xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อพืชพลังงานไม่แย่งพื้นที่พืชอาหาร-รัฐตั้งโจทย์ชีวมวลผิดแต่เริ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวทช.อภิปราย "พืชอาหาร-พืชพลังงาน" ดร.สมัยชี้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารส่งออกไม่มีปัญหาพืชพลังงานจะมาแย่งพืชอาหาร กลไกตลาดจะควบคุมเอง หากพืชอาหารแพงจริง คนค่อนประเทศจะได้ประโยชน์ ผู้เชี่ยวชาญกระทรวงเกษตรฯ เผยปีนี้มันไทยจะล้นตลาด 3.8 แสนตัน เอกชนแนะรัฐต้องจัดโซนนิง มั่นใจไทยมีวัตถุดิบผลิตอี100 พอไม่ต้องง้อน้ำมัน ส่วนนักวิจัย มช.พ้อรัฐตั้งโจทย์พลังงานชีวมวลผิดแต่ต้น ฉุดเอกชนไม่กล้าคืบ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดอภิปราย "รักพี่เสียดายน้อง พืชพลังงานหรือพืชอาหาร" ขึ้นระหว่างการประชุมวิชาการประจำปี 2551 (NAC2008) เมื่อวันที่ 25 มี.ค.51 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

น.อ.ดร.สมัย ใจอินทร์ นักวิจัยด้านพลังงานทดแทน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้พืชบางชนิด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อผลิตพลังงานที่จะเป็นการแย่งส่วนแบ่งพืชอาหารว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารได้เหลือกินจนส่งออกไปยังต่างประเทศได้ และจากการที่ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกที่ดี ดังนั้นหากมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเพิ่มผลผลิตก็จะเติบโตได้อีกมาก

ขณะเดียวกัน น.อ.ดร.สมัย มองว่า กลไกการตลาดจะเป็นตัวกำหนดเองว่าส่วนแบ่งการใช้พืชในด้านพลังงานและด้านการอุปโภคบริโภคจะเป็นอย่างไรให้เกิดความสมดุล โดยหากเทียบเคียงกับราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นทำให้ประเทศสูญเสียเงินมหาศาลแก่ต่างชาติแล้ว สังคมก็ไม่ควรแตกตื่นว่าพืชอาหารจะมีราคาแพงขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับเกษตรกรที่เป็นคนมากกว่า 50% ของประเทศจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย

เพื่อยืนยันในส่วนนี้ ดร.สมเจตน์ ประทุมมินทร์ ผู้เชี่ยวชาญกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก้ข้อเข้าใจผิดซึ่งกล่าวหาว่าการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังจะทำให้ราคามันสำปะหลังสูงขึ้นว่า ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง แต่สาเหตุที่แท้จริงมาจากการส่งออกมันสำปะหลังไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตลอดจนประเทศจีนเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยคาดการณ์กันว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีมันสำปะหลังล้นตลาดถึง 0.38 ล้านตัน หากส่งเสริมการปลูกอีกก็จะทำให้ล้นตลาดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร กรรมการผู้จัดการบริษัท มิตรผลวิจัยพัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด เสริมว่า ประเทศไทยจะต้องมีการใช้พื้นที่ปลูกพืชที่เหมาะสมกว่าปัจจุบันด้วย โดยการกำหนดพื้นที่ปลูกพืชพลังงานให้เหมาะสมกับที่พื้นที่แต่ละแห่ง ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อาจมีส่วนร่วมในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมไม่ให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานตามกระแสทั้งที่ไม่มีความรู้จริง อีกทั้งรัฐต้องให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูกและความรู้ด้านการตลาดแก่เกษตรกร

ทั้งนี้ เขายังมองด้วยว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบมากพอที่จะผลิตเอทานอลอี 100 จากอ้อยราคาลิตรละประมาณ 20 บาทเพื่อใช้กับรถยนต์ทดแทนการนำเข้าน้ำมันเบนซินมูลค่าหลายแสนล้านบาทได้ เนื่องจากมีการผลิตอ้อยในประเทศจำนวนมาก ในจำนวนนั้นกว่า 70% เป็นการส่งออกที่สามารถดึงกลับมาใช้ผลิตพลังงานในประเทศได้ แต่จะเป็นจริงได้หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐเป็นหลัก

ส่วน รศ.ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงษ์ นักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แลกเปลี่ยนมุมมองในแง่ราคาพลังงานบ้างว่า รัฐบาลตั้งโจทย์ด้านราคาผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว โดยกำหนดให้พลังงานชีวมวลอย่างไบโอดีเซลและเอทานอลมีราคาต่ำ ทั้งที่ควรจะมีการส่งเสริมและตั้งราคาให้สูงกว่าน้ำมันฟอสซิล เพราะเป็นของที่ผลิตได้เองในประเทศและช่วยให้เงินหมุนเวียนในชาติ ไม่รั่วไหลไปนอกประเทศ ซึ่งการตั้งราคาพลังงานที่เหมาะสมจะเป็นตัวกระตุ้นให้เอกชนผลิตพลังงานชีวมวลมากขึ้นเอง.



กำลังโหลดความคิดเห็น