xs
xsm
sm
md
lg

การเกิดหรือการสร้าง “สุญญากาศ” เพื่อแก้วิกฤตการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

พระอาญาไม่พ้นเกล้า ผมขออัญเชิญพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาให้พวกเราอ่านอีกครั้ง

*“จำไว้ว่า สถาบันจะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวได้ ก็ต่อเมื่อเกิด void หรือสุญญากาศทางการเมืองขึ้นจริงๆ (อย่างกรณี 14 ตุลาฯ) แต่เมื่อได้ก้าวลงไปจัดการจนช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้ว สถาบันกษัตริย์จะต้องรีบก้าวกลับขึ้นไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่สุด จะได้พร้อมที่จะลงมาช่วยได้อีก ถ้าเกิดสุญญากาศขึ้นมาอีก” (พระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ผมใคร่ขอร้องให้พวกเราตั้งใจอ่านพระราชกระแส ด้วยปัญญาสมาธิอย่างสุดความสามารถ พยายามทำความเข้าใจแนวความคิดหลัก 3 ประการที่สัมพันธ์กันอยู่ในพระราชกระแสนั้น คือ (1) เรื่องพระราชอำนาจ (2) เรื่องสุญญากาศทางการเมือง และ (3) เรื่องการปฏิบัติตามจารีตประชาธิปไตย

ในเรื่องพระราชอำนาจนั้น พระองค์ทรงใช้คำว่า “ลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มที่” ซึ่งหมายถึงการใช้พระราชอำนาจพิเศษ เมื่อบ้านเมืองเกิดวิบัติอันตราย ต้องใช้พลังแผ่นดินเข้าแก้ไขเพื่อรักษาบ้านเมืองและชีวิตประชาชนไว้ อำนาจนี้อาจจะไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เรื่อง “สุญญากาศทางการเมือง” พระองค์ทรงใช้คำประกอบอีก 2 คำ คือ “void” แปลว่า ความว่างเปล่า โมฆะ หรือไม่มีอะไรเหลือ และคำว่า “ช่องว่าง” แปลว่า vacuum ทั้งหมดนี้คือภาวะอันตราย หรือการคืนสู่ธรรมชาติของสรรพสัตว์ที่จะต่อสู้ห้ำหั่นกันด้วยกำลังสถานเดียว กติกาหรือผู้ควบคุมตัดสินก็ไม่มี จึงมีคำสุภาษิตอังกฤษว่า “politics abhors vacuum” แปลว่า “การเมืองกลัวหรือสยองช่องว่าง” หากมีช่องว่างเมื่อใดเมื่อนั้นบ้านเมืองและประชาชนพลเมืองจะเป็นอันตราย ในหลวงทรงยกตัวอย่างกรณี 14 ตุลา ฯ

เรื่อง “การปฏิบัติตามจารีตประชาธิปไตย” ในหลวงมิได้ทรงกล่าวถึงโดยตรง แต่ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และทรงอธิบายโดยทางอ้อมว่ายามปกติในหลวงจะไม่ทรงเล่นการเมือง เช่น ไม่ลำเอียงเข้าข้างบุคคลหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง ใครจะได้เป็นรัฐบาลหรือเป็นตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ครรลอง ยกเว้นเมื่อเกิดสุญญากาศ ในหลวงทรงมีพระราชอำนาจและหน้าที่จะต้องช่วย เมื่อได้ก้าวลงไปจัดการ จนช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้ว สถาบันกษัตริย์จะต้องรีบก้าวกลับขึ้นไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่สุด จะได้พร้อมที่จะลงมาช่วยได้อีก ถ้าเกิดสุญญากาศขึ้นมาอีก นี่คือจารีตประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงยึดถือ เพราะฉะนั้นการที่โจมตีกันว่าจะดึงฟ้าต่ำบ้าง จะทำให้ถอยหลังเข้าคลองเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นวาทกรรมการเมืองของผู้ที่ไม่เข้าใจหรือไม่นิยมสถาบันกษัตริย์มากกว่า เพราะเมื่อเกิดสุญญากาศแล้ว ในหลวงทรงสร้างตัวอย่างประชาธิปไตย เช่น การตั้งสมัชชาแห่งชาติเป็นต้น ทรงก้าวหน้าในทางประชาธิปไตยยิ่งกว่าทหารที่ยึดอำนาจเสียอีก

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นั้นนิสิตนักศึกษามิได้ยึดอำนาจ เพียงแต่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เมื่อเกิดการสู้รบนองเลือด จอมพลถนอมลาออกรัฐมนตรีทั้งคณะจึงต้องออกไปด้วย ช่องว่างเกิดขึ้นแล้วอันหนึ่งในฝ่ายบริหาร ในหลวงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้อาจารย์สัญญา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมิได้เป็นไปตามตัวหนังสือในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญมิได้ห้ามไว้ และมีแบบอย่างอยู่ในจารีตประเพณีของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงอธิบายว่า

“เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ รองประธานสภานิติบัญญัติ นายทวี แรงขำ. ดังนั้น ไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย. ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบมี มีกฎเกณฑ์ที่รองรับ ฯลฯ ตามครรลองของรัฐธรรมนูญ.” ตลอดสมัยของอาจารย์สัญญา ยังคงใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ของจอมพลถนอมเป็นเครื่องมือปกครองประเทศ เมื่อเป็นที่แน่แล้วบุคคลในคณะรัฐบาลเดิมสลายไปตามการลาออกของจอมพลถนอม และไม่มีบุคคลใดจะสืบทอดอำนาจ สุญญากาศทางการเมืองจึงเห็นปรากฏชัด

ส่วนสุญญากาศฝ่ายนิติบัญญัติก็ เกิดขึ้นตามมา ซึ่งก็คงจะมิได้หมายความว่า เกิดขึ้นเอง แต่ทว่า ถูกสร้างขึ้น อาจจะเป็นเพราะการขอร้อง บีบบังคับ หรือความเสียสละของบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติ ฯ เพื่อต้องการให้ช่องว่างและสุญญากาศหมดไปอย่างรวดเร็ว แม้จะมิใช่วิธีปกติคือเลือกตั้งทั่วไปหรือแต่งตั้งโดยผู้ยึดอำนาจ นั่นก็คือ การเปิดทางให้ในหลวงตั้งสมัชชาแห่งชาติ เพื่อให้เลือกกันเองเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะเห็นว่าทั้งกระบวนการและองค์ประกอบไม่มีอะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย นับว่าเป็นนวัตกรรมประชาธิปไตยของในหลวงโดยแท้

ทรงอธิบายต่อว่า “แล้วงานอื่นๆ ก็มี แม้จะเรียกว่าสภาสนามม้า ก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนอง. นายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับสนองพระบรมราชโองการก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้อง ตามครรลองของรัฐธรรมนูญ.”

ผู้ที่ร่วมด้วยช่วยกันสร้างสุญญากาศนิติบัญญัติ ฯ คือ บรรดาสมาชิกที่รักชาติ และต้องการเห็นบ้านเมืองก้าวหน้าสงบสันติ และเชื่อมั่นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ

วันที่ 11 ธันวาคม 2516 ประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกลาออก 185 คน

วันที่ 12 ธันวาคม 2516 สมาชิกฯ เพิ่มอีก 61 คน

วันที่ 13 ธันวาคม 2516 มีพระบรมราชโองการเรียกประชุมสมัชชาแห่งชาติ เวลา 9.30 น. และมีสมาชิกฯ ลาออกอีก 13 คน

วันที่ 14 ธันวาคม 2516 มีสมาชิกฯ ลาออกอีก 10 คน รวมที่ลาออกจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม จำนวน 288 คน

วันที่ 15 ธันวาคม 2516 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกคำชี้แจงแก่ประชาชนเรื่องการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ

วันที่ 16 ธันวาคม 2516 มีพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังคงเหลือผู้ที่ยังมิได้ลาออกและสิ้นสมาชิกภาพไปจำนวน 11 คน เพราะมีพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

วันที่ 18 ธันวาคม 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ เป็นครั้งแรก ณ สนามราชตฤณมัยสมาคม เวลา 8.30 น.

วันที่ 19 ธันวาคม 2516 มีการประชุมสมัชชาแห่งชาติเป็นครั้งแรก ณ สนามราชตฤณมัยสมาคม เวลา 8.30 น. เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมี นายประสิทธิ์ ศรีสุชาติ เลขาธิการรัฐสภาเป็นประธานกรรมการ และเริ่มมีการนับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่เวลา 10.15 น.

วันที่ 20 ธันวาคม 2516 นับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ เสร็จสิ้นเวลา 6.30 น.

วันที่ 23 ธันวาคม 2516 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 จำนวน 299 คน

น่าเสียดายที่ 6 ตุลามหาโหดอุบัติขึ้นในปี 2519 ทำให้นวัตกรรมประชาธิปไตยของในหลวงต้องอับปางลง

ต่อมาสุญญากาศในทางการเมืองทำท่าจะเกิดขึ้นอีก เมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเข้าเฝ้าร่วมกับพลตรีจำลอง ซึ่งในหลวงทรงช่วยระงับการนองเลือดพฤษภาทมิฬ จึงเกิดความเข้าใจผิดต่อๆ กันมาว่า สุญญากาศที่สถาบันกษัตริย์จะทรงเข้ามาช่วยได้ ต้องหลังจากการนองเลือดเสียก่อน

ในครั้งนั้น สุญญากาศยังไม่เกิด เพราะสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งยังอยู่ และสภายอมรับการที่ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาฯ ขอให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลภายนอกคือ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

ก่อนการเลือกตั้งครั้งนั้น ผมและเพื่อนๆ ได้เขียนหนังสือและอภิปรายขอให้ รสช.สลายตัว และสลายสภานิติบัญญัติฯ แต่งตั้งเสียก่อนเพื่อให้เกิดสุญญากาศ

ในหลวงจะได้ทรงนำในการสถาปนาระบอบการเมืองแบบราชประชาสมาสัย

เช่นนั้น จะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ป้องกันมิให้เกิดนองเลือดหรือพฤษภาทมิฬขึ้น เพราะคู่ต่อสู้ทางการเมืองและประชาชนส่วนหนึ่งไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของ รสช. ที่ตั้งพรรคการเมือง (ชั่วคราว) ครอบและซื้อพรรคการเมืองต่างๆ เหมือนกลุ่มสนับสนุนทักษิณในปัจจุบัน บรรดานักการเมืองตัวเอ้ในยุคนั้นกับยุคนี้ก็คือนายทุนพรรคและนักสมัครรับเลือกตั้งชุดเดียวกันเกือบทั้งสิ้น

ท่านผู้อ่านที่เคารพคงมีความรู้สึกไม่ต่างกับคนไทยจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเครียดและสิ้นหวังกับอนาคตการเมืองไทยในปัจจุบัน ผมได้เขียนและพูดมานานแล้วตลอดปีว่า สังคมไทยควรรวบรวมปัญญาสมาธิ ผันวิกฤตให้เป็นโอกาส มองให้ทะลุถึงสุญญากาศที่กำลังจะเกิด หรือช่วยกันสร้างสุญญากาศให้เกิด เพื่อในหลวงและปวงชน (รวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ในปัจจุบัน) จะได้มีส่วนร่วมช่วยกันสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์หรือราชประชาสมาสัยขึ้นให้สำเร็จอย่างแท้จริง การต่อสู้ทางการเมืองที่อาศัยการเลือกตั้งและพรรคการเมืองจอมปลอมที่แบ่งคนไทยออกเป็นสองขั้วจับจ้องจะปักมีดใส่คอหอยซึ่งกันและกันจะได้ไม่เกิดขึ้น และการนองเลือดครั้งใหญ่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

แต่ความเห็นแก่ตัวของนักการเมืองทำให้เมืองไทยมาถึงจุดอันตราย

อย่างไรก็ตาม ผมยังมองเห็นว่า สุญญากาศในทางการเมืองได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อพลเอกสนธิได้ลาออกจาก คมช.และสละอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของตนไป เมื่อรัฐบาลและ กกต.หย่อนความสามารถและขาดความรับผิดชอบ ปล่อยให้พรรคการเมืองและนักการเมืองต่อสู้กันด้วยกติกานอกแบบ และเอาการเลือกตั้งมาบังหน้า

เมื่อรัฐบาลและ สนช.มิได้เล็งเห็นความเสียหายและฉวยโอกาสสร้างสุญญากาศด้วยการรับสภาพการสิ้นสุดอำนาจการปกครองที่ชอบธรรมตาม คมช.ไป สุญญากาศครั้งใหม่ก็กำลังจะเกิดขึ้น เพราะการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม ขัดหลักกฎหมาย หลักรัฐธรรมนูญและทำลายประชาธิปไตยหรือแม้แต่สถาบันกษัตริย์กำลังเดินทางเข้าตาอับและกำลังจะฟ้องตนเอง

โอกาสที่ศาลจะสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะนับว่าสูงมากเพราะการละเมิดกฎหมายนั้นชัดแจ้งเกินกว่าที่จะโมเมได้ นอกจากนั้น กกต.ก็จะต้องดำเนินการยุบพรรคซึ่งตนเองได้ออกใบแดงให้กรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้ว และกรณีนอมินี การกระทำผิดของกรรมการบริหารพรรคคือ ยุทธ ตู้เย็น ตลอดจนการปลอมเอกสารของนายวีรศักดิ์ ที่ศาลสั่งแล้ว ก็จะตามมาหลอกหลอนพรรคพลังประชาชน พรรคนี้ได้แสดงมาแต่ต้นแล้วว่าอะไรที่ตนเสียประโยชน์จะไม่ยอมรับ แม้แต่การวินิจฉัยของศาลก็ไม่ยอม ก็จะปลุกปั่นประชาชนเข้าต่อต้าน

ผู้ที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบคือ รัฐบาล กกต. และสนช.การเลือกตั้งต่อไปตามกติกา และการบริหารของบุคคลชุดเดิมไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นสุญญากาศและอันตรายใหญ่ก็จะตามมา

ผมมองเห็นทางออกคือความกล้าหาญและจริยธรรมของชนชั้นปกครองไทย ฝ่ายตุลาการคือศาลจะต้องยืนหยัดถือหลักกฎหมายเป็นที่ตั้งไม่วอกแวก ฝ่ายบริหารควรรับผิดชอบที่เป็นฝ่ายเร่งการเลือกตั้งที่นำมาสู่ความล้มเหลว การลาออกของรัฐบาลทั้งหมด เหลือจังหวะไว้ให้นายกรัฐมนตรีคอยลงนามสนองพระบรมราชโองการฯ การลาออกของ สนช.ทั้งหมดเหลือประธานหรือรองประธานไว้เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการฯ กองทัพที่ยืนหยัดรักษาความเป็นทหารอาชีพและเป็นกลาง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่เหลืออยู่ คมช.ควรจะปฏิบัติหน้าที่ครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นแต่เพียงพิธีกรรม คือการกราบถวายบังคมลาอย่างเป็นทางการ

ผมขอยืนยันว่า ในการแก้ปัญหาของบ้านเมืองเราต้องไม่เข่นฆ่าหรือทำลายฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพื่อเอาชนะแต่ข้างเดียว นักการเมืองน้ำดีของพรรคพลังประชาชนต้องมีโอกาสเท่าเทียมกับพรรคอื่นๆ และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงที่มีความหายต่อบ้านเมืองและคนไทยทุกคน

ผมขอจบด้วยบทส่งท้ายหนังสือเรื่อง “พระราชอำนาจจากพระโอษฐ์ฯ”

ผมไม่เคยเสนอให้ใช้วิธีการแต่งตั้งแทนการเลือกตั้ง แต่ผมเสนอให้เรารักษารัฐธรรมนูญไว้ โดยใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของพระมหากษัตริย์ และปวงชนแก้บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งแบบใหม่แทน ซึ่งมีลักษณะคล้ายการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ที่เลือกผู้แทนตำบลขึ้นมาเสียก่อนและให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง ในหลวงทรงเคยพระราชทานสมัชชาแห่งชาติเพื่อเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ มาแล้ว คราวนี้ทำไมเราจึงจะขอพระบรมราชวินิจฉัยไม่ได้เล่า ว่าจะพระราชทานสมัชชาแห่งชาติที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนอยู่แล้ว ประกอบด้วยนายกเทศมนตรี นายก อบจ. นายก อบต.และสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมดในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 159,705 คน ได้หรือไม่ (ถ้าหากคิดว่าแค่นี้ไม่พอหรือฐานแคบไปจะเอาส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็ได้)

*บุคคลเหล่านี้ มาจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเกือบ 40 ล้านคน ถึงจะเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยหรือเคยเชียร์ทักษิณมาก่อนก็ไม่เป็นไร เพราะคราวนี้เขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชประชาสมาสัย โดยเสด็จพระเจ้าอยู่หัวบนถนนประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที บุคคลเหล่านี้จะมาเลือกกันเองสัก 400 คน เพื่อเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ชั่วคราวสัก 6 เดือนหรือ 1 ปี ซึ่งผมมองไม่เห็นว่ามันจะไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน ซ้ำกลับจะมีความเป็นตัวแทนของท้องถิ่นอย่างแท้จริงทั่วถึง และหลุดพ้นจากวงจรระบบพรรคแบบ “รวมศูนย์-รวบอำนาจ-เป็นทาสเงินหัวหน้า” อีกด้วย

*เวลา 6 เดือนหรือ 1 ปีนี้ เราสามารถใช้ปูพื้นฐานที่ถูกต้องให้พรรคการเมือง และการปกครองแบบราชประชาสมาสัย หรือการมีส่วนร่วมที่แท้จริง พ้นจากการครอบงำของอำนาจและเงินของนักผูกขาดการเมือง ซึ่งเอาประชาธิปไตยมาทำป้ายแขวนคอหลอกหลอนตบตาประชาชนและชาวโลกอยู่อย่างไม่มียางอาย

* นี่เป็นโอกาสเดียวและโอกาสสุดท้ายที่เราจะพึ่งองค์พระภัทรมหาราช

สร้างชาติ สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ และวัฏจักรน้ำเน่าให้จงได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น