งาน Thailand Research Expo 2008 เริ่มแล้ว โชว์งานวิจัยจากทั่วประเทศ ทั้ง รถยนต์ไฮโดรเจน, คลังความรู้ชุมชน, นิทรรศการเมืองปาล์ม, นิทรรศการหิ่งห้อย, งานวิจัยผลิตเอทานอลจากข้าวฟ่าง, เวชสำอางจากสารสกัดลำไย
เมื่อวันที่ 12 ก.ย.51 นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดภาคนิทรรศการงาน "การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2551" (Thailand Research Expo 2008) ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีสื่อมวลชนให้ความสนใจร่วมงานมากมาย รวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ในการนี้ นายสหัส ได้แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ศักยภาพงานวิจัยของไทยกับการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้" ซึ่งมีสาระสำคัญว่า การพัฒนาประเทศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาบุคลากรให้เข้มแข็ง พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กันไป
"นักวิจัยไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่นๆ ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างมหาศาล การทำงานวิจัย คือการศึกษาที่มาและที่ไป เมื่อรู้ว่ามีที่มาอย่างไร และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้อย่างไร ก็จะช่วยพัฒนาสิ่งต่างๆ ได้มากมาย แม้งานวิจัยบางเรื่องอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก็เป็นพื้นฐานให้เกิดการต่อยอดได้ในอนาคต ดังนั้นจึงต้องสนับสนุนงานวิจัยในทุกๆ ด้านไปพร้อมกัน" นายสหัส กล่าว
"อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับงานวิจัยน้อยมาก และมีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศจนสำเร็จปริญญา แต่เมื่อกลับมา ก็ไปทำงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียนมา จึงอยากให้เข้ามาทำงานในสายงานด้านการวิจัยและพัฒนากันให้มากขึ้น และฝากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันและพัฒนางานวิจัยกันต่อไปเพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติไทย" นายสหัส กล่าว
ด้าน ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. กล่าวว่า งานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2549 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ นำเสนอโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยขององค์กรต่างๆ และการประชุมสัมมนา
สำหรับงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติในปีนี้ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่จัดขึ้นในรูปแบบของหอแห่งพระภูมิปัญญา เช่น การฉายภาพพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านม่านน้ำด้วยเทคนิคพิเศษ 3 มิติ การจำลองห้องทดลองของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ตลอดจนนิทรรศการบทบาทและผลงานของ วช., นิทรรศการผลงานวิจัยของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอีกกว่า 600 ผลงาน โดยแบ่งการจัดนิทรรศการออกเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการประชุมสัมมนาในประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ อีก 97 หัวเรื่อง เช่น การค้นพบหิ่งห้อยสายพันธุ์ใหม่, การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว และรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของประเทศไทย
"ในปีนี้เน้นการนำเสนอให้เห็นประโยชน์และคุณค่าของภูมิปัญญาไทยที่มีมายาวนาน และสามารถนำมาผนวกเข้ากับงานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกระดับในทุกภูมิภาค และหวังว่าประชาชนที่มาร่วมงาน จะได้รับความรู้จากงานวิจัย ตลอดจนกระบวนการคิดอย่างนักวิจัย เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาให้กับตัวเอง หรือเกิดแนวความคิดที่ช่วยสร้างสรรค์สังคม และนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ไม่ยาก" ศ.ดร.อานนท์ กล่าว
จากที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สังเกตการณ์ในวันแรก ก็พบว่ามีผู้ให้ความสนใจมาร่วมงานมากมาย ทั้งนักวิชาการ นิสิต และนักศึกษา ส่วนผลงานที่น่าสนใจก็มีมากมาย อาทิ คลังความรู้ชุมชน ของ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำเสนอการจัดเก็บองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผลงานวิจัยในรูปแบบมัลติมีเดีย เพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชนต่อไป เช่น ชาผักเชียงดา, ผลงานวิจัยด้านเวชสำอางและสารสกัดจากจากลำไย ของ ม.แม่ฟ้าหลวง, นิทรรศการให้ความรู้เรื่องหิ่งห้อย ตั้งแต่วงจรชีวิตจนถึงประโยชน์ของหิ่งห้อยในธรรมชาติ ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์
งานวิจัยด้านวิศวกรรมไม้ ของ ม.วลัยลักษณ์ เช่น การเลื่อยท่อนซุงด้วยแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าว และการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ระดับชุมชน จากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, นิทรรศการเมืองปาล์ม (Palm City) ของ ม.สงขลานครินทร์ ที่นำเสนอเทคโนโลยีการพัฒนาพลังงานทดแทนจากปาล์มน้ำมัน ผ่าน 4 สถานีวิจัยปาล์มน้ำมัน
โครงการจัดทำแผนพลังงานชุมชนสนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง, การวิจัยและพัฒนาข้าวฟ่างเพื่อการผลิตเอทานอลเชิงพาณิชย์ โดย ม.ขอนแก่น, การพัฒนาปศุสัตว์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ของ ม.เทคโนโลยีสุรนารี, การประเมินภาวะโภชนาการด้วยตัวเอง ของ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช, ตู้ทองคำปลอดภัย วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ และศิลปะไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดย มรภ.สวนสุนันทา เป็นต้น
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการออกร้านแสดงสินค้าของมูลนิธิโครงการหลวง, ร้านภูฟ้า และผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาตามแนวหลักเศรษฐกิจพอเพียงอีกมากมาย
ผู้สนใจสามารถเข้าชมงาน Thailand Research Expo 2008 ได้ที่ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22-23 เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 12-16 ก.ย.51 เวลา 09.00-19.00 น.