xs
xsm
sm
md
lg

หมอรุ่นใหม่แห่เลือกเรียน “ผิวหนัง” เหตุรวย-ไม่เสี่ยงคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตสมองไหล แพทย์ใช้ทุนแห่ลาออกเข้า รพ.เอกชนกว่าครึ่ง ขณะที่หมอรุ่นใหม่เลือกเรียนผิวหนังล้น เหตุได้เงินมาก ไม่เสี่ยงติดคุก แพทยสภา ชี้ แพทย์ไทยทำงานหนักที่สุดในโลก ส่งผลเสี่ยงอุบัติเหตุสูงกว่าปกติ 6 เท่า เนื่องจากนอนไม่พอ

ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ผลกระทบจากการที่มีคนไข้ฟ้องร้องแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ คือ เด็กที่สอบติดคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช ต้องเรียกให้มารายงานตัวถึง 3 รอบ ถึงจะครบจำนวนที่เปิดรับ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็เป็นกังวล เพราะแพทย์ของ สธ.ที่ต้องใช้ทุน 2 ปี กว่าครึ่งใช้ทุนแค่ปีเดียวก็ลาออก หาเงินมาใช้แทนแล้วไปอยู่ รพ.เอกชน เพราะไม่อยากทำงานใน รพ.ชุมชน
เนื่องจากเครื่องไม้เครื่อมือไม่พร้อม มีความเสี่ยง ขณะที่บางคนเลือกไปเรียนแพทย์ในสาขาที่ไม่เสี่ยง อย่างผิวหนัง จักษุ ได้เงินมาก ไม่เสี่ยงเหมือนหมอผ่าตัด ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วง ขณะที่ยังไม่รวมคดีแพ่งที่ฟ้องร้องแพทย์ของ สธ.ซึ่งยังอยู่ในศาลเฉพาะที่นนทบุรี 65 คดี นอกจากนี้ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน และระหว่างไต่สวนมูลฟ้องอีกจำนวนหนึ่ง

เลขาธิการแพทยสภา กล่าวต่อว่า แพทยสภาเตรียมที่จะเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.ความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ซึ่งติดค้างมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ต่อรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่าน แพทยสภาได้เตรียมหาวิธีการอื่น เช่น เสนอรายชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองทั้งแพทย์และประชาชน เพื่อที่แพทย์ก็จะได้ทำงานรักษาคนไข้ด้วยความสบายใจ มีจิตวิญญาณที่จะรักษาคนไข้อย่างแท้จริง คนไข้ก็สบายใจที่ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการฟ้องร้องแพทย์ในคดีอาญาว่า ขณะนี้กำลังเกิดวิกฤตอย่างมากในวงการแพทย์ แพทย์ใน รพ.ชุมชน ไม่ยอมทำผ่าตัด แต่ใช้วิธีส่งต่อคนไข้ทั้งหมด เพราะเกิดความกลัว เรื่องเล็กกำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งคนที่เป็นแพทย์กับไม่ได้เป็นแพทย์จะคิดต่างกัน เช่น คนไข้มาพบแพทย์ทั้งๆ ที่ยังแข็งแรงแล้วเกิดเสียชีวิต ก็จะคิดว่า ทำไมถึงตาย ก็แข็งแรงดี แต่สิ่งที่ชาวบ้านไม่รู้ ก็คือ คนที่ดูสมบูรณ์แข็งแรง ไวรัสชอบ เพราะมีอาหารให้มันกิน ให้มันแบ่งตัว คนผอมๆ ดูขี้โรค ไวรัสมันไม่สนใจ เพราะไม่มีอาหาร มันแบ่งตัวไม่ได้ ตรงนี้ชาวบ้านไม่เข้าใจ ที่น่าตกใจ คือ ขณะนี้เด็กที่สอบติดคณะแพทยศาสตร์ สละสิทธิ์ประมาณ 25% ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหา อนาคตผลกระทบจะตกกับประชาชน

“ทุกวันนี้ แพทย์มีเวลาในการตรวจคนไข้มากที่สุด คือ 3 นาที บาง รพ.มีหมอ 2 คน คนไข้วันละ 200 คน ทั้งตรวจ รักษา ผ่าตัด ทำหมด บางครั้งทำงานติดต่อกัน 24-36 ชั่วโมง มันล้าแล้ว ในอเมริกามีกฎออกมาแล้วว่าให้แพทย์ทำงานได้ไม่เกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน ในออสเตรเลียประมาณ 16 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นเสี่ยงมาก โดยล่าสุด มีสถิติพบว่า แพทย์มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ เพราะการนอนไม่พอถึง 6 เท่า ซึ่งการเสียชีวิตของแพทย์อันดับ 3 คือ อุบัติเหตุรถชน รถคว่ำ” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นายกแพทยสภา กล่าวด้วยว่า ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่ง คือ การปกปิดข้อมูลของคนไข้ ที่คิดว่า หมอต้องรู้ บางครั้งคนไข้ไม่บอก หมอก็ไม่รู้ เช่น มีอยู่รายหนึ่ง คนไข้ไปทำแท้งมาแล้วไม่บอกหมอ มาด้วยอาการไข้ขึ้นติดเชื้อ หมอก็ไม่รู้ ก็ให้ยาฆ่าเชื้อ ยาลดไข้ไป ผลสุดท้าย มีปัญหาเรื่องมดลูก แต่ไม่บอก หมอจะไปรู้ได้อย่างไร อีกรายคนไข้มาพบหมอ บอกไม่ค่อยสบาย วัดความดันปกติ แพทย์ก็ไม่ได้สงสัย ปรากฏว่า คนไข้เป็นความดันโลหิตสูง กินยาคุมความดันไว้ ความดันก็ไม่ขึ้น แต่ไม่บอกแพทย์ เพราะฉะนั้นคนไข้เองก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย ไม่ควรปกปิดข้อมูล และขณะนี้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมีผลบังคับใช้ ถ้าคนไข่ไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด เมื่อเกิดความผิดพลาด ผู้ให้บริการถือว่าไม่มีความผิด ตรงนี้ประชาชนจำนวนมากยังไม่รู้

กำลังโหลดความคิดเห็น