xs
xsm
sm
md
lg

พรีมาตีปีกดีใจ "ไชยา" รื้อ CL- รมต.เงาเผยทำสูญอำนาจต่อรองราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พรีม่า” ตีปีก “ไชยา” ทบทวนทำซีแอลยามะเร็ง เตรียมขอเข้าพบเสนอให้ความร่วมมือช่วยให้คนไทยเข้าถึงยา วิจัยระบบสุขภาพไทย ได้ทีจวก “หมอมงคล” ไม่ยั้ง ชี้ทำงุบงิบ-ไม่โปร่งใส-ทิ้งทวนไม่มีมารยาท ขณะที่ “นพ.บุรณัชย์” รัฐมนตรีเงา ปชป.อัดทบทวนซีแอลแต่ไร้แผนรองรับทำสูญอำนาจต่อรอง พร้อมหารือเลขาฯอาเซียน รวมกลุ่มซื้อยา ด้านแพทย์ชนบทฉะ รมต.ปล่อยไก่ เพิ่มเงินเดือน ผลักดันให้แพทย์ได้รับเครื่องราชฯเรื่องเก่า เสนอแก้ปัญหาสมองไหล ต้องแยกบัญชีเงินเดือนออกจาก ก.พ. พร้อมเตือนให้จับตาการตั้งเลขาฯ สปสช.คนใหม่

นายธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีแนวทางในการทำงานที่จะทบทวนประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาทำอย่างไม่โปร่งใส โดยบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรที่ถูกประกาศทำซีแอลยามะเร็งทั้ง 4 รายการ ได้รับหนังสือ ลงรายชื่อเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2551 ทั้งๆ ที่ประกาศดังกล่าว มีการลงนามโดย รมว.สธ.ในขณะนั้น ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2551

**อัด รมต.เก่าไม่มีมารยาท
นายธีระ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ต่างจากการทำซีแอลครั้งที่ผ่านมา เป็นการสร้างปัญหาให้กับรัฐมนตรีที่จะต้องมาทำงานต่อ ถือว่าไม่มีมารยาท นอกจากนี้ อดีต รมว.สธ.ไม่ได้ดำเนินการตามนโยบายตามที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ โดยนำเรื่องการทำซีแอลเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ

“การทำซีแอลเป็นการหาความชอบธรรมในการซื้อยาสามัญ ซึ่งเป็นยาเลียนแบบราคาถูกมาให้ประชาชน รัฐบาลซื้อยาถูกลงจริง แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะไม่ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้วที่สำคัญยาสามัญมีคุณภาพได้เท่ากับยาต้นแบบหรือไม่ ยังต้องพิสูจน์โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรชี้แจงตีพิมพ์ผลการตรวจสอบชีวสมมูลลงสื่ออย่างชัดเจนเพราะคุณภาพน่าสงสัยมาก ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการ มีงบในการซื้อยาต้นแบบอย่างดีให้ประชาชน แต่กลับเอายาเลียนแบบให้จึงถือว่าไม่เป็นธรรม เป็นการลิดรอนสิทธิของข้าราชการ ดังนั้น การทำซีแอลผลประโยชน์จึงตกอยู่กับคนกลุ่มน้อย อย่างน้อยก็ถูกมองเป็นฮีโร่ แต่ข้อชี้แจง บิดเบือนไม่โปร่งใสขาดธรรมาภิบาล จะเป็นฮีโร่ได้อย่างไร” นายธีระ กล่าว

**ส่งหนังสือร้องเรียนทั่นหมัก
นายธีระ กล่าวด้วยว่า สมาคมฯได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะสิทธิบัตรยามีความเกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง โดยแสดงความกังวลต่อการทำซีแอลของ สธ.ไปหนังสือถึง 3 กระทรวง เพราะการทำซีแอลจะผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะด้านการค้า การพาณิชย์ของประเทศ ส่วนข่าวที่มีบริษัทยาวิ่งลอบบี้นั่นก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากยังไม่เคยพบ รมว.สธ.คนใหม่ แต่ก็ได้ทำหนังสือขอโอกาสเข้า เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมยายินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยเฉพาะ สธ.ในการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพของประเทศไทย 3 หลักใหญ่ คือ 1.การเข้าถึงยา 2.การพัฒนาบุคลากรสร้างแพทย์ให้เพียงพอกับจำนวนประชาชน และ 3.การพัฒนาศักยภาพในระบบสุขภาพ ซึ่งพบว่า งบประมาณในการดูแลสุขภาพประชาชนของประเทศไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา โดยคิดเป็นร้อยละ 3.3 ของจีดีพีในขณะทีที่ประเทศอื่นเฉลี่ยแล้วร้อยละ 5 เป็นเรื่องน่าห่วง รวมถึงการที่ไทยบอกว่ายาแพง แต่เก็บภาษียาไม่ว่าจะเป็นอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเสนอว่า ยาควรเป็นสินค้าที่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัญหาเกิดจากหลายๆ ปัจจัย ไม่ควรแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และควรใช้ซีแอลเป็นมาตรการสุดท้าย ในกรณีฉุกเฉินเช่น โรคระบาด

**ถูกใจรัฐบาลหมักมากกว่าขิงแก่
นายธีระ กล่าวด้วยว่า จากการประชุมกับคณะกรรมการร่วมระหว่าง สธ.และพรีม่า ครั้งล่าสุด มีข้อสรุปว่า พรีม่าจะเป็นผู้ศึกษาในเรื่องของระบบสุขภาพ ทำวิจัยระบบสุขภาพของไทย หาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการร่วมจ่ายที่เป็นประโยชน์ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขอย่างแท้จริง เนื่องจากเราไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย โดยดูจากประเทศอื่นเป็นตัวอย่างแล้วเปรียบเทียบว่า การร่วมจ่ายลักษณะใดที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ส่วนการที่สธ.อยากให้ดูแลในแง่การเข้าถึงยาของคนจน เช่น ยารักษาวัณโรค มาลาเลีย ไข้เลือดออก ก็จะมีการศึกษาพัฒนายาพวกนี้เพื่อให้คนเดือนร้อนที่อยู่ในชนบทมีโอกาสมียาเหล่านี้ใช้

“บอกไม่ได้ว่าต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเท่าไหร่ เพราะเป็นโครงการต่อเนื่องที่ทำร่วมกันในการพัฒนาระบบสุขภาพ เวลามากน้อยจึงขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการการ ซึ่งเป็นขั้นหาข้อมูล เพราะไทยขาดระบบข้อมูล ไม่มีตัวเลขวิจัยที่ชัดเจน ใช้ตัวเลขประมาณการไม่ได้ แต่ต้องมีข้อมูลที่เจาะลึก และหารือกันว่า อะไรควรแก้ก่อน โดยจัดระดับก่อนหลัง แบ่งความรุนแรงของปัญหา นอกจากนี้ รมว.สธ.คนใหม่ควรตั้งคณะกรรมการร่วมชุดใหม่ แต่สามารถที่จะดำเนินงานต่อได้ทันที ซึ่งเราพร้อมจะให้ความร่วมมือ โดยจะขอความร่วมมือบริษัทที่วิจัยและพัฒนายาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งขึ้นอยู่กับความโปร่งใส่ จริงใจ และการอยู่ในกติกาสากล ซึ่งเรามีความเชื่อมั่น และคาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่มากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาอย่างมาก” นายธีระกล่าว

เมื่อถามว่า ภาคประชาชนเห็นด้วยและเรียกร้องให้มีการทำซีแอล นายธีระ กล่าวว่า เอ็นจีโอก็คงยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และเอ็นจีโอคงไม่ต้องการให้ทำซีแอล แต่ต้องการเข้าถึงยาและได้ยาที่คุณภาพรักษาโรค ส่วนยาจะแพงหรือถูก รัฐบาลมีงบประมาณที่จะซื้อ มันไม่ใช่ธุระของเอ็นจีโอ ซึ่งยาจะแพงหรือถูกขึ้นอยู่กับว่า ยาแพงคือยาที่รักษาโรคแล้วไม่หาย ส่วนยาที่รักษาโรคแล้วหายถือว่าไม่แพง เพราะชีวิตคนเป็นสิ่งมีค่า

**แพทย์ชนบทชี้เครื่องราชฯ-ขึ้นเงินเดือนเรื่องเก่า
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกุลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประกาศออกไปนั้น เรื่องการขึ้นเงินเดือน 6% และ การเพิ่มเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ผู้บริหารโรงพยาบาลในต่างจังหวัด น่าจะเกิดจากความเข้าที่คาดเคลื่อนเพราะ 2 เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทุกหน่วยงานได้เงินเดือนเพิ่ม 6% กันอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องเครื่องราชฯ หากข้าราชการขึ้นระดับซี 9 ก็ได้รับอยู่แล้วดังนั้น ควรหาวิธีอื่นในการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรการปฏิรูประบบเงินเดือนใหม่ โดยแยกบัญชีเงินเดือนออกมาต่างหาก จากบัญชีเงินเดือนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เช่นเดียวกับระบบข้าราชการตุลาการอัยการเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีกว่า เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่จริงใจ

“อยากให้รัฐมนตรี มองปัญหาให้รอบด้านฟังข้อมูลให้ครบทั้งหมด อย่าฟังความข้างเดียว แต่ต้องฟังหูไว้หู เพราะแต่ละเรื่องมีความละเอียดอ่อน อย่างตั้งกองทุนหมอที่ถูกฟ้องในการต่อสู่คดี ตั้งไว้ก็ดี แต่ถ้าจะทำให้สมดุล ควรตั้งกองทุนผู้ป่วยด้วย หรือเรื่องการทำซีแอลก็อยากให้ฟังภาคประชาชนด้วย ไม่เช่นนั้นอาจถูกบริษัทยาหลอก ได้รับข้อมูลผิดว่าไม่มีการเจรจา ทั้งๆ ที่อย.เจรจาถึง 12 ครั้ง และอยากให้เอ็นจีโออย่าเพิ่งตี รมว.สธ.แต่ให้ฟ้องบริษัทยา หรือกระทรวงพาณิชย์ ที่ทำให้ รมว.สธ.เสียหายฐานให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ และฝากรัฐมนตรีพิจารณาคนที่คนจะมาเป็นเลขา สปสช.ให้ดี เพราะสำคัญมากกับการทำงานของรัฐบาล เนื่องจากเกรงว่าจะไว้ใจคนใกล้ชิดที่ให้ข้อมูลจนอาจเกิดปัญหาได้” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

**รมต.เงาชี้ทำให้เสียอำนาจต่อรอง
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์
รัฐมนตรีช่วยเงา กระทรวงสาธารณะสุข กล่าวว่า ซีแอลเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของทุกประเทศในโลกอยู่แล้ว การที่ รมว.สธ.เข้ารับตำแหน่งแล้วประกาศว่าจะมีการทบทวนซีแอลยามะเร็งเป็นเรื่องผู้รับผิดชอบควรมีความรอบคอบในการแก้ปัญหา โดยควรที่จะรอแถลงนโยบายในสัปดาห์หน้าเสียก่อน

ดังนั้น การแสดงท่าทีลักษณะนี้นอกจากจะทำให้เกิดความกังวลใจในหลายฝ่ายแล้ว ทำให้สูญเสียอำนาจเจรจาต่อรองราคาด้วย ทั้งนี้ หากไม่ทำซีแอลก็ควรที่จะมีการเสนอวิธีการอื่นที่ดีกว่าที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยา ซึ่งหากเป็นรัฐมนตรีเงา ก็จะใช้วิธีการรวมกลุ่มประเทศที่ปัญหาในลักษณะเดียวกัน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้บริษัทยาลดราคา

ทั้งนี้ ปัญหาระบบยาเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องปฎิรูปทั้งระบบ เนื่องจากการเข้าถึงยาทุกโรคมีปัญหาเพราะยาราคาแพง โดยที่ไทยไม่สามารถพึ่งตนเองได้ การแก้ปัญหาจึงคิดให้ครบทั้งระบบ เพิ่มความสามารถการผลิตยาในประเทศ ทั้งนี้ ได้เข้าหารือกับผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบสถิติผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มี 1 แสนคน และเสียชีวิตปีละ 6 หมื่นคน ซึ่งยามะเร็งทุกกลุ่มมีราคาสูงมาก นอกจากนี้ยังได้ศึกษาสภาพปัญหาโดยพบกับหัวหน้าหัวหน่วยมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วย เพื่อนมะเร็ง โดยจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและข้อมูลการเจรจาต่อรองราคายาหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเงา เพื่อร่วมกันพิจารณารูปแบบเพื่อเป็นข้อเสนอแนะ และจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เพื่อหารือเพิ่มอำนาจต่อรองการซื้อยาในสัปดาห์นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น