xs
xsm
sm
md
lg

วช. เร่งหนุนวิจัยมาตรฐานอาหารไทย พาครัวไทยให้ทั่วโลกยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.กิตติคุณ ปรีชา ช้างขวัญยืน
วช. ระดมผู้รู้และผู้ประกอบการด้านอาหารร่วมสัมมนา หวังกำหนดทิศทางการวิจัย สร้างมาตรฐานให้อาหารไทยเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ประธานกรรมการสภาวิจัยระบุการปรุงอาหารเป็นงานศิลป์ แต่ใช้วิทย์ช่วยได้เยอะ ทั้งเรื่องวัตถุดิบ คุณภาพ และความปลอดภัย แต่ไทยยังวิจัยเรื่องนี้กันไม่มากเท่าที่ควร

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "มาตรฐานอาหารไทย" ระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค.51 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชัน โดยมีการบรรยายและเสวนาเกี่ยวกับอาหารไทยทั้งในเชิงวัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

ศ.กิตติคุณ ปรีชา ช้างขวัญยืน ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาปรัชญา กล่าวว่า อาหารเป็นวัฒนธรรมของแต่ละชาติที่พัฒนามายาวนานจากวิถีชีวิตการกินอยู่ของคนในสังคม ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายของวัฒนธรรมอาหารที่แตกต่างกันไปในวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาค ทำให้มีความเฉพาะตัวสูง ยากแก่การทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ศ.ปรีชา บอกว่า ต้องการให้ผู้ที่ทำงานด้านอาหารได้รู้จักอาหารในมิติอื่นที่นอกเหนือจากงานที่ตนเองทำอยู่ เพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานวิจัยที่มีอาหารเป็นแกนกลาง และได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะสามารถช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมและเพิ่มมูลค่าของอาหารไทยได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังนับว่ายังมีงานวิจัยทางด้านอาหารไทยค่อนข้างน้อย

"สมมติว่าหากจะพัฒนาเป็นอาหารสำเร็จรูป จะต้องรู้วิธีการทำอย่างไรบ้าง ปรุงอย่างไรให้เก็บรักษาได้นาน เพราะมีเรื่องของระยะทางและเวลาการขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง การปรุงอาหารเป็นเรื่องของศิลปะ แต่คนปรุงอาหารก็ควรรู้ว่าวิทยาศาสตร์สามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น การถนอมอาหาร กระบวนการผลิต คุณค่าทางโภชนาการ" ศ.ปรีชา กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาปรัชญา กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ต่อว่า ปัจจุบันความปลอดภัยของอาหารเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องเร่งพัฒนาทางด้านอนามัยและสาธารณสุขของอาหารด้วย ตั้งแต่กระบวนการผลิตวัตถุดิบ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเหล่านี้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์สามารถเข้าไปดูแลได้ และจะต้องศึกษาความต้องการและมาตรฐานอาหารของแต่ละประเทศที่จะส่งออกด้วย

"หากต้องการทำให้อาหารไทยมีมาตรฐานเดียวกันในการเป็นครัวโลก ต้องมีการวิจัยกันตั้งแต่เครื่องปรุงและวัตถุดิบที่ใช้ ต้องคัดสรรที่เหมาะสมและมีคุณภาพ ยกตัวอย่างเหล้าองุ่น ซึ่งมีหลายประเทศผลิตและจำหน่าย แต่เหล้าองุ่นที่ผลิตในฝรั่งเศสก็ยังได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดในโลก เช่นเดียวกัน เราอาจต้องวิจัยกันตั้งแต่คุณภาพของดินที่ใช้ปลูก พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สถานที่ เป็นต้น เพื่อให้อาหารไทยผลิตจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพที่สุดและได้รับการยอมรับในระดับโลก" ศ.ปรีชา กล่าว

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้จะร่วมกันกำหนดทิศทางการวิจัยมาตรฐานของอาหารไทยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ซึ่ง วช. พร้อมจะให้ทุนสนับสนุนการวิจัยอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น