xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยที่ "ไซน์ปาร์ก" ไม่โดนใจ รมต.วิทย์ เหตุไปไม่ถึงรากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วุฒิพงศ์” ได้ฤกษ์เยี่ยมศูนย์วิจัยแห่งชาติ เปรย “ไซน์ปาร์ก” ทำงานไม่ถึงรากหญ้า จี้ลงให้ถึงประชาชน ด้าน “เอ็มเทค” แจงมีงานหลายชิ้นทำเพื่อชุมชนโดยตรง ส่วน “ไบโอเทค” ระบุมีงานที่ทำต้องถึงผู้ใช้ แจงนอกจากชุมชนยังมี เอกชนและประชาชนทั่วไปด้วย ทว่า สวทช.เน้นวิจัยเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ถ้าชุมชนต้องการสามารถร่วมงานกับองค์กรในท้องถิ่นต่างๆ

นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยนางฐิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา และคณะที่ปรึกษา เข้าเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 3 มี.ค.51 โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช.และผู้บริหารในสำนักงานกล่าวสรุปผลงานและนำเยี่ยมผลงานของศูนย์วิจัยต่างๆ

ทั้งนี้ รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวรายงานว่าโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของไทยยังอ่อนอยู่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วไทยอยู่อันดับที่ 50 ส่วนอันดับ 1-3 คือสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ตามลำดับ ในส่วนของจำนวนเงินที่ไทยใส่ลงไปเพื่อพัฒนาความรู้นั้นอยู่ที่ 0.28% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วนับสิบเท่า

สำหรับแนวทางผลักดันงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องผลักดันพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมแห่งชาติ (พรบ.กวทน.) เ พื่อให้เกิดกลไกในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม และอีกเรื่องสำคัญที่ต้องทำคือเร่งสร้างอาชีพนักวิจัยทั้งในภาครัฐและเอกชน

“รวมถึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากที่ผ่านมาทำได้เพียงผลักดันเด็กและนักวิทยาศาสตร์ให้เก่งขึ้น แต่ไม่ได้มีหน่วยงานที่ดูแลโดยเฉพาะ จึงต้องให้หน่วยงานอื่นๆ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการดูแล” รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าว

อย่างไรก็ดี นายวุฒิพงศ์และที่ปรึกษาได้ให้ความเห็นว่า การทำงานของ สวทช.นั้นเป็นงานที่สูงส่งแต่ยังห่างไกลจากชาวบ้านหรือกลุ่มชาวรากหญ้าอยู่มาก โดยรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่า แม้ สวทช.จะเป็นหน่วยงานที่ทำงานได้ตรงกับความต้องการของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อทำผลงานออกมาแล้วคนทั่วไปก็ยังไม่รู้ว่าทำอะไรออกมา ซึ่งคงต้องหาทางแก้ปัญหาตรงนี้กันต่อไป

ต่อความเห็นดังกล่าว ทางด้าน ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งเป็นศูนย์แห่งชาติแห่งหนึ่งในสังกัด สวทช. กล่าวว่าทางเอ็มเทคก็มีงานที่เข้าถึงชุมชน ยกตัวอย่างเช่นพลาสติกเพื่อใช้ในการสร้างโรงเรือนการเกษตรซึ่งเข้าถึงประชาชนรากหญ้าโดยตรง หรือการออกแบบรถยนต์เพื่อการเกษตรที่ดัดแปลงจากเครื่องยนต์ที่ชาวบ้านใช้อยู่แล้วแต่ไม่แข็งแรงนัก ซึ่งคาดว่าจะผลิตออกมาจำหน่ายได้ในราคาประมาณ 200,000 บาท

ส่วน ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) อีกศูนย์ของ สวทช.กล่าวว่า ทางไบโอเทคก็มีงานสำหรับชุมชนเช่นเดียวกัน โดยวัตถุประสงค์ของงานก็เพื่อช่วยเหลือชาวรากหญ้าและทำให้นักวิจัยได้เห็นปัญหาและหาทางว่าจะใช้งานวิจัยช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่คือชาวบ้านมีรายได้ต่ำ

ตัวอย่างการทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านของไบโอเทคคือการช่วยเหลือชาวบ้านใน จ.น่านปลูกข้าวสาลี โดยหาทางช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผล และได้หาทางเชื่อมโยงกับภาคเอกชนให้รับซื้อเมล็ดพันธุ์ชาวสาลีจากเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชอื่นๆ อีก เช่น มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน และข้าวทนน้ำท่วม เป็นต้น

"เราร่วมกับชุมชนเยอะโดยเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้งานที่เราทำต้องถึงผู้ใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่ชุมชนอย่างเดียวแต่ยังหมายถึงเอกชนและประชาชนทั่วๆ ไปด้วย ส่วนปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครรับทราบการทำงานของเราเท่าไหร่นั้น เราได้แก้ปัญหาโดยทำเอกสารที่เผยแพร่ด้วยภาษาง่ายๆ ไม่ใช้ศัพท์วิชาการ เพื่อให้เห็นว่าเราทำอะไร อย่างไรก็ดีไบโอเทคไม่ใช่หน่วยงานที่จะส่งเสริมโดยตรง เราต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำผลงานไปถึงประชาชน" ดร.มรกตกล่าว

ส่วน ผอ.สวทช.ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องเดียวกันว่า สวทช.ต้องทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ถ้าชุมชนมีความต้องการให้ช่วยแก้ปัญหา ก็ต้องลงไปดูว่าจะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอะไรเพือ่นำไปแก้ปัญหาได้บ้าง และต้องร่วมงานกับองค์กรในท้องถิ่นต่างๆ เช่น สถาบันราชภัฎหรือสถาบันราชมงคล เป็นต้น.




กำลังโหลดความคิดเห็น