xs
xsm
sm
md
lg

อภ.ลั่น 3 ยา CL สิ้นปีได้ใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน -“มิ่งขวัญ”เตรียมถก “นพดล-ไชยา” สัปดาห์หน้าเพื่อสรุปการประกาศซีแอลอย่างเป็นทางการ เผยส่วนตัวต้องการให้มีซีแอลต่อไป “หมอศิริวัฒน์” อำลาตำแหน่งเลขาธิการ อย. ฝากข้อคิดคนอย.อย่าเกรงอำนาจอิทธิพล ขณะที่แพทย์ชนบทเผยปลัดสธ.ล็อบบี้ยุติเคลื่อนไหวอีก ด้านชมรมเพื่อนมหิดลออกแถลงการณ์ฉบับ 2 ร่วมถอดถอน “ไชยา” ส่วน อภ.ลุยผลิตยาซีแอล 3 รายการ เดินเครื่องนำเข้าวัตถุดิบจากอินเดีย คาดสิ้นปีได้ใช้

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับรมว.ต่างประเทศและรมว.สาธารณสุข เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินนโยบายการประกาศสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือซีแอล ร่วมกันอย่างเป็นทางการหลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้บริหารระดับปลัดกระทรวงของแต่ละกระทรวงได้หารือร่วมกันไปแล้ว

ทั้งนี้ ในแง่ของตัวเองแล้วต้องการให้มีนโยบายซีแอลยาอยู่ต่อไป ไม่ต้องการให้เข้าไปแตะต้องใดๆ แต่ก็ต้องมีการเจรจาการค้าระหว่างกันเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับคนไทยมากที่สุด และประเทศไทยไม่ได้รับความเสียหาย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเจรจากับบริษัทจำหน่ายยาอย่างดีที่สุดเช่นกัน

“หมอศิริวัฒน์” อำลาตำแหน่ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (12 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ได้เปิดใจอำลาตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจะเดินทางเข้ารับตำแหน่งผู้ตรวจราชการในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังห่วงงานบางเรื่อง เนื่องจากยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งต้องฝากให้เลขาธิการ อย. คนใหม่ช่วยสานต่อ คือ 1.การแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ที่ล้าสมัยไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน 2.การพัฒนาปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ต้องมีความทันสมัยตลอดเวลา 3.การทำหนังสือปูมประวัติขององค์กร ผลงานต่างๆ ที่มีหลายเรื่องนับเป็นประวัติศาสตร์ เช่น เครื่องหมาย อย. บัญชียาหลัก เป็นต้น 4.การตรวจสอบอาหารปลอดภัย และการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ข้าราชการ ลูกจ้าง อย. ทำงานในหน้าที่รับผิดชอบอย่างสุดความสามารถ ทำด้วยความภูมิใจ ไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ ที่จะเข้ามาทำผิดกฎหมาย ขอให้ยึดมั่นในความถูกต้อง อย่าหวั่นไหวต่อคำวิจารณ์ในทางลบที่เกิดขึ้นกับอย. หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาชนให้ชี้แจงตามข้อเท็จจริง อย่าเกรงกลัวกับอิทธิพลที่มาขัดขวางการทำงาน หากเป็นเรื่องจริง ก็ให้แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องจริง ก็อย่าไปใส่ใจ อย่าเสียเวลาแก้ตัว

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวถึงเรื่องซีแอลว่า ได้มอบหมายให้รักษาการเลขาธิการ อย. ทำหนังสือถึงนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ. เรียนให้ทราบเรื่องตำแหน่งประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาว่าเป็นตำแหน่งที่ยึดติดกับตำแหน่งเลขาธิการ อย. ซึ่งขณะนี้ตนได้ถูกสั่งย้ายเป็นผู้ตรวจราชการ ก็เท่ากับตำแหน่งประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาก็สลายตามไปด้วย รวมถึงได้มอบหมายให้รองเลขาธิการอย.ดำเนินการขึ้นทะเบียนยาที่ทำซีแอลให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย 

นอกจากนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเขียนหนังสือรวบรวมประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับซีแอล โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่อาจนำไปใช้เรียนรู้การทำซีแอลในอนาคตได้

แพทย์ชนบทเผยปลัด สธ.เรียกล็อบบี้

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ซึ่งเดินทางมาร่วมให้กำลังใจด้วยกล่าวถึงการรวบรวมรายชื่อถอดถอนนายไชยาว่า หลังจากที่ตนเดินทางกลับจากต่างประเทศ ตนได้รับโทรศัพท์จาก นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ.โดยกล่าวว่าอยากขอร้องให้ยุติการเคลื่อนไหวและอยากให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในกระทรวง ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมเรียก แพทย์ใน รพ.ชุมชน และรพ.ทั่วไป

“หากจะมองว่าเป็นความพยายามล็อบบี้ก็สามารถมองได้ อย่างไรก็ตาม การล่ารายชื่อนั้นขณะนี้ไม่เกี่ยวกับชมรมแพทย์ชนบทแล้ว เป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ซึ่งขณะนี้สามารถล่ารายชื่อได้แล้วประมาณหมื่นกว่ารายชื่อแล้ว”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมเพื่อนมหิดลได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 /2551 เพื่อร่วมถอดถอนนายไชยาหลังจากที่เคยออกแถลงการณ์คัดค้านการย้ายนพ.ศิริวัฒน์ โดยไม่ชอบธรรมมาแล้ว

อภ.ลุยผลิตยาซีแอล 3 รายการ

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า การดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ยามะเร็ง 3 รายการ ขณะนี้ดำเนินการไปตามขั้นตอนเป็นปกติ ไม่มีการหยุดชะงักหรือชะลอแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันยา 3 รายการแรกที่สธ.ทำซีแอล ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอดส์เอฟฟาไวเรนซ์ ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ (อลูเวีย) และยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมองโคลพิโดเกรล(พลาวิกซ์) นั้น อภ.ได้มีการวิจัยทดลอง โดยสั่งนำเข้าสารเคมีตั้งต้นในการผลิตยาจากอินเดียเพื่อทดลองผลิต โดยคาดว่าอีก 6 เดือนจึงจะทราบผลว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จากนั้นจะมีการนำมาวิจัยในคน และหากสำเร็จอภ.จะผลิตทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้ประมาณสิ้นปีนี้

“เรื่องราคา อภ.จะพยายามไม่ให้ราคาสูงกว่าที่นำเข้าจากอินเดีย และอาจมีราคาต่ำกว่าก็ได้ ที่สำคัญคือการผลิตครั้งนี้จะไม่แสวงหากำไร ”นพ.วิทิต กล่าว

นพ.วิทิต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยามะเร็งอีก 4 รายการ ที่มีการทำซีแอลเช่นเดียวกัน ยังไม่มีแผนในการผลิตเนื่องจากอยู่ในขั้นการริเริ่มศึกษา อีกทั้งการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งจำเป็นต้องใช้โรงงานที่เป็นการเฉพาะแยกออกจากการผลิตยาทั่วไป ซึ่งขณะนี้แผนการของอภ.มีลำดับความสำคัญในการสร้างโรงงานยาต้านไวรัสเอดส์ ที่คลอง 10 จ.ปทุมธานี มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท และโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกที่อ.ทับกวาง จ.สระบุรี ก่อน ทั้งนี้ก็จะเก็บข้อมูลว่าจะมีโอกาสสร้างหรือไม่ โดยจะต้องวิเคราะห์ในเรื่องความคุ้มทุนด้วยเนื่องจากยามะเร็งส่วนใหญ่สารตั้งต้นที่จะต้องนำเข้ามีราคาแพงมาก

สำหรับโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์แห่งใหม่ที่จ.ปทุมธานีจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มี.ค.นี้ คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างตัวอาคารประมาณ 10 เดือน หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะเสร็จประมาณสิ้นปีนี้ และจากนั้นยังต้องติดตั้งเครื่องมืออีกประมาณ 6 เดือนด้วย 

นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า ในส่วนการจะสรรหาตัวกรรมการบริหารอภ.ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ 3 คนในวันที่ 25 มี.ค.คณะกรรมการบริหารชุดใหญ่คงจะหารือกันในประเด็นดังกล่าว ส่วนจะมีการลาออกเพิ่มหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เนื่องจากกรรมการบริหารจะต้องยื่นใบลาออกกับประธานบอร์ด

แนะจับมืออาเซียนตั้งวิสาหกิจร่วมซื้อยา

นพ.บูรณัชย์ สมุทรักษ์ รมว.สาธารณสุขเงา พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับพ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ว่า ได้หารือถึงการแก้ปัญหายาราคาแพง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการประกาศบังคับใช้สิทธิ์ผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตร (ซีแอล) แล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังมีกลไกอื่นๆ ที่จะดำเนินการได้ และเกิดผลกระทบน้อยกว่า โดยเฉพาะการใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2542 เพื่อให้บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด ยกเลิกการผูกขาด เพื่อทำให้ราคายาถูกลง

นอกจากนี้ ยังอาจใช้เวทีการเจรจาระหว่างประเทศจัดตั้งวิสาหกิจร่วมซื้อ โดยร่วมกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับบริษัทยา หรือสนับสนุนให้คนไทยผลิตยาได้เอง โดยนำเอาสิทธิบัตรยาที่ใกล้จะหมดระยะเวลาการคุ้มครองมาให้คนไทยผลิต เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น