xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางชีวิต “หมอศิริวัฒน์” คนดีที่ “ไชยา” ไม่ต้องการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลอดชีวิตการรับราชการ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่“นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมในการโยกย้าย และการโยกย้ายแต่ละครั้งต้องบอกว่า ไม่ธรรมดาและมีผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเมืองอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

**จากนศ.แพทย์สู่รพ.ชุมชน
นพ.ศิริวัฒน์เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เรียนหนังสือชั้น ป.1-ป.4 ที่ร.ร.เลิศสินพิทยา ย่านสะพานพุทธ แต่ขณะนี้ได้เลิกกิจการไปแล้ว จากนั้นเรียนชั้นประถมปลายที่ร.ร.วัดประยุรวงศาวาส ฝั่งธนบุรี พอจบป.7 เผอิญครอบครัวย้ายไปตั้งรกร้างใหม่ที่ จ.จันทบุรี ก็เลยย้ายไปเรียนมศ.1-มศ.3 ที่ ร.ร.ลาซาล อ.เมือง จ.จันทบุรี แล้วมาสอบเข้าร.ร.เตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ ปี 2511
จากเตรียมอุดมศึกษา นพ.ศิริวัฒน์เข้าศึกษาต่อคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดลในปี 2516-2519 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 พอดิบพอดี

“ช่วง 14 ตุลา 16 ก็ไปร่วมกิจกรรมกับเขาบ้าง ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ได้ไปร่วมเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นอันหนึ่ง คือช่วงนั้นมีกระทิงแดงที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับนักศึกษา ตอนนั้นพวกนักศึกษามหิดลก็ไปติดโปสเตอร์ต่อต้านเผด็จการ ผมก็ไปกับน้องๆ”

“หลังสำเร็จการศึกษา ผมอินเทิร์นเป็นแพทย์ฝึกหัดที่รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ปี 2519-2520 ช่วงนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมคิดว่าโชคดีเพราะถ้าอยู่กรุงเทพฯก็มีสิทธิตายในแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกับรุ่นน้องบางคน แต่ผมอยู่ที่อุบลฯ ก็ถูกสันติบาลมาตรวจค้นห้อง สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เข้าใจว่ามีคนส่งข้อมูลไป จึงมีคนไปค้นห้อง แต่เผอิญตอนนั้นผมกลับไปเยี่ยมบ้านที่จันทบุรีพอดี หนังสือพิมพ์เขาก็ลงข่าวว่า หนีรอดหวุดหวิด กลับมาก็ไม่มีอะไร ก็ไปเคลียร์กับตำรวจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ไปเคลียร์ ก็ไม่มีอะไร ก็อินเทิร์นจนจบและไปรับราชการที่จ.ศรีสะเกษ”

ชีวิตราชการของนพ.ศิริวัฒน์เริ่มต้นขึ้นที่อ.อุทุมพรพิสัย และอ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ โดยเป็นแพทย์ใช้ทุนรุ่นที่ 6 และเป็นรุ่นสุดท้ายที่ยังให้อิสระในการเลือกที่จะจ่ายเงินใช้ทุนได้โดยไม่ต้องรับราชการ ซึ่งถ้าจ่ายเงินก็ต้องเสียเงินทั้งหมด 40,000 บาท อย่างไรก็ตาม นพ.ศิริวัฒน์ เลือกที่จะไปใช้ทุนด้วยอุดมการณ์ที่แรงกล้า

“สมัยก่อนรพ.ชุมชนแร้นแค้น ห่างไกล งบประมาณก็น้อย คนไข้ก็เยอะ ช่วยชาวบ้านได้ไม่เต็มที่ ยาก็ไม่พอใช้ รถราอะไรก็น้อย ในโรงพยาบาลชุมชนมีแพทย์ประจำเพียงคนเดียว ทำให้ต้องเป็นทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นแพทย์บริการ คือเรียกว่าทำทุกอย่าง”

นพ.ศิริวัฒน์ใช้ทุนอยู่ที่ศรีสะเกษ 2 ปี ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง โดยในตอนแรกสมัครไปเรียนจักษุแพทย์ที่รพ.เชียงใหม่ แต่ประจวบเหมาะพอดีกับเวลานั้นได้ตัดสินใจแต่งงานมีครอบครัวก็เลยเปลี่ยนใจ และย้ายไปทำงานที่รพ.เขาสมิง จ.ตราด เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียงที่เพิ่งเปิดให้บริการใหม่และยังไม่มีไฟฟ้า-น้ำประปาใช้ เรียกว่าต้องจุดเทียน จุดตะเกียงรักษาคนไข้ ส่วนน้ำใช้ก็ต้องขุดบ่อน้ำตื้นแล้วใช้คันโยกโยกน้ำขึ้นมาใช้เลยทีเดียว

ที่นี่ นพ.ศิริวัฒน์ฝากผลงานสำคัญเอาก็คือ การจัดงานบอลเพื่อระดมเงินบริจาคจากชาวบ้าน ซึ่งก็ได้ประมาณ 3-4 แสนบาทเพื่อสร้างอาคารติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ที่ทางกระทรวงจัดส่งมาให้

หลังจากบุกเบิก รพ.เขาสมิงอยู่ประมาณ 4 ปีกว่า ด้วยความที่อยากไปอยู่ใกล้พ่อแม่อีกสักนิด ประมาณปี 2526 นพ.ศิริวัฒน์จึงขอย้ายไปอยู่ที่รพ.โป่งน้ำร้อน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากชายแดนเท่าใดนัก และด้วยความที่ช่วงนั้นสงครามในเขมรกำลังปะทุหนัก ทำให้ทุกคืนได้ยินเสียงปืนใหญ่เป็นเสียงกล่อมนอนเสมอๆ

อยู่โป่งน้ำร้อนได้ 2 ปีเศษ นพ.ศิริวัฒน์ก็ขยับขึ้นไปเป็นรองนายแพทย์สาธารณสุขตราดในช่วงระหว่างปี 2529-2532 จากนั้นก็โชคดีสอบได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านโภชนาการ ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย
นพ.ศิริวัฒน์เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “โชคดีที่หมอบ้านนอกได้ไปเรียนเมืองนอก”

**ย้ายไม่เป็นธรรม:ใส่ปลอกแขนไว้ทุกข์
ย่างก้าวสำคัญที่ทำให้นพ.ศิริวัฒน์เริ่มมีความโดดเด่นมากเป็นลำดับก็คือ ในช่วงประมาณ 2533-2534 ที่จับพลัดจับผลูก้าวเข้ามาอยู่ในในกองฝึกอบรม และขณะนั้นสหรัฐฯ กำลังบีบไทยให้เปิดเสรีตลาดบุหรี่ ทางรัฐบาลก็พยายามเจรจาต่อรอง พร้อมทั้งตั้งเงื่อนไขให้มีการจัดตั้งสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ และผลักดันให้มีการออกกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งนพ.ศิริวัฒน์ก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการคนแรกและมีส่วนสำคัญในการร่างกฎหมาย แต่ก็ไม่ทันเสร็จเพราะถูกย้ายไปหนองคายก่อน

“จำได้ว่า ตอนนั้นเกิดรัฐประหารพอดี บิ๊กจ๊อดเข้ามายึดอำนาจ และมีคุณอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกฯ ช่วงนั้นจากการร่วมมือร่วมใจกันของผู้รับช่วงต่อ ทำให้กฎหมายบุหรี่ 2 ฉบับคลอดออกมาสำเร็จ ซึ่งผมคิดว่าถ้าเป็นสมัยประชาธิปไตยจ๋า กฎหมายอย่างนี้ไม่มีทางได้ออก เหมือนกับกฎหมายเหล้า เพราะเมื่อกฎหมายดีเข้าสู่รัฐสภาก็จะถูกล็อบบี้จากบริษัทต่างชาติ ไม่ให้คลอด หรือถ้าออกก็จะอ่อนจนควบคุมอะไรไม่ได้”

“ผมเคยพูดกับฝรั่งว่า ประชาธิปไตยไทยไม่เหมือนบ้านคุณนะ กฎหมายดีๆ มักออกในสมัยเผด็จการ บ้านเราเป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาธิปไตยในแบบอุดมคติ”

หลังจากนั้นก็ได้เขยิบฐานะเป็นนายแพทย์สาธารณสุขที่หนองคายในปี 2535 โดยอยู่ที่นั่น 6 ปี ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในการทำงาน เนื่องจากสามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมายเท่าที่อยากจะริเริ่ม เช่น ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นจังหวัดแรกของประเทศ จากนั้นได้รับรางวัลนายแพทย์สาธารณสุขดีเด่นจากผลงานเรื่องการลดการบริโภคยาสูบ การป้องกันโรคคอพอก การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นต้น

ระหว่างนั้นเอง ชื่อของนพ.ศิริวัฒน์ก็เริ่มเป็นที่จับตามอง จากกรณีที่ นพ.มรกต กรเกษม ถูกเด้งจากเลขาฯ อย. เข้ากรุผู้ตรวจราชการเนื่องจากไม่ตอบสนองนักการเมืองในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะนพ.ศิริวัฒน์ได้กระโดดเข้าไปร่วมวงประท้วงกับเขาด้วย โดยใส่ปลอกแขนไว้ทุกข์ และให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า ต่อต้านการย้ายที่ไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม โชคดีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์เข้ามาเป็นรัฐมนตรีสธ. จึงได้ทบทวนคำสั่งและนพ.มรกตสามารถกลับมาเป็นเลขาฯ อย.เหมือนเดิม

“ตอนนั้นผมเป็นสสจ.มีสิทธิ์โดนคำสั่งย้ายได้ตลอดเวลา แต่ผมไม่กลัว พอผมให้สัมภาษณ์ออกไปก็มีเสียงขู่มาว่า อย่าซ่านะ เราก็ไม่กลัว อาจารย์หมอมรกตโชคดี แต่เที่ยวนี้ ผมคงไม่ได้กลับ”นพ.ศิริวัฒน์เล่าพร้อมกับเสียงหัวเราะ
นอกจากเหตุการณ์ครั้งนั้นแล้ว นพ.ศิริวัฒน์ได้มาใส่ปลอกแขนไว้ทุกข์ให้กับการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมอีกครั้งในปี 2538 เมื่อรัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้นได้มีคำสั่งย้ายนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

“ช่วงนั้นสมเด็จย่าสวรรคต ทุกคนใส่ปลอกแขนไว้ทุกข์อยู่แล้ว ผมกลัวว่าคนจะไม่รู้ว่าประท้วงคำสั่งย้าย ก็เลยใส่เข้าไปอีกข้างหนึ่ง เวลามีประชุมในกระทรวงผมก็ใส่ 2 ข้างเข้าประชุม มีรุ่นพี่เขาถามว่า ทำไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร ผมตอบเขาว่า ไม่รู้ว่าได้ประโยชน์อะไรหรือเปล่า แต่อย่างน้อยอยากให้นักการเมืองรู้ว่า กูไม่กลัวมึง ยืมคำคึกฤทธิ์มาใช้”

**เจอบ.เครื่องดื่มชูกำลังฟ้อง
จากนายแพทย์สาธารณสุขหนองคาย ปี 2540 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในชีวิต เมื่อนพ.ศิริวัฒน์อยากย้ายกลับไปจ.จันทบุรีเพื่อดูแลพ่อแม่ แต่โอกาสก็ไม่อำนวย ประกอบกับประวัติไม่ดีเพราะชอบใส่ปลอกแขนทุกข์ ผู้ใหญ่ก็เลยไม่ให้ย้าย อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ได้เข้ามาเป็นรองเลขาธิการอย.ในปี 2540

“ตอนนั้นมีตำแหน่งรองอธิบดีว่างหลายที่ ถ้าดูงานที่ผมทำ ผมควรอยู่กรมอนามัย แต่อธิบดีกรมอนามัย กรมควบคุมโรคเขาแหยงไม่กล้ารับ เพราะประวัติไม่ดี ชอบใส่ปลอกแขนไว้ทุกข์ มีหมอมงคล (นพ.มงคล ณ สงขลา เลขาธิการอย.ในขณะนั้น) นี่แหละที่รับ ผมอยู่ที่นี่ 4 ปีตั้งแต่ปี 40-44”

สำหรับโจทก์ใหญ่ขณะที่รับหน้าที่รองเลขาธิการอย.ก็คือ เรื่องกาเฟอีนที่มีในเครื่องดื่มชูกำลัง กล่าวคือก่อนปี 2534 ปริมาณกาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลังกำหนดเอาไว้ที่ 80 มิลลิกรัม ต่อพอปี 2535 มีคำสั่งให้ลดลงเหลือ 50 มิลลิกรัมเพราะทำให้คนติด จากนั้นในปี 2542 บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังก็รวมตัวกันและยื่นอย.ให้เพิ่มเป็น 80 มิลลิกรัม โดยมีสาเหตุมาจากกาแฟกระป๋องเข้ามาเบียดตลาดและมีความเข้มข้นของกาเฟอีนสูงกว่า ทำให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ขณะนั้นกรรมการอาหารมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งผลปรากฏว่า ถ้าขึ้นอีก 30 มิลลิกรัมก็ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร แต่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มีเงื่อนไข 3 ข้อคือ 1.ควบคุมโฆษณาให้เข้มข้นขึ้น 2.ให้ติดฉลาดให้ชัดเจนมากขึ้น และให้ต่อท้ายชื่อการค้าว่า เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน และ 3.เพิ่มคำเตือนให้เข้มข้นขึ้น
คำสั่งที่ออกมาสร้างความคุกรุ่นให้เกิดขึ้นทันที เนื่องจากบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าไม่ยุติธรรม สุดท้ายนพ.ศิริวัฒน์ก็ต้องมีคำสั่งให้นำเรื่องเข้ากรรมการอาหารอีกครั้ง และเรื่องก็เกิดเมื่อมีการกลับมติไม่ให้ขึ้น และตามมาด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 โดยกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมติของกรรมการอาหารในครั้งแรก และมีการดึงเรื่องจนกรรมการอาหารกลับมติ

“อิทธิพลของบริษัทแรงมาก มีการล็อบบี้ทางการเมืองให้ย้ายผมให้พ้นจากอย. ไปอยู่กรมการแพทย์ แต่เผอิญตอนนั้นนพ.มงคลเป็นปลัด ก็ไม่ยอมย้าย ยื้อไปยื้อมา จนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้น สุดท้ายผมก็เลยไม่ถูกย้าย สำหรับเรื่องคดีผมสู้คดีเป็นเวลา 2 ปี เปลี่ยนผู้พิพากษาไป 3-4 คน ในที่สุดศาลก็ยกฟ้อง ช่วง 2 ปีนั้นยอมรับว่าเครียด นอนไม่หลับ ต้องกินยานอนหลับ เพราะไม่เคยเป็นจำเลยมาก่อน”

**เจอนักน้องการเมืองใหญ่เล่นงาน
หลังหลุดพ้นจากคดีความมาได้ ปี 2544 นพ.ศิริวัฒน์ก็ต้องมาเผชิญกับวิบากกรรมครั้งใหญ่และถือเป็นครั้งสำคัญที่สุด นั่นก็คือการไปตรวจพบว่า บริษัทของน้องสาวผู้มีอำนาจในรัฐบาลไทยรักไทยโฆษณาขายฮอร์โมนฉีดใต้ลิ้น เพิ่มพลังทางเพศอย่างโจ๋งครึ่มทางโทรทัศน์ และยาดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางอย. ในครั้งแรกนพ.ศิริวัฒน์ได้โทรศัพท์ไปยังคนที่รู้จักคนหนึ่งและฝากบอกให้ยุติการโฆษณาดังกล่าว แต่กลับไม่เป็นผลอย่างใด
 
“ผมเคยตรวจสอบผู้ถือหุ้นแห่งนี้ ปรากฏว่า แต่ละคนบิ๊กมาก มีทั้งเมีย น้องสาว น้องเขย แต่ผมก็ไม่กลัวนะเพราะเราทำตามหน้าที่ แล้วให้สารวัตรอาหารและอาหารยาไปล่อซื้อ แล้วก็แสดงตัวจับกุมทันที จากก็มีคำสั่งย้ายผมในปี 2544 แต่ก่อนย้ายก็มีการปล่อยข่าวใส่ร้ายผมว่า บริษัทถูกบิ๊กอย.เรียกเงินขึ้นทะเบียน มีคนมาบอกผมภายหลังว่า เขาโกรธมาก โทรศัพท์ไปฟ้องพี่ชายด้วย ตอนที่ผมถูกย้ายไปแล้ว เขาก็พยายามนำมาขึ้นทะเบียนอีก แต่ก็ไม่สำเร็จ”

“ผมถูกย้ายไปเป็นรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งปกติเขาก็จะเป็นกัน 2-3 ปี แต่ผมอยู่นี่ 4 ปี ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ แต่ผมก็สบายนะ เพราะถูกมอบหมายให้ดูแลหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทีแรกเคืองเขานะ แต่ตอนหลังขอบคุณ เพราะทำให้ผมได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น ต่อมาสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ว่าง พรรคพวกก็ชวนให้ไปอยู่ เพราะตอนนี้รัฐบาลประกาศว่าจะอยู่ 20 ปี ไม่มีทางได้ขึ้นเป็นอธิบดีหรอก ผมก็เลยไปสมัครและได้รับการคัดเลือก ก็อยู่ที่นี่ 2 ปี ก็เกิดรัฐประหาร ท่านภักดีได้รับเลือกไปเป็น ป.ป.ช.คุณหมอมงคลจึงดึงกลับมาเป็นเลขาฯ อย.อีกครั้ง ตอนอยู่สวรส.ผมได้เงินเดือน 1.7 แสนนะ แต่เป็นเลขาฯ อย.ได้แค่ 7 หมื่น”

หลังจากทำหน้าที่ประธานกรรมการต่อรองราคายาซีแอลได้ปีเศษๆ สุดท้าย นพ.ศิริวัฒน์ก็เจอพิษการเมืองอีกคำรบจากคำสั่งของ “ไชยา สะสมทรัพย์” รมว.สธ. ด้วยเหตุผลเพื่อความเหมาะสม กลายเป็น คนดีที่ไชยาไม่ต้องการ และเสียงตะโกนดังก้อง “เอาหมอคืนมา เอาไชยาออกไป”

กำลังโหลดความคิดเห็น