“ไชยา” สั่ง “หมอปราชญ์” อัปเดตข้อมูลยามะเร็ง 4 รายการใหม่ พร้อมหารือระดับรัฐมนตรี 3 กระทรวง ได้ข้อสรุปชัด ส่งให้ “สมัคร” ตัดสินใจอีกที คาดใช้เวลา 1 เดือนรู้ผล ด้านเครือข่ายฯ จี้พิสูจน์ความจริงใจรีบสั่งนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งภายใน 3-4 เดือน “หมอวิชัย” เผย อภ.ไม่สนเดินหน้าต่อเตรียมสั่งซื้อยารักษาโรคมะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม “โดซีแท็กเซล” ก.พ.นี้ ขณะที่ “พรีม่า” ย้ำไม่ควรทำซีแอล ดิ้นต่อขอพบ รมว.พาณิชย์-สาธารณสุข
วันนี้ (20 ก.พ.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับรายงานมติเบื้องต้นในการประชุมระดับปลัดกระทรวง 3 กระทรวง ไม่ยกเลิกการดำเนินการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ยารักษาโรคมะเร็งแล้ว จึงได้สั่งการให้ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.เร่งจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องการยารักษาโรคมะเร็งทั้ง 4 รายการให้ครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้ยามะเร็งทั้ง 4 รายการ ราคายาทั้งของบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร และยาจากประเทศอินเดีย ว่า มีราคาเท่าไร และหากทำซีแอลแล้วจะประหยัดงบประมาณได้เท่าไร โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นข้อมูลที่มีการปรับปรุงล่าสุด ไม่ใช่ข้อมูลเก่าของปีก่อนๆ แล้วนำมาอ้างถึง
นายไชยา กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไปคงต้องรอให้ปลัดกระทรวงทั้ง 3 กระทรวง ประชุมสรุปผลอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจึงจะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีทั้ง 3 กระทรวง เพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจนเพื่อนำผลการหารือเสนอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาอย่างเต็มที่ไม่เกินเดือนเศษจะได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะเดินหน้าซีแอลอย่างไร ดังนั้นระหว่างนี้ ทาง สธ.คงจะยังไม่ดำเนินการอะไร
ด้าน นายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐมนตรีออกมาประกาศว่าจะไม่ยกเลิกการทำซีแอล ยารักษาโรคมะเร็ง 4 รายการ ประกอบกับมติที่ประชุม 3 ปลัดกระทรวง ทั้ง สาธารณสุข พาณิชย์ และต่างประเทศ ก็ให้มีการเดินหน้าทำซีแอล แต่จากนี้ไปจะยืดเวลาหรือปล่อยให้การดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนยืดเยื้อไม่ได้ มิฉะนั้น เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจออกมาเคลื่อนไหวและฟ้องศาลปกครองฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า การทำซีแอลครั้งแรกกับยาต้านไวรัสเอดส์ เมื่อปี 2550 มีขั้นตอนการขึ้นทะเบียนยาของบริษัทยาอินเดีย รวมถึงการทำชีวสมมูลย้อนกลับและการตรวจสอบคุณภาพยาเทียบกับยาต้นแบบ ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ผู้ป่วยก็ได้รับการจ่ายยา ฉะนั้น ในการทำซีแอลกับยารักษาโรคมะเร็ง จะต้องสั่งและนำเข้ายาภายในเวลาไม่เกิน 3-4 เดือนหรือเร็วกว่านั้น เพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริงใจว่ารัฐบาลนี้ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากไทยมีประสบการณ์ในการทำซีแอลแล้ว จึงไม่ควรใช้เวลานานกว่านี้
“เชื่อว่า ข้าราชการดีๆ ยังมีอยู่มาก แต่เมื่อต้องทำงานภายใต้อำนาจนักการเมืองจะต้องฉลาด เพราะนักการเมืองไม่เคยเห็นแก่ประโยชน์ประชาชน เห็นแก่ประโยชน์ตนเองเป็นหลัก ไม่เคยเห็นคนจนที่ตายเพราะไม่มีเงินซื้อยากิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองที่รวยกว่าบริษัทยา” นายวิรัตน์ กล่าว
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประกวดราคายารักษาโรคมะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม โดซีแท็กเซล โดยในที่สุด บริษัท ดาเบอ ที่เป็นบริษัทยาอินเดีย แต่มีโรงงานการผลิตที่ประเทศอังกฤษประกวดราคาได้ในราคา 1,245 บาท ในขนาด 80 มิลลิกรัม ขณะที่ยาต้นตำรับขนาดเท่ากันมีราคา 2.5 หมื่นบาท ซึ่งสามารถดำเนินการสั่งซื้อได้ภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้
“แม้ว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่หน้าที่ของ สปสช.จำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไปด้วยการสั่งยานี้แน่นอน เนื่องจากยาโดซีแท็กเซลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่ง สปสช.ก็มีพันธะต้องทำให้ผู้ป่วยมีสิทธิในการใช้ยาได้ตามกฎหมายกำหนด” นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างยารักษาโรคมะเร็งยังคงดำเนินการอยู่ต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างยารักษาโรคมะเร็งกับบริษัทดาเบออยู่ ซึ่งจำนวนของการสั่งยาล็อตแรก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นผู้เสนอมาว่าจะสั่งยาล็อตแรกจำนวนเท่าใด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เสนอมาว่า อภ.จะต้องจัดซื้อเท่าใด แต่คงจะซื้อล็อตแรกให้เพียงพอกับผู้ป่วยหมื่นกว่าคนตามข้อมูลที่มีอยู่ ให้เพียงพอใช้ยาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งหาก สปสช.ส่งข้อมูลจำนวนยามาประกอบกันก็สามารถสั่งยาได้ทันที
นพ.วิชัย กล่าวด้วยว่า เนื่องจากยาดังกล่าวมีราคาแพงมาก ทำให้สถานพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลางบางแห่งไม่กล้าสต็อกยาไว้ ทำให้ไม่ทราบตัวเลขผู้ใช้ยาอย่างแท้จริง แต่หากล็อตแรกไม่เพียงพอก็สามารถสั่งเพิ่มเติมเป็นล็อตที่สองได้ โดยเป็นหน้าที่ของ สปสช.ในการเก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วยและการใช้ยาอย่างแท้จริง ซึ่งเหมือนกับข้อมูลผู้ป่วยเอดส์ในอดีตที่มียอดไม่แน่นอน แต่เมื่อมีการสั่งจ่ายยาก็ทำให้ทราบตัวเลขผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ โรคมะเร็งเป็นปัญหาของคนทั่วโลก ไม่ใช่ของไทยเพียงอย่างเดียวและต่างไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากน้อยเพียงใดอย่างละเอียด
ด้าน ภก.ธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีมา) กล่าวว่า พรีม่าประสงค์เข้าพบนายไชยา และ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อยื่นข้อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาการเข้าถึงยาที่ถูกต้อง ที่ไม่ใช่การทำซีแอลอย่างปัจจุบันนี้ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องยามะเร็ง ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อยาให้เพียงพอ ซึ่งจากตัวเลขยามะเร็งทั้ง 4 รายการ มียอดจำหน่ายในประเทศไทยเพียง 600 ล้านบาทเท่านั้น ระยะกลางรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นให้ได้ร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้าน และระยะยาวคือ รัฐบาลจะต้องส่งเสริมด้านสุขภาพเพื่อป้องกันความเจ็บป่วยอย่างเข้มแข็ง ไม่ใช้ทำงานเพื่อประชาสัมพันธ์เท่านั้น
“ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำผิดมาตั้งแต่ต้นที่คุ้มครองการรักษาโรคแทบทุกโรค โดยเฉพาะการเจ็บป่วยเล็กน้อย อย่างปวดหัว ตัวร้อน ประชาชนรักษาได้ฟรี ทั้งที่จริงโรคเหล่านี้ควรให้ประชาชนรวมจ่าย เพราะเป็นโรคที่มีค่ารักษาพยาบาลไม่แพงมาก ประชาชนมีกำลังจ่ายได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณ และนำงบประมาณที่ประหยัดได้มาใช้จ่ายในการคุ้มครองโรคที่มีความซับซ้อน หรือโรคเรื้อรังแทน เช่น โรคไต มะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ความดัน เป็นต้น” ภก.ธีระ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวไม่เป็นการถ้อยหลังลงคลอง หรือ ภก.ธีระ กล่าวว่า คงไม่ใช่ แต่ที่ผ่านมาเป็นการคิดระบบผิดมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้หมายความแก้ไขไม่ได้ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลควรวางนโยบายใหม่ ไม่ใช่จะประชานิยมทุกอย่าง นักการเมืองควรมองปัญหาระยะยาว ไม่ใช่มองแค่การแก้ปัญหาเฉพาะ เพราะส่วนใหญ่มักจะเร่งทำแต่เรื่องที่เห็นผลเร็วเท่านั้น