xs
xsm
sm
md
lg

นัดรวมพลพระบรมมหาราชวังถวายฎีการบ.เฉพาะกาลวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เครือข่ายประชาชน 8 ภาคี นัดยื่นฎีกาขอรัฐบาลเฉพาะกาล แก้ปัญหาสุญญากาศการเมือง นัดรวมพลพระบรมมหาราชวังวันนี้ ”อาทิตย์ อุไรรัตน์” ห่วงการรวมขั้วการเมืองจะได้พวกไม่ชอบธรรมกลับมา ด้าน ”ปราโมทย์” ยันใช้สิทธิป้องชาติล่มจม “ไชยวัฒน์” ปูดกลุ่มองคุลีมาลกลับใจของเก๊ เพราะได้น้ำเลี้ยงจากบริษัทคู่สัญญารัฐจ่ายหัวละ 40 ล้าน หวังให้เข้าไปปกป้องผลประโยชน์ฉาวของตัวเองที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (8 ธ.ค.) มีการจัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ”รัฐบาลเฉพาะกาล ทางรอดประเทศไทย” ซึ่งจัดโดย ภาคีเครือข่ายประชาชนเพื่อฟื้นฟูชาติและพัฒนาการเมือง 8 ภาคี โดยในการจัดงาน ได้มีการเปิดให้ประชาชนลงชื่อเพื่อถวายฎีกา ขอรัฐบาลพระราชทานพร้อมขอเชิญประชาชนร่วมลงนามถวายฎีกาขอรัฐบาลเฉพาะกาล
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปิดการเสวนาว่า มีด่านใหญ่ๆ ของ ส.ส.ที่ถูกยุบพรรค ด่านแรกคือ กฎหมาย ส.ส.ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ เพราะกฎหมายบอกว่าต้องหาพรรคอื่นใน 90 วัน ไม่ได้หมายความว่า เป็นพรรคใหม่ จึงตีความได้ว่าพรรคใหม่ไม่มีสิทธิ์ ด่านทางกฏหมายที่ 2 คือ ส.ส.สัดส่วน ประชาชนเลือกเข้ามาในลักษณะการเลือกพรรค ซึ่งแตกต่างจาก ส.ส.เขต ดังนั้น เมื่อพรรคถูกยุบ มีสิทธิ์ที่จะย้ายพรรคหรือไม่เป็นปัญหาที่ต้องตีความอยู่ในขณะนี้
”ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจในการเปิดประชุมสภาแล้ว เพราะเป็นส.ส.สัดส่วน ซึ่งต้องหมดสภาพไปตามการยุบพรรค เกิดเป็นสุญญากาศ อำนาจอยู่ที่ประธานวุฒิสภาที่ยังมีอำนาจและเป็นกุญแจสำคัญ”
ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า ประเด็นต่อมาอยากให้จับตาดูว่า การรวมขั้วทางการเมือง จะเป็นอย่างไร ถ้าเหตุวุ่นวาย เกิดจากการไม่มีจิตสาธารณะของนักการเมือง แล้วยังจะมาสร้างความไม่ชอบธรรมในรัฐบาลใหม่อีกหรือ สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่นิ่ง จนกว่าผู้มีอำนาจสูงสุด คือศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นได้มีการเสวนา ในหัวข้อ ”ผ่าทางตัน ด้วยปัญญา และพระบารมี” โดย ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า วิกฤติการเมืองขณะนี้ มีการแตกแยกด้านความคิด แต่อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารกลับไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และไม่มีความชัดเจนว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไร
ขณะนี้ ไม่มีครั้งใดที่ความเป็นสุญญากาศทางการเมืองยิ่งใหญ่กว่าครั้งนี้ จึงเหลือเพียงการทูลเกล้าถวายฎีกา หลังจากที่เราทำมาทุกอย่างแล้ว อย่างไรก็ตาม การถวายฎีกา ถ้าไม่ใช่การฝักใฝ่พรรคการเมืองใด แต่เกี่ยวข้องกับ รัฐฐาธิบาล คือสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยตรัสว่า อย่าทำอะไรมั่ว ๆ ในช่วงที่มีการขอคืนพระราชอำนาจ ตามมาตรา7 ของ รัฐธรรมนูญ 2540 แต่เมื่อมีวิกฤติ ชาติจะล่มจมจริง ๆ เราจึงจะใช้ตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
นายวิชัย รูปขำดี ประธานเครือข่ายนิด้าพัฒนาการเมือง กล่าวว่า แนวคิดรัฐบาลเฉพาะกาล เกิดจากแนวคิดที่เราจะให้ผู้ที่ร่วมกันขัดแย้ง เข้ามาเป็นรัฐบาล และมีบทบาทแก้ความขัดแย้งร่วมกันได้อย่างไร ดังนั้นเราจะเข้าหาอำนาจที่แท้จริงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ซึ่งปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งแม้จะมีบางฝ่ายเห็นว่า ควรให้เป็นไปตามวิธีปกติ แต่แน่ใจอย่างไรว่าจะปกติ ในภาวะที่มีสุญญากาศ ถึงวันนั้นเราจะไม่มีเวลาเตรียมรัฐบาลเฉพาะกาลในการแก้ปัญหา
ด้านนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ประธานเครือข่ายสมัชชาประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า คำว่า รัฐบาลเฉพาะกาล เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนปี พ.ศ.2475 หรือก่อนถูกยึดอำนาจโดยคณะราษฎร ซึ่งเพราะความไม่รู้ของสังคมไทย ถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นเจ้าของอธิปไตย ทำให้เกิดเผด็จการ ทั้งเผด็จการจากการเลือกตั้ง หรือจากทหารก็ตาม
อย่างขณะนี้ มีข่าวกลุ่มการเมืองที่ถือว่า เป็นองคุลีมาลกลับใจ แต่กลับมีเบื้องหลังว่า ได้หัวละ 40 ล้าน ถามว่า ใครจ่าย คือบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่เป็นคู่สัญญารัฐในการประกอบธุรกิจในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีข้อแม้ว่า พรรคที่จะเป็นรัฐบาล ห้ามแตะบริษัทนั้น ต้องเข้าใจว่า เป้าหมายการปกครองเพื่ออะไร คือ ปกครองเพื่อความมั่นคง อยู่รอดปลอดภัยของประเทศ และประการที่สอง คือการปกครองคนไทยให้ได้รับความเป็นธรรมในทุกเรื่อง
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า วันนี้เราจะหาทางออก จะให้ประชาชนตัดสินใจร่วมกับองค์พระประมุข จะมีคนไทยบางคน บอกไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท แต่กลไกรัฐธรรมนูญ 2550 พระองค์ทรงเป็นประมุขประเทศ เมื่อการเมืองปั่นป่วน ต้องใช้ประชาชน กับพระองค์ท่านแก้ปัญหา เรียกว่า ราชประชาสมาศัย จะเป็นพลังยิ่งใหญ่ต่อไป
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า พระราชอำนาจมี 3 ประเภท คือ 1. พระราชอำนาจทั่วไป คือการตักเตือน ให้กำลังใจคณะรัฐมนตรี 2. พระราชอำนาจพิเศษ 3. พระราชอำนาจ สำรอง ซึ่งอาจครอบคลุมการปลด แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือยุบสภาเป็นกรณีพิเศษ โดยประสบการณ์ของเรา ในหลวงของพวกเรา แทบมิทรงใช้พระราชอำนาจพิเศษ กับพระราชอำนาจสำรอง ยกเว้นกรณี 14 ตุลา และ พฤษภาทมิฬ เท่ากับพระองค์ท่านล่อแหลมต่อการวางพระองค์ เราออกแบบให้พระองค์อยู่เหนือการเมือง แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้ เราจึงต้องพูด เมื่อรัฐบาลกลายเป็นผู้ทำลาย สิทธิเสรีภาพ ทำลายสิทธิในชีวิต ปิดกั้นสื่อ สิทธิในการแสวงหาความสุข ก็เป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงยกเลิกการปกครองนั้นเสีย เมื่อไม่มีการปกครอง ก็สถาปนาการปกครองใหม่ ซึ่งตั้งบนรากฐานของสิทธิเหล่านั้น
จากนั้น วิทยากร ได้มีการอ่านร่างถวายฎีกา เรื่องขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายฎีกา เรื่องรัฐบาลเฉพาะกาล เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย โดยระบุว่าได้รายชื่อแล้วกว่า 2,000 รายชื่อ และได้นัดแนะผู้ร่วมถวายฎีกา ในเวลา 8.30 น.วันที่ 9 ธ.ค. ที่พระบรมหาราชวัง เพื่อเดินทางไปถวายฎีกาที่สำนักพระราชวัง ในเวลา 9.09 น.
นอกจากนี้จะมีการไปยื่นร่างฎีกาดังกล่าว ให้สำนักองคมนตรี ที่สวนสราญรมย์ และจะเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ให้พิจารณาสถานะ ส.ส.สัดส่วนด้วย
สำหรับรายชื่อผู้ถวายฎีกาที่น่าสนใจ เช่น รายชื่อ 9 อันดับแรก คือ 1.ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นายกราชบัณฑิตยสภา 2.ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต 3.นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 4. พล.อ.อ.เทิดศักดิ์ สัจจารักษ์ อดีตเสนาธิการทหารอากาศ 5. พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม 6. พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 7.รศ.ทวีศักดิ์ สุนทกวาทิน รองอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 8.ดร.วิชัย รูปคำดี ประธานเครือข่ายนิด้าโพลล์ และอดีตคณบดีคณะพัฒนาสังคม นิด้า และ 9.ศ.นพ.ประมวล วีรุจนเสน อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายปัญญาสยาม รวมทั้งจะมีนักวิชาการ ข้าราชการระดับสูง ประชาชนนักธุรกิจร่วมลงนามอีกจำนวนมาก

สำหรับแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลนั้น ก่อนหน้านี้ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และ ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด แถลงร่วมกันว่า เห็นด้วยและสนับสนุนที่จะให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในเวลานี้ โดยอาศัยอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 7, และ 10 ประกอบกับมาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 180, 181, 182 หรือ 147 และ 101 เป็นต้น เพราะเชื่อว่า แนวทางของรัฐบาลเฉพาะกาลนี้ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยสู่ทางรอดจากวิกฤติขณะนี้ รวมทั้งจะเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตยของประเทศอย่างแท้จริงให้ได้ด้วย
ทั้งนี้สมัชชาประชาชนฯ ได้รวมกับเครือข่ายประชาชนผู้รักชาติทั้งหมด รวมทั้งนักวิชาการ ผู้ใช้แรงงาน คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ ข้าราชการ เหล่าทัพ เกษตรกรประชาชน ในการถวายฎีกา ขอพระราชทานรัฐบาลเฉพาะกาล เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย เพื่อเข้ามาทำหน้าที่สำคัญ 3 ประการหลักคือ 1.การรักษาความมั่นคงของชาติ 2.การแก้ปัญหาความแตกแยก 3.การแก้ปัญหา เศรษฐกิจ โดยหลักการ ยังคงเป็นไปตาม ครรลองของมาตรา 3 มาตรา 7 และมาตรา 10 ในบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น