับตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดใจอำลาตำแหน่งกับข้าราชการ ลูกจ้าง อย.และสื่อมวลชนโดยได้เลี้ยงอาหารกลางวัน ผัดกระเพาไก่ ไข่ดาว แกงจืดฟัก ก่อนจะเดินทางเข้ารับตำแหน่งผู้ตรวจราชการในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

ทั้งนี้ บรรยากาศเต็มไปด้วยความอาลัยของข้าราชการ ลูกจ้างอย. โดยมีการมอบดอกไม้ และร้องเพลง “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ให้กำลังใจนพ.ศิริวัฒน์ โดยนพ.ศิริวัฒน์ ได้มอบของที่ระลึก CL = CREATE LOVE ซึ่งภายในเป็นของที่ระลึกในโอกาสอย.ครบรอบ 30 ปี

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ขอบคุณสื่อมวลชน รองเลขาธิการ อย.ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการประจำ และลูกจ้าง ที่ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่มาตลอด ซึ่งภาระหน้าที่ของ อย.มีความเสี่ยงสูง และต้องทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่ใดในโลก อย.ก็ต้องตื่นตัวตามไปด้วย ซึ่งขณะนี้ยังห่วงงานบางเรื่อง เนื่องจากยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งต้องฝากให้เลขาธิการ อย.คนใหม่ช่วยสานต่อ คือ 1.การแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ที่ล้าสมัยไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน 2.การพัฒนาปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ต้องมีความทันสมัยตลอดเวลา 3.การทำหนังสือปูมประวัติขององค์กร ผลงานต่างๆ ที่มีหลายเรื่องนับเป็นประวัติศาสตร์ เช่น เครื่องหมาย อย.บัญชียาหลัก ชิ้นแรก เป็นต้น เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ 4.การตรวจสอบอาหารปลอดภัย และ 5.การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป)

“อย.เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นไม่นาน มีอายุแค่ 33 ปี เปรียบเป็นคนก็อยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ ยังมีภาระที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์ต่อไหอีกนาน อนาคตข้างหน้า มีภาระหน้าที่ต้องทำเพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ อย.ดูแล จะมีความซับซ้อน มีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะการดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และนาโนเทคโลยี ดังนั้น อย.จะต้องเร่งพัฒนาความรู้ ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เท่าทัน เพื่อนำไปพัฒนาออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เพื่อคุ้มครองประชาชน ผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์อันตรายเหล่านี้” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ขอฝากให้ข้าราชการ ลูกจ้าง อย.ทำงานในหน้าที่รับผิดชอบอย่างสุดความสามารถ ทำด้วยความภูมิใจ ไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ที่จะเข้ามาทำผิดกฎหมาย ขอให้ยึดมั่นในความถูกต้อง อย่าหวั่นไหวต่อคำวิจารณ์ในทางลบที่เกิดขึ้นกับ อย.หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาชนให้ชี้แจงตามข้อเท็จจริง อย่าเกรงกลัวกับอิทธิพลที่มาขัดขวางการทำงาน หากเป็นเรื่องจริง ก็ให้แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องจริง ก็อย่าไปใส่ใจ อย่าเสียเวลาแก้ตัว เพราะเราเองรู้ดีที่สุดว่าเรื่องไหนจริง หรือไหนไม่จริง

“สิ่งไหนที่เกิดขึ้นแล้ว ล้วนเป็นสิ่งดีทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกรณีที่ผมถูกโยกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการ ก็ถือเป็นเรื่องดี เป็นเกียรติ ต่อไปงานของผมก็คงจะเบาลง ไม่เหมือนเหมือนอยู่ที่อย.” อดีตเลขาธิการ อย.กล่าว

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวถึงการดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ว่า ได้มอบหมายให้รักษาการเลขาธิการ อย.ทำหนังสือถึง นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียนให้ทราบเรื่อง ตำแหน่งประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายา ว่าเป็นตำแหน่งที่ยึดติดกับตำแหน่งเลขาธิการ อย.ซึ่งขณะนี้ตนได้ถูกสั่งย้ายเป็นผู้ตรวจราชการ ก็เท่ากับตำแหน่งประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาก็สลายตามไปด้วย รวมถึงได้มอบหมายให้รองเลาธิการ อย.ดำเนินการขึ้นทะเบียนยาที่ทำซีแอลให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย

“ในช่วงนี้ผมยุ่งมาก เพราะได้รับการติดต่อให้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการทำซีแอล ซึ่งก็ได้เดินสายพูดหลายที่ เช่น จ.ขอนแก่น เชียงใหม่ และในวันที่ 13 มีนาคมนี้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เชิญผมไปพูดเรื่องนี้อีก และมีกำหนดการไปพูดที่จ.สงขลาด้วย จึงทำให้ผมไม่ว่างจะเก็บของออกจากห้องเลขาธิการ อย. แต่จะเร่งเก็บห้องเร็วๆ นี้” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนยังได้อยู่ระหว่างการเขียนหนังสือรวบรวมประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับซีแอล โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่อาจนำไปใช้เรียนรู้การทำซีแอลในอนาคตได้

ขณะที่นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลาธิการ อย.กล่าวว่า นพ.ศิริวัฒน์ ถือเป็นที่รักของคน อย.เป็นผู้บริหารที่ดี ชี้แนะให้ทำงานเป็นระบบ ซึ่งตนพร้อมรับนโยบายและสานต่องานที่คั้งค้าง มุ่งมั่นตั้งใจทำงาน และขอบคุณที่ให้โอกาสทำงานแสดงความสามารถ

ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ซึ่งเดินทางมาร่วมให้กำลังใจด้วยกล่าวภายหลัง ว่า ควรมีการโยกย้าย นพ.ศิริวัฒน์ กลับมาเป็น เลขาฯ อย.ซึ่งหากกลับมาได้เป็นเรื่องเหมาะสมและมีประโยชน์ และอาจทำให้เกิดแรงสะท้อนกลับ ทำให้ไทยมีอำนาจการเจรจาต่อรองกับบริษัทยามากกว่า ซึ่งที่ผ่านมา คำสั่งการโยกย้ายสามารถมีการทบทวนได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัย นพ.สุชัย เจริญรัตกุล อดีต รมว.สธ.ซึ่งมีการร้องเรียนในเรื่องความไม่เหมาะสมของการโยกย้าย ทำให้มีการทบทวนมาแล้ว

ส่วนตามหลักการเลขาฯ อย.คนใหม่นั้น องค์กรนี้เป็นหน่วยงานที่มีการทำงานได้ยาก เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์ธุรกิจ การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาหลายยุค หลายสมัย อย. เหมือนเป็นแดนสนธยา มีไม่กี่ยุคเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับ ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งต้องเป็นผู้ที่มีประวัติ ความสามารถ ภาพลักษณ์ที่ดี สามารถทนแรงเสียดทานเหล่านี้ได้

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวถึงการรวบรวมรายชื่อถอดถอนนายไชยา ว่า หลังจากที่ตนเดินทางกลับจากต่างประเทศ ตนได้รับโทรศัพท์จาก นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยกล่าวว่าอยากขอร้องให้ยุติการเคลื่อนไหวและอยากให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในกระทรวง ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมเรียก แพทย์ใน รพ.ชุมชน และ รพ.ทั่วไป โดยปลัด ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงท่านหนึ่ง เป็นคนนัดหารือกลุ่มเล็กก่อนการประชุมใหญ่ ซึ่งจะมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.รพ.ศูนย์ ผอ.รพ.อำเภอ เข้าร่วมพูดคุยกันเพื่อหารือแนวทางเพื่อทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น ซึ่งอาจจะมีการหารือภายในสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์หน้า

“หากจะมองว่าเป็นความพยายามล็อบบี้ก็สามารถมองได้ แต่เชื่อว่า ปลัดคงเข้าใจและทราบดีว่าชมรมแพทย์ชนบทนั้น มีจุดยืนที่ชัดเจนและคงไม่สามารถสั่งอะไรได้ และในส่วนของภาคประชาชนก็ไม่สามารถสั่งการอะไรได้เช่นกัน และการล่ารายชื่อนั้นขณะนี้ไม่เกี่ยวกับชมรมแพทย์ชนบทแล้ว เป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ซึ่งขณะนี้สามารถล่ารายชื่อได้แล้วประมาณหมื่นกว่ารายชื่อแล้ว” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมเพื่อนมหิดล ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2551 เพื่อร่วมถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ จากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข หลังจากที่เคยออกแถลงการณ์คัดค้านการย้าย นพ.ศิริวัฒน์ โดยไม่ชอบธรรม และหลังจากได้ติดตามสถานการณ์ กลับพบว่าการกระทำของ นายไชยา ยิ่งพบว่าการกระทำของนายไชยา เพิ่มระดับความไม่เหมาะสมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การแสดงท่าทีต่อต้านนโยบายการจัดหายาราคาถูก ด้วยการทำซีแอลก่อนการแถลงนโยบายของรัฐ การแสดงท่าทีและใช้วาจาดูหมิ่นผู้ป่วยที่มาคัดค้านการยกเลิก การทำซีแอล การสั่งให้หยุดยั้งการเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบทที่ออกมาคัดค้าน

ในแถลงการณ์ ยังระบุด้วยว่า กระทำของ นายไชยา การใช้วาจาสั่งย้าย นพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชระไพบูลย์ กรรมการชมรมแพทย์ชนบท การแสดงออกที่จะให้มีการโฆษณาเหล้า การที่จะไม่ควบคุมการสูบบุหรี่ในสถานบันเทิง การดำเนินการต่างๆ ของนายไชยาได้ นำไปสู่การคัดค้านของภาคส่วนต่างๆ มากมาย จนถึงปัจจุบันกระแสความต้องการให้นายไชยาพ้นไปจาก ตำแหน่งได้ขยายตัวมากขึ้น นำไปสู่การรวบรวมรายชื่อเพื่อให้ถอดถอนนายไชยาออกจากตำแหน่ง จากการพิจารณาพฤติกรรมของนายไชยา ที่แสดงออกพบว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพราะขาดแนวคิดที่จะดูแลสุขภาพของประชาชนและดำเนินการทุกเรื่องที่ สวนทางกับการพัฒนาสุขภาพของประชาชน

“พฤติกรรมของ นายไชยา ที่ขาดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่ง มีการใช้อำนาจ อย่างไม่เหมาะสม พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่าเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมกับการดูแลกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชน ขาดวุฒิภาวะในการเป็นผู้นำและจำเป็นต้องถอดถอนออกจากตำแหน่ง ชมรมเพื่อนมหิดลได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นควรเคลื่อนไหวในการสนับสนุนการเข้าชื่อถอด ถอน นายไชยา ต่อวุฒิสภา เพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจและการดำเนินงานที่ไม่เหมาะสม โดยจะเข้าร่วมกับเครือข่าย องค์กร และ บุคคลที่เห็นด้วยกับการเข้าชื่อถอดถอนนายไชยา ในการรณรงค์และสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อ หยุดยั้งบทบาทและหน้าที่ของนายไชยาไม่ให้ขยายตัวและเกิดผลเสียหายต่อสังคมไทยต่อไป” แถลงการณ์ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น